ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “โอไมครอน” กลับมาสร้างความกังวลให้กับเหล่าบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอีกครั้ง ถึงแม้ว่าช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา หลายๆ อุตสาหกรรมจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ดี แต่การระบาดระลอกใหม่ ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าศัตรูมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ทำให้แม้แต่หุ้นของแบรนด์ดังๆ อย่างเช่นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์สตาร์บักส์ (NASDAQ:SBUX) ต้องกลับมาเผชิญกับภาวะรองรับแรงกดดันอีกครั้ง
เชื่อหรือไม่ว่าตลอดทั้งปีนี้ หุ้นสตาร์บักส์สามารถปรับตัวขึ้นมาได้เพียง 5% เท่านั้น หลังจากสร้างจุดสูงสุดใหม่ไปในช่วงกลางเดือนกรกฏาคม หุ้นสตาร์บักส์ก็ได้ปรับตัวลดลงมา 13% สร้างขาขึ้นได้แย่กว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 และบริษัทแมคโดนัลด์ (NYSE:MCD) ที่ในช่วงเวลาเดียวกันสามารถปรับตัวขึ้นได้มากกว่า 16%
ในปีที่แล้ว บริษัทสตาร์บักส์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด จนทำให้บริษัทต้องระงับการขายกาแฟผ่านร้านแฟรนไชส์ในหลายๆ สาขาทั่วโลก แต่เมื่อสถานการณ์ในปี 2021 ดีขึ้น หุ้นสตาร์บักส์ก็ค่อยๆ ปรับตัวกลับขึ้นมาเรื่อยๆ จนล่าสุดสามารถมีราคาหุ้นอยู่ที่ $108.66 อีกครั้ง แต่ขาลงนับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ก็เริ่มส่งสัญญาณไม่ปลอดภัยให้กับนักลงทุนอีกครั้ง
สภาวะขาขึ้นชะลอตัวของหุ้นสตาร์บักส์ในตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเสี่ยงที่บริษัทกำลังเผชิญ นอกจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ พวกเขายังต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยอย่างเช่นภาวะเงินเฟ้อ ที่ถึงแม้จะมีการเพิ่มค่าจ้าง แต่พนักงานกลับไม่รู้สึกว่าจะทำให้ชีวิตพวกเขาสบายขึ้นแต่อย่างใด และเมื่อมองไปยังตลาดแรงงาน ก็ยังพบว่ามีปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นอุปสรรคสำคัญ
เควิน จอห์นสัน CEO ของสตาร์บักส์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า
“พวกเรา (สตาร์บักส์) มีแผนที่จะเพิ่มค่าจ้างให้กับบาริสต้าอย่างน้อยสองเท่าในปีหน้า ภายในช่วงหน้าร้อนปี 2022 เพดานค่าจ้างของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น $15 ต่อชั่วโมง คิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อชั่วโมงอยู่ที่ $17 ต่อชั่วโมง นี่คือตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากเดิม $14 สำหรับสตาร์บักส์ นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อผู้บริโภคในปัจจุบันคำนึงถึงความคล่องตัวในการทำงานเป็นสำคัญ ผมเชื่อว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องและคุ้มค่าจะลองเสี่ยง”
ถึงแม้จะฟังเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมมองของนักลงทุน พวกเขาไม่ชอบไอเดียนี้เอาเสียเลย เพราะในรายงานผลประกอบการล่าสุด บริษัทสตาร์บักส์ระบุเองว่าตัวเลขค่าดำเนินการของบริษัทในปีงบประมาณจะยังคงอยู่ที่ 17% ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และยังเป็นการทำให้บริษัทต้องแบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ต่างกันออกไป
จากประเด็นดังกล่าว ที่บริษัทจะมาแบกรับต้นทุนขึ้นค่าแรงให้บาริสต้าในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นความเสี่ยงในสายตาของนักลงทุน นี่ยังไม่รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศตามปกติ
แม้แต่ฝั่งนักวิเคราะห์เองก็เกิดการแบ่งฝั่งออกเป็นสองฝ่าย อ้างอิงข้อมูลจากนักวิเคราะห์ 35 คนของ investing.com 19 คนยังเชื่อมั่นและยกให้หุ้นสตาร์บักส์อยู่ในกลุ่ม “น่าซื้อ” มี 15 คนเลือกให้หุ้นสตาร์บักส์อยู่ในกลุ่ม “กลางๆ” มีเพียง 8% ของนักวิเคราะห์ที่กล้าปรับระดับเป้าหมายราคาหุ้นของสตาร์บักส์ขึ้น
ที่มา: Investing.com
ในความเห็นของผม ผมเชื่อว่าหุ้นสตาร์บักส์ยังสมควรแก่การจับตามองให้ฐานะหุ้นฟาสท์ฟู๊ด ที่เหมาะแก่การนำมาเป็นตัวกระจายความเสี่ยง กลยุทธ์การกดต้นทุนกาแฟให้ต่ำเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนแบ่งทางตลาดถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี และสามารถมอบผลตอบแทนในระยะยาวได้
ประการที่สอง ตอนนี้สตาร์บักส์กำลังลงทุนมหาศาลกับการเปลี่ยนร้านกาแฟของตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์โควิด และยุคหลังจากนั้นมากขึ้น สตาร์บักส์จะลดความเป็นร้านกาแฟสำหรับนั่งสนทนาให้น้อยลง แต่กลายเป็นร้านที่มาซื้อแล้วจากไปมากขึ้น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะยังไม่เห็นชัดในประเทศไทย แต่ที่สหรัฐอเมริกา สตาร์บักส์ได้ปิดสาขาที่ทำยอดขายได้ไม่ดีไปแล้วประมาณ 800 สาขา และสร้างให้เป็นร้านแนวแวะมาซื้อและจากไปมากขึ้น ในระยะยาวสตาร์บักส์มีแผนที่จะสร้างร้านแนวนี้เพิ่มอีก 20,000 แห่ง และในทศวรรษหน้า พวกเขามีแผนที่จะเพิ่มจำนวนร้านขึ้นเป็น 55,000 แห่ง จากจำนวนสาขาปัจจุบันทั้งหมด 33,000 แห่ง
เหตุผลประการสุดท้ายที่ทำให้ผมมีความเชื่อมั่นต่อหุ้นสตาร์บักส์เป็นอย่างมากคือระบบการจัดการที่เน้นการคืนเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา สตาร์บักส์ได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินปันผลของตัวเองขึ้นมาแล้วประมาณ 18% ปัจจุบัน ตัวเลขการปันผลรายไตรมาสของหุ้นสตาร์บักส์อยู่ที่ $0.49 ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การปันผลรายปีอยู่ที่ประมาณ 2%
โดยสรุปแล้ว
หุ้นสตาร์บักส์อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับนักลงทุนขาขึ้นในระยะสั้น เพราะบริษัทต้องเผชิญความเสี่ยงในตอนนี้มากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อและการระบาดระลอกใหม่ แต่เรายังคงเชื่อว่าหุ้นสตาร์บักส์เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนสาย “รอย่อแล้วเข้าซื้อ” เพราะบริษัทนี้มีระบบการจัดการที่ชัดเจน มีเป้าหมายในการหาเงินมาเพิ่มให้กับเหล่าผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ และกล้าที่จะลงทุนเปลี่ยนแปลงหน้าร้านของตัวเองท่ามกลางช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูง