ยิ่งสถานการณ์เงินเฟ้อลุกลามบานปลายมากเท่าไหร่ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับสภาวะทางเศรษฐกิจตอนนี้ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น อย่าว่าแต่ประชาชนคนธรรมดาเลย แม้แต่เหล่าบรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงวางนโยบายทางการเงินในธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนี้ยังมองสถานการณ์ปัจจุบันต่างกัน นายริชาร์ด คลาริด้า รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กำลังจะหมดวาระลงในเดือนมกราคม และเก้าอี้นี้กำลังจะตกไปเป็นของเลล เบร์นาร์ด กล่าวแนะนำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ควรพิจารณาปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ให้เร็วกว่านี้ และควรเริ่มประกาศตั้งแต่การประชุมกลางเดือนหน้านี้เลย
ท่ามกลางสภาวะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคออกมาสูงที่สุดในรอบสามสิบปี คณะกรรมการฯ บางคนก็ยังมีความเห็นว่าเฟดสมควรที่จะรอดูสถานการณ์ไปก่อน โทมัส บาร์กิ้น ประธานธนาคารกลางแห่งรัฐริชมอนด์กล่าวว่าหากเฟดได้เวลาอีกสักสองสามเดือนเพื่อประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อที่แท้จริงก็คงดี หลังจากนั้นค่อยเริ่มการปรับลด QE ก่อนที่จะไปจบลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นางแมรี่ ดาร์ลี ประธานธนาคารกลางสาขาซาน ฟรานซิสโก กล่าวย้ำถึงจุดยืนของเธอเกี่ยวกับความเป็นจริงในการสกัดกั้นเงินเฟ้อว่า “การเริ่มแก้ไขเศรษฐกิจเร็วก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน” เธอไม่เชื่อว่าทั้งหมดเป็นความผิดของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่เป็นเพราะปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนต่างหากที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น พร้อมกันนั้น เธอยังกล่าวด้วยว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะช่วยให้ระดับอุปสงค์ลดลง และอัตราการจ้างงานเติบโตขึ้น
จอห์น วิลเลียม ประธานธนาคารกลางสาขานิวยอร์ก กล่าวปกป้องการตัดสินใจที่ธนาคารกลางเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เขากล่าวว่าการตัดสินใจเช่นนี้ในตอนนี้เหมาะสมดีกับสถานการณ์ที่ระดับอุปสงค์อุปทานมีความไม่สอดคล้องกัน เขาพยายามจะประโลมตลาดด้วยการบอกว่าอย่าไปคาดหวังมากว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะต้องเกิดขึ้นในวันไหน เดือนไหนมากนัก เพราะหากไม่ใช่ขึ้นมา ก็จะผิดหวังเสียเปล่าๆ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะออกมาปกป้องสิ่งที่เฟดทำ นายเจฟฟี่ แลคเกอร์ อดีตประธานธนาคารกลางสาขาริชมอนต์ กล่าวว่าการวางนโยบายการเงินของเฟดครั้งนี้มีความหละหลวม และกำลังเดินทางออกนอกขอบเขตที่ควรจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นเพียงการรอเท่านั้นก็ตาม
“ผมคิดว่าธนาคารกลางฯ กำลังวางนโยบายการเงินที่สำคัญได้ผิดพลาดเป็นอย่างมาก”
วิลเลียม ดัดลีย์ อดีตประธานธนาคารกลางสาขานิวยอร์กกล่าวว่าเฟดจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อได้ช้าเกินไป ดัดลีย์เคยดำรงตำแหน่งประธานเฟดสาขานี้มานานถึงเก้าปี และเป็นสมาชิกถาวรตามตำแหน่งที่มีสิทธิ์โหวตคณะกรรมการนโยบายการเงิน เขาและแลคเกอร์มองเห็นตรงกันว่าเฟดต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น และถ้าทำเช่นนั้นต้องปรับขึ้นมากกว่า 3% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
ประธานเฟดคนอื่นๆ ต่างก็มีความเห็นต่างกันออกไป ชาร์ลี อีแวน ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยควรเกิดขึ้นภายในปีหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่าการจ้างงานดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ราฟาเอล บอสติค ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้ากล่าวว่า FOMC ควรเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2022 เจมส์ บลูราร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่าต้องรีบตัดไฟ (หมายถึงเงินเฟ้อ) ตั้งแต่ต้นลม และเขายังคงย้ำว่า FOMC ต้องมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจมากกว่านี้
และแล้วก็เป็นไปตามที่สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่าโจ ไบเดนจะประกาศชื่อของผู้ที่ได้เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนต่อไปก่อนที่เขาจะลาหยุดในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าไปพักร้อน ต้องขอแสดงความยินดีกับนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดคนดีคนเดิมที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่อไปอีก 4 ปี โจ ไบเดนให้เหตุผลว่าเป็นเพราะพาวเวลล์ทำหน้าที่ในการนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านวิกฤตโควิดมาได้ด้วยดี (แม้แลกกับปัญหาเงินเฟ้อ) ส่วนเลล เบรนาร์ดนั้น โจ ไบเดนเห็นชอบว่าควรดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานธนาคารกลางสหรัฐไปก่อน