สำหรับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในสัปดาห์นี้ ตลาดลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะต้องร่นระยะเวลาการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องบอกใบ้เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในถ้อยแถลงหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ถ้าเป็นไปได้ นักลงทุนก็หวังว่าจะได้เห็นข้อมูลคาดการณ์เศราฐกิจอื่นๆ ในปีหน้าอีกด้วย
สิ่งที่ทำให้ตลาดลงทุนเชื่อว่าผลการประชุมจะต้องออกมาเป็นไปตามที่กล่าวข้างต้นคือข้อมูลตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน ที่เพิ่มขึ้นแตะ 6.8% เป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบสามสิบเก้าปี ตัวเลขดังกล่าวได้มาถึงจุดที่ธนาคารกลางต้องดำเนินมาตรการอะไรบางอย่าง มิเช่นนั้นเงินเฟ้ออาจจะกลายเป็นปัญหาถาวร ไม่ใช่ชั่วคราวอย่างที่ประธานเฟดเคยกล่าวเอาไว้
นิตยสาร The Financial Times ตีข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่านักการเมืองจากพรรคเดโมแครตบางส่วน เริ่มกดดันธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ดำเนินการบางอย่างเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ พวกเขาเป็นกังวลว่าพรรคของตนและประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะกลายเป็นแพะรับบาป และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกับการเลือกตั้งในช่วงกลางเทอม หรือก็คือปีหน้า
เจค ออชินโคลส สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอังกฤษว่า
“เฟดจำเป็นต้องเริ่มร่นระยะเวลาการทำ QE เดี๋ยวนี้ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สักที เชื่อไหมว่าทั้งสองอย่างสามารถทำได้ภายในเดือนมีนาคม”
ตามคำร้องขอของพรรครีพับลิกัน สำนักงานงบประมาณรัฐสภา (ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด) ได้จัดทำฉบับปรับปรุงของผลกระทบจากการขาดดุลของกฎหมายการใช้จ่ายเพื่อสังคมมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของไบเดน ข้อมูลนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าหากยืดระยะเวลาการชำระหนี้ของรัฐบาลขยายออกไป พบว่าการขาดดุลจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปี แทนที่จะเป็นตัวเลขคาดการณ์การขาดดุลที่เพิ่มขึ้น 367 พันล้านดอลลาร์
ความกังวลของนักลงทุนในตอนนี้อยู่ที่การเปลี่ยนนโยบายอย่างฉับพลันของธนาคารกลางสหรัฐฯ พวกเขากังวลว่าธนาคารกลางฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป และจะก่อให้เกิดการเทขายในตลาดหุ้นอย่างฉับพลัน นายเจอรามี สเตน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนี้ว่า
“พวกเขา (เฟด) กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เฟดจำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงๆ แล้ว และถ้าพวกเขาทำอะไรรุนแรง คุณสามารถจินตนาการได้ทันทีเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดบ้าง”
ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ก็จะมีการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้เช่นกัน นางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่าธนาคารกลางจะจบโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามกำหนดการณ์เดิมคือภายในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ถึงกระนั้น คริสตีนก็ไม่ได้พูดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย
ฌัก เดอ ลาโรซีแยร์ อดีตผู้จัดการกองทุนของ IMF และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสได้ออกมาเตือนถึงความจำเป็นว่า ECB ต้องรีบดำเนินการภายในเดือนหน้า เขากล่าวว่าใครก็ตามที่คิดว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องชั่วคราว ตอนนี้ต้องคิดใหม่ได้แล้ว ธนาคารกลางควรเลี่ยงแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าจะรักษาเสถียรภาพทางการเงินเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ฌักยังได้ยกกรณีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ว่ากล้าที่จะเปลี่ยนนโยบายการเงินของตัวเองทันที ที่ผ่านมา ECB ชอบดำเนินนโยบายการเงินตามเฟด ดังนั้นเขาจึงหวังว่าครั้งนี้ ECB ก็จะทำเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน
กลับมาที่สหรัฐอเมริกา แม้ว่าเราจะทราบแล้วว่าเจอโรม พาวเวลล์จะได้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่อ และคู่แข่งของเขานางเลล์ เบร์บาร์ดจะได้เป็นรองประธานธนาคารกลาง แต่โจ ไบเดนยังต้องประกาศแต่งตั้งบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลางอีกสามคน
คนแรกเป็นคนที่มีชื่อถูกพาดพิงกับข่าวเก้าอี้ตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้อยู่บ่อยๆ และครั้งนี้ก็ไม่พลาดที่จะมีข่าวของเธออีกเช่นกัน นาง Saule Omarova ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสำนักงานควบคุมเงินตรา คนที่สองคือ Richard Cordray ประธานสำนักคุ้มครองการเงินผู้บริโภคคนแรก เขาถูกเสนอชื่อให้คำรงตำแหน่งแทนรองประธานธนาคารกลางนาย Randal Quales และคนสุดท้ายคือ Sherrod Brown ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการธนาคาร