แนวรับ $1,800 ของทองคำที่ว่าเหนียวแน่นหนักหนาถูกทำลายลงอย่างง่ายดายจากแรงเทขายที่ถูกส่งลงมาจาก $1,870 หากเทียบสถานการณ์ตอนนี้เป็นภาพยนตร์ นี่คือการหักมุมจากหน้าเป็นหลังมือเลยทีเดียว
ใครจะไปคิดว่าสัปดาห์ที่แล้วตลาดลงทุนยังมีความหวังอยู่กับการกลับขึ้นไปยืนเหนือ $1,900 อยู่เลย บางคนมองไกลถึง $2,000 แล้วด้วยซ้ำ แต่ทันทีที่มีการประกาศให้เจอโรม พาวเวลล์ดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่อไปอีก 4 ปี จากความฝัน $1,900 ก็กลายเป็นความจริงที่อยู่ต่ำกว่า $1,800 ในปัจจุบัน ขาลงของทองคำที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์คิดเป็นมูลค่าที่หายไป $45 คิดเป็นการปรับตัวลดลง 2.4% มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม
ที่มา: skcharting.com
ข้อมูลที่น่าสนใจคือตลอดระยะเวลา 10 วันที่ผ่านมา (10-19 พฤศจิกายน) ราคาทองคำไม่เคยร่วงลงต่ำกว่า $1,850 เลย มิหนำซ้ำยังสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ $1,879.35 ได้อีกต่างหาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
ถึงแม้ว่าตลาดลงทุนจะคาดหวังให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวอยู่ในกรอบ $1,800 - $1,820 ก่อนที่จะกลับขึ้นไปหา $1,850 แต่ในใจแล้ว เราต่างก็รู้ดีว่าลักษณะที่ราคาทองคำร่วงลงมานั้นมีโอกาสสูงมากที่แนวรับ $1,800 จะเอาไม่อยู่
สาเหตุของการปรับตัวลดลงของทองคำครั้งนี้? หากเป็นคนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา เชื่อว่าคงทราบดีอยู่แล้ว เพราะข่าวใหญ่ที่สุดในวันจันทร์จะเป็นข่าวไหนไปไม่ได้เลยนอกจากการประกาศชื่อของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่ อันที่จริงต้องบอกว่าคนเดิมเพราะนายเจอโรม พาวเวลล์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเฟดต่อไปอีก 4 ปี
การประกาศครั้งนี้ของโจ ไบเดนทำให้ตลาดหุ้นอย่างดัชนีดาวโจนส์ขานรับด้วยการปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะการคงอยู่ของเขาหมายถึงสภาพคล่องที่ถึงแม้จะถูกประกาศลดแล้ว แต่ก็จะดำเนินต่อไปตามที่ตลาดคาดการณ์ทำใจยอมรับเอาไว้ก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน เจอโรม พาวเวลล์ ก็เป็นคนที่มีส่วนทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้ และเงินเฟ้อก็ถือว่าเป็นผลดีต่อขาขึ้นของราคาทองคำ แล้วทำไมทองคำกลับร่วงไม่เป็นท่าเช่นนี้?
นักวิเคราะห์ประเมินว่าสาเหตุที่ทองคำร่วงลงมาอย่างรุนแรงเป็นเพราะการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ การประกาศตั้งเจอโรม พาวเวล์ให้เป็นประธานเฟดต่อไปทำให้ตลาดเชื่อว่าอาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าปกติ (อาจจะเป็นไตรมาสที่ 1 ปี 2022) ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดยังคาดการ์ว่าจะเป็นช่วงไตรมาสสองหรือไม่ก็สามอยู่เลย การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ USD/JPY ทะยานขึ้นแตะ 115 ได้สำเร็จ
ใครก็ตามที่เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายใต้การปกครองของพาวเวลล์มาตลอด 20 เดือนจะพบว่าคงไม่มีใครกล้าผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้มากเท่าเขาอีกแล้ว เจ้าของวลี “เงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว” นั้นไม่ได้ได้มาด้วยโชค และนโยบายการเงินลักษณะนี้อาจจะคงอยู่ไปอีกสี่ปีหรือจนกว่าเขาจะพ้นวาระ ดังนั้นแล้ว ถ้าข่าวการแต่งตั้งพาวเวลล์สามารถทำให้ทองคำลงได้ การเทขายดอลลาร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน
นักวิเคราะห์คิดเห็นเป็นเช่นไรบ้าง?
เจมส์ สเตลีย์ นักวิเคราะห์ทองคำประจำ DailyFX.com ให้ความเห็นว่า
“เราอาจจะกำลังอยู่ในช่วงต้นเทรนด์ของแนวโน้มใหม่ (ขาลง) เมื่อขาลงใช้กลยุทธ์โจมตีอย่างรวดเร็ว ไม่เปิดโอกาสให้แม้แต่การย่อขึ้นไปยัง $1,834 แนวต้าน ณ $1,821 จึงไม่อาจเกิดได้ และถ้าหากจะลงมาเร็วขนาดนี้ แนวรับที่ $1,808 ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้แล้ว ตอนนี้เราจะต้องเปลี่ยนจากการมอง $1,900 ไปเป็น $1,600 ได้แล้วกระมัง”
“เมื่อพูดถึง $1,600” เขากล่าวต่อ “ระหว่างทางที่จะลงไปมีแนวรับระหว่างทางให้พิจารณาอยู่คือ $1,771 ซึ่งเป็นระดับ 23.6% ของเครื่องมือ Fibonacci และถ้าแนวรับที่โซน $1,700 ยังเอาไม่อยู่ ให้พิจารณา $1,680 ที่ระดับ 38.2% ของ Fibonacci รอเอาไว้ได้เลย”
ซูนิล คูมาร์ ดีซิท นักวิเคราะห์จากเว็บไซต์ skcharting.com และยังเป็นนักวิเคราะห์ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ให้กับ Investing.com วิเคราะห์ว่า
“แนวต้านของทองคำดูเหมือนจะยิ่งลดระดับต่ำลงเรื่อยๆ ขาลงเมื่อวันจันทร์ทำให้ทองคำกลับเข้าสู่การจำศีลของขาขึ้นแทบจะทันที ขาลง $46 นั้น ลงทีเดียวทะลุแนวรับ 200 วัน ที่ราคา $1,802 และ EMA 50 วันที่ $1,809 ลงมาเลย ถึงแม้ว่าอินดิเคเตอร์ SRSI ของผมจะอยู่ในโซน oversold แล้ว แต่จากความรุนแรงของขาลงในตอนนี้ ขาขึ้นอาจจะต้องรอไปก่อน”
“สำหรับฝั่งขาขึ้น” เขากล่าวต่อ “ตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจริงๆ การจะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาได้นั้นอย่างน้อยทองคำต้องสามารถทรงตัวเหนือ $1,833 ให้ได้ จึงจะมีโอกาสขึ้นสู่ $1,845 และ $1,860 ต่อไป แต่เพราะตอนนี้ขาลงยังแข็งแกร่งเกินไป เราจึงไม่อยากให้มองว่า $1,830 ขึ้นไปเป็นราคาเป้าหมายได้ การปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า $1,802 ได้ทำให้ราคาสามารถลงมาถึง $1,795 และตอนนี้ก็มีโอกาสที่ทองคำจะลงไปทดสอบแนวรับที่ $1,785 หรือเส้นค่าเฉลี่ย 100 สัปดาห์”