ปัญหาเงินเฟ้อที่ตอนนี้ไม่ใช่เกิดแค่ในสหรัฐฯ แต่กำลังเกิดขึ้นจริงแล้วทั่วโลก ทำให้การประชุมครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในปี 2022 ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้กลายเป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนทั่วโลกเฝ้าจับตา สิ่งที่นักลงทุนคาดหวังจากการประชุมในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการยืนยันวันสุดท้ายของการเพิ่มวงเงินในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่จะจบลงมาในเดือนมีนาคม แต่พวกเขาต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางฯ ตลอดทั้งปี 2022 ด้วย
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าการประชุมในวันพุธนี้ เฟดจะส่งสัญญาณว่ามีความตั้งใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงในปี 2022 และจะดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 15-16 มีนาคม นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารชื่ิอดังโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่าปีนี้อาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยสี่ครั้ง ทั้งๆ ที่ทราบดีว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุกรอบที่มีการประชุม จนกว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจจริงๆ
แคทเธอรีน แมนน์ สมาชิกวงนอกของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ออกมากล่าวเมื่อวันศุกร์ว่าเงินเฟ้อได้สร้างปัญหาให้กับบางภาคส่วนของเศรษฐกิจไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มทรงตัว
“ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดที่เหล่านักวิชาการยังเอาแต่เถียงกันเรื่อง “เงินเฟ้อพื้นฐานเป็นภัยต่อเศรษฐกิจหรือไม่” ทั้งๆ เงินเฟ้อตั้งแต่ปีที่แล้วก็เห็นๆ กันอยู่ในราคาพลังงาน และการเติมน้ำมันรถในชีวิตประจำวันของเราที่ได้น้ำมันลดลง ตามความเห็นของฉัน เป้าหมายของการวางนโยบายการเงินในปีนี้ควรจะเน้นไปที่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระยะยาว”
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (MPC) ครั้งแรกของปี 2022 ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า แคทเธอรีนก็ได้บอกว่าเธอจะเป็นคนหนึ่งที่โหวตให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะยิ่งเน้นให้ BoC รีบดำเนินการเรื่องนี้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โรเบิร์ต เฮลเลอร์ อดีตคณะกรรมการของธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า
“มิลตัน ฟรีดแมน อาจจะอยากฟื้นจากความตายเพื่อมาต่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ได้ละทิ้งเป้าหมายเงินเฟ้อต่ำไปแล้ว และยังอนญาตให้ปริมาณเงินในระบบแบบ M2 สามารถเติบโตขึ้นจาก $15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็น $21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ถึงปี 2021 จนทำให้รัฐบาลสามารถสร้างหนี้ก้อนใหม่เพื่อต่อสู้กับภัยโรคระบาด การซื้อสินทรัพย์ที่อยู่อาศัยในราคาที่ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งปีเกือบ 20% นั้นสมเหตุสมผลตรงไหน?”
บางทีสิ่งที่นักลงทุนต้องการจะเห็นจริงๆ นอกจากความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากสามเป็นเจ็ดเปอร์เซ็นต์ในปีนี้คือแนวทาง และความชัดเจนของการดำเนินงานตลอดทั้งปี ตลาดลงทุนไม่หวังจะได้เห็นการพูดถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ อย่างเช่นในปี 2021 ที่ผ่านมาอีกแล้ว
ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าการเลือกผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินในธนาคารสหรัฐฯ อาจจะมีดราม่าเกิดขึ้น เมื่อบรรณาธิการสำนักข่าว The Wall Street Journal วิจารณ์นางซาราห์ บลูม ราสกิ้น เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อการลงทุนในตลาดพลังงานของเธอ ที่กล่าวว่า “การที่จะทำให้บางอุตสาหกรรมเฉพาะเติบโต ก็อาจจะต้องยอมเสียสละเสถียรภาพทางการเงินของอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง”
The Wall Street Journal วิจารณ์ว่า “การมีแนวคิดเช่นนี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ทั้งๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรจะเป็นหน่วยงานที่มีอิสระ” สำนักข่าวยกตัวอย่างว่า วุฒิสภาอาวุโสของเดโมแครตอย่างโจ แมนชิน จากเวสท์ เวอร์จิเนีย และโจนส์ เทสเตอร์ จากมอนทาน่าอาจจะไม่ชอบวิธีการคิดของเธอ เพราะรัฐของพวกเขาต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลสูง
ไม่ใช่แค่ซาราห์เท่านั้นที่ถูก The Wall Street Journal วิจารณ์ แต่ลิซ่า คุก นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนก็ถูกตำหนิเช่นกัน สำนักข่าวกล่าวว่าไอเดียนโยบายการเงินของเธอดูเหมือนคนที่ไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจการเงินมาก่อน ในช่วงเวลาที่เงินเฟ้อกำลังสะกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การแสดงความเห็นที่ซื่อตรง และรุนแรงอาจไม่ถูกใจสำนักข่าวบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บุคคลเหล่านี้กำลังจะได้มิสิทธิ์เข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา