ถึงแม้ว่าปี 2021 จะเป็นปีที่มนุษยชาติฟื้นตัวขึ้นมาจากการระบาดในปี 2020 แต่ก็ต้องยอมรับว่าปี 2021 ยังคงเป็นปีที่ยากสำหรับพวกเราทุกคน ทุกสิ่งทุกอย่างยังไม่อาจวางใจได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการงาน สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ฯลฯ ตลาดลงทุนเองก็เป็นเช่นนั้น ไม่เว้นแม้แต่ตลาดน้ำมันดิบที่เคยเกือบจะขึ้นไปจนถึงจุดที่รัฐบาลทั่วโลกเกือบจะต้องงัดเอาน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้
เมื่อมองย้อนกลับไป ต้องยอมรับว่าปี 2021 เป็นปีที่ตลาดน้ำมันมีความผันผวนอยู่มาก ในตอนต้นปี ราคาน้ำมันดิบ WTI เคยมีราคาวิ่งอยู่ต่ำกว่า $50 ต่อบาร์เรล จากนั้นในช่วงต้นไตรมาสสี่ ได้วิ่งขึ้นไปจนเดือบแตะ $90 ต่อบาร์เรลได้ ก่อนที่จะวิ่งกลับลงมาอยู่ในช่วง $70 ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับน้ำมันดิบเบรนท์เช่นเดียวกัน ไหนๆ บทความนี้ก็จะเป็นบทความสุดท้ายของฉันในปี 2021 แล้ว เราจะพาไปดูกันว่าตลอดทั้งปี 2021 มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ตลาดน้ำมันผันผวน ซึ่งสามารถสรุปสาเหตุออกมาได้ 6 ข้อด้วยกัน
1. โรคระบาด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนายังคงเป็นประเด็นหลักที่สร้างผลกระทบต่อตลาดพลังงานในปี 2021 หากยังจำกันได้ ธีมการลงทุนในปี 2020 นั้นยังคงเป็นการพูดถึงเรื่องการล็อกดาวน์ตามที่ต่างๆ แต่ในปี 2021 ธีมการลงทุนได้เปลี่ยนไปเป็นความคาดหวังที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่ามนุษยชาติผ่านปีนี้มาได้อย่างลุ่มๆ ดอนๆ
จากโควิดเวอร์ชั่นแรกสู่ร่างล่าสุดที่มีชื่อว่า “โอมิครอน” ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกไม่เท่ากัน ประเทศมหาอำนาจสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าตลาดเกิดใหม่หรือประเทศโลกที่สาม แต่ถึงกระนั้นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ มาตลอดทั้งปียังคงเป็นความกลัวและความตื่นตระหนก
ในช่วงไตรมาสที่ 3 เราเคยมีความหวังกันว่าจะได้ฉลองคริสต์มาสและปีใหม่กันอย่างเต็มที่ แต่มาถึงตอนนี้เรากลับต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในความกังวลอีกครั้งจากการระบาดของโอมิครอน ที่กดให้ราคาน้ำมันร่วงลงตั้งแต่หลังวันขอบคุณพระเจ้า เหตุการณ์นี้คือหลักฐานยืนยันชั้นดีว่าราคาน้ำมันยังคงเปราะบาง เพียงแค่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกในอเมริกา จนทำให้ข่าวการดึงน้ำมันยุทธศาสตร์ออกมาใช้ หายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์อย่างรวดเร็ว
2. เงินเฟ้อ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือเงินเฟ้อ แต่อย่างที่เคยวิเคราะห์ไปในบทความล่าสุดว่าภายใต้คำว่าเงินเฟ้อ ยังมีกลไกสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น จริงอยู่ว่าการระบาดของโอมิครอนทำให้ทุกฝ่ายตื่นตระหนก และทั้งๆ ที่โอมิครอนทำให้หลายๆ พื้นที่ทั่วโลกอย่างเช่นยุโรปหรือเอเชียเริ่มกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมแล้ว แต่ราคาน้ำมันดิบก็ถือว่าปรับตัวลดลงมาอยู่ในจุดที่ยังยอมรับได้
หากพูดถึงเรื่องของตลาดพลังงาน ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิต เงินเฟ้อถือเป็นศัตรูตัวฉกาจที่มายับยั้งการเติบโตของบริษัท เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น นั่นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตาม เป็นอุปสรรคต่อการขยายกิจการ หรือเพิ่มกำลังการผลิตให้กับกลุ่มผู้ผลิต
3. การเดินทาง
การที่โลกของเรามีวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสแล้วทำให้ยอดการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวในปี 2021 เพิ่มมากขึ้น ในช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้ายอดการเดินทางเกือบจะกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนโควิด นานแล้วที่เราไม่ได้เห็นภาพสนามบินที่เต็มไปด้วยผู้คน
ความเป็นจริงนั้นสอดคล้องกับข้อมูลการส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินตลอดทั้งปี 2021 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นมาตลอดจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม ก่อนที่จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างปริมาณการใช้น้ำมันเมื่อเทียบระหว่างปี 2019 และ 2021 ถือว่าแคบที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามยอดการเดินทางไปต่างประเทศนั้นยังถือว่าห่างจากการเดินทางภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการไม่เดินทางไปตามประเทศยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของความต้องการน้ำมันดิบ และอาจจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในปี 2022
4. ราคาน้ำมันตามปั้มทั่วประเทศ
ราคาน้ำมันที่หน้าปั้มในสหรัฐอเมริกาคือปัจจัยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ในเดือนพฤศจิกายน ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยทั่วประเทศเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดเอาไว้ที่ $3.42 ต่อแกลลอน เพิ่มขึ้น 60% จากปีที่แล้ว ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นขนาดนี้เคยส่งผลให้ครั้งหนึ่งโจ ไบเดนต้องเกือบงัดเอาน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ออกมาใช้ และยังเคยเรียกเรียกให้ชาติพันธมิตรช่วยกันนำน้ำมันสำรองออกมา เพื่อกดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลง
จะเรียกว่าโชคดีได้หรือไม่ ที่ข่าวการระบาดของโควิดโอมิครอนเกิดขึ้น พาราคาน้ำมันร่วงลงโดยที่โจ ไบเดนไม่ต้องออกแรงต่อ และข่าวนี้ก็เงียบหายไปเลยจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ราคาน้ำมันทั่วสหรัฐอเมริกายังคงถือว่าอยู่ในระดับสูง และประชาชนน้อยคนนักที่จะรู้สึกพอใจกับปัญหานี้
5. OPEC+
OPEC+ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนข่าวตลาดน้ำมันมาตลอดทั้งปี 2021 เนื่องจาก OPEC+ ต้องค่อยๆ เพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ตลาดเคยมีความกังวลว่ากลุ่ม OPEC+ อาจจะล่มสลายเมื่อเกิดความแตกแยกระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเด็นที่ว่าควรเพิ่มการผลิตทันทีเลยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ยืดการประชุมออกไป ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกลุ่มสมาชิกได้ข้อสรุปว่าจะผลิตน้ำมันภายใต้โควตา 400,000 บาร์เรลต่อวันในทุกๆ เดือน ที่สำคัญ นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น กลุ่ม OPEC+ ก็ได้จัดการประชุมทุกเดือนเพื่ออัปเดตสถานการณ์ และเป็นเหตุผลให้ราคาน้ำมันดิบปีนี้ผันผวนทุกครั้งในทุกๆ เดือนเนื่องจากมีการประชุม
6. การผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของอเมริกา (EIA) ระบุว่าในปี 2020 ปัญหาใหญ่ที่ภาคการผลิตเจอคือผลิตน้ำมันออกมามากเกินความจำเป็น ปริมาณที่ผลิตออกมานั้นเยอะจนเก็บเข้าคลังน้ำมันไม่ทัน มีอยู่ช่วงหนึ่งในปี 2020 ที่กำลังการผลิตน้ำมันในอเมริกาต้องลดลง 8% เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นี่คือหนังคนละม้วนกับปี 2021 เมื่อปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือกำลังการผลิตน้ำมันไม่สามารถเพิ่มขึ้นจนสอดคล้องความต้องการทั่วประเทศ แทนที่เศรษฐกิจอเมริกาจะสามารถกลับไปฟื้นตัวได้อย่างเต็มกำลัง ภาคการผลิตกลับตัดสินใจลดงบประมาณสำหรับการผลิตน้ำมันลง นำเอากำไรพิเศษที่ได้ไปใช้หนี้และคืนกำไรให้กับผู้ถือหุ้น และนั่นทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในช่วงต้นปี 2021 การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เริ่มต้นที่ 11 ล้านบาร์เรล และจนถึงตอนนี้กำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจากวันนั้นเป็น 11.6 ล้านบาร์เรลเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีความต้องการน้ำมันมากขึ้น