ความกังวลของตลาดลงทุนที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะสร้างแรงกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงต่อในสัปดาห์นี้ ส่วนทางด้านทำเนียบขาวและธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่เปิดเผยแผนใดๆ ที่จะมาแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่เติบโตเร็วมากที่สุดในรอบสามสิบปี
ท่ามกลางการเติบโตของเงินเฟ้อ ก็ได้โอกาสเฉิดฉายของสินทรัพย์ที่อยู่ตรงข้ามกับระบบการเงินที่มนุษย์สร้างขึ้น แน่นอนว่าเรากำลังกล่าวถึงทองคำ การที่ทองคำสามารถยืนเหนือ $1,850 ได้อย่างมั่นคงนั้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับฝั่งขาขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจคือคู่รักคู่แค้นอย่างดอลลาร์สหรัฐก็ปรับตัวขึ้นมาด้วยเช่นกัน ทะยานขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 16 เดือน
สำหรับความพยายามแก้ไขสถานการณ์วิกฤตพลังงานในตอนนี้ สมาชิกพรรคเดโมแครตได้เริ่มแนะนำประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่าควรรีบนำเอาน้ำมันจากคลังสำรอง (SPR) ออกมาใช้ก่อน และหยุดการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาซัพพลายน้ำมันในประเทศตัวเองก่อน ชัก ชูเมอร์ ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในสภาสูงได้ออกมากล่าวว่า
“วิกฤตน้ำมันในสหรัฐตอนนี้มาถึงจุดที่ไม่มีอุตสาหกรรมไหนมีน้ำมันสำรองเหลือใช้แล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องรีบจัดการดึงน้ำมันจาก SPR ออกมาคลี่คลายให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างเร็วที่สุด”
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ นักลงทุนจึงเริ่มคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องรีบตัดสินใจปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ นับวัน โจ ไบเดนยิ่งโดนกดดันเกี่ยวกับการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อออกมาสูงที่สุดในรอบสามสิบปี ได้ทำให้ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลลดลง
รายงานตัวเลข CPI แบบปีต่อปีที่ 6.2% นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1990 ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้มีโพลผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนที่ทำเป็นประจำได้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจว่าปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ ดัชนีตัวนี้คิดเป็น 70% ของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา
อันที่จริงตลาดลงทุนคาดว่าทำเนียบขาวจะประกาศดึง SPR ออกมาใช้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่แผนนี้ก็ถูกเบรกไปก่อนเมื่อได้เห็นรายงานภาพรวมตลาดพลังงานระยะสั้นจาก EIA ระบุว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ภายในปีนี้จะไม่มีทางไปไกลเกินกว่า $82 ต่อบาร์เรล และจะปรับตัวลดลง $10 ต่อบาร์เรลภายในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนให้เหตุผลว่า การเสี่ยงเอาคลังน้ำมันสำรองออกมาใช้ ไม่ต่างอะไรกับการเคลื่อนย้ายกองทหาร หากอเมริกาตัดสินใจใช้ SPR จริง นอกจากจะต้องตั้งคำถามว่าจะสามารถกดราคาน้ำมันให้ลงมาได้หรือไม่ ยังต้องตั้งคำถามด้วยว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่าง OPEC จะมีท่าทีอย่างไร พวกเขาอาจจะลดกำลังการผลิตลงจากระดับราคาปัจจุบันเพื่อให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น หากทำเช่นนั้นการใช้ SPR ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย และอย่าลืมว่าถ้าต้องใช้ SPR จริง โจ ไบเดนก็ต้องหาน้ำมันมาเติมคลังสำรองใหม่ แล้วการทำเช่นนั้นจะได้ประโยชน์อะไร?
OPEC คือผู้ที่ทำให้การตัดสินใจใช้ SPR ของไบเดนนั้นยากลำบากมากขึ้น
ภายใต้สถานการณ์ที่อีกเพียง $20 ก็จะได้เห็นสถิติราคาน้ำมันกลับขึ้นสู่เลขสามหลักในรอบเจ็ดปี กลุ่ม OPEC+ ก็ไม่เต็มใจที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นไปมากกว่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่คิดจะช่วยทำให้ราคาน้ำมันลดลง ถึงกับออกรายงานความการณ์ความต้องการน้ำมันในไตรมาสที่ 4 ว่าจะปรับตัวลดลง
ในช่วงที่ตลาดลงทุนฝั่งเอเชียเปิดเมื่อวานนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 0.5% มีระดับราคาอยู่ที่ $79.28 ต่อบาร์เรลในช่วงเวลา 05:30 GMT ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ได้ปรับตัวลดลง 0.5% เช่นกัน มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $82.78 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงเกือบ 4% เมื่อเทียบกับสามสัปดาห์ก่อนหน้า
ราคาทองคำในตอนนี้น่าจะเรียกได้ว่าออกจากภาวะจำศีลแล้ว และขาขึ้นครั้งนี้มีศักยภาพพอที่จะพานักลงทุนขึ้นไปสัมผัส $1,900 ได้ ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนธันวาคม เมื่อวันศุกร์ที่แล้วปรับตัวขึ้นมา $4.60 มีระดับราคาอยู่ที่ $1,868.50 ก่อนหน้านี้ในวันที่ 15 มิถุนายน เคยทำจุดสูงสุดเอาไว้ที่ $1,871.35
ปัจจัยที่นักลงทุนต้องจับตาในสัปดาห์นี้
ทางตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อการรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ปี 2021 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาได้เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ในสัปดาห์นี้การรายงานผลประกอบการจะเป็นคิวของธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก และการคาดการณ์ว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนจะให้ความสำคัญคือการอัปเดตตัวเลขของตลาดแรงงาน ว่าการขาดแคลนแรงงานนั้นสร้างผลกระทบกับผู้ค้าปลีกและยอดขายมากเพียงใด นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ค้าปลีกจะถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงที่สุดในรอบสามสิบปี
อ้างอิงข้อมูลจากโพลผลสำรวจของนักวิเคราะห์ Investing.com พวกเขาให้ความเห็นว่ามีโอกาสที่ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคมจะออกมาอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจาก 0.7% ในเดือนกันยายน แต่ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่สร้างแรงกดดันอยู่ตอนนี้ ให้ทำใจว่าอาจจะได้เห็นตัวเลขออกมาไม่ถึงตัวเลขคาดการณ์ นอกจากค้าปลีก ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้จะมีรายงานตัวเลขผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมในวันนี้ ตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างและราคาที่อยู่อาศัย ที่จะรายงานในวันพรุ่งนี้ และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ที่รายงานเป็นประจำในวันพฤหัสบดี
ที่ยุโรป สถานการณ์โควิดกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตอนนี้ก็เปราะบางอยู่แล้ว ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ายุโรปมีผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยใน 7 วันมากกว่าครึ่ง ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีไวรัสระบาดสูงสุดครั้งแรกในอิตาลี จนประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มยูโรโซนอย่างเนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรีย และสาธารณรัฐเช็ก เริ่มพิจารณามาตรการคุมเข้มทางสังคมใหม่
เนเธอร์แลนด์ได้มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่เป็นสัปดาห์ที่สามแล้ว เยอรมันกลับมาใช้แผนตรวจโควิดฟรีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งพึ่งประกาศยกเลิกไปเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ออสเตรียจะให้คำตอบในวันอาทิตย์นี้ว่าสมควรจะล็อกดาวน์ผู้คนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่
สุดท้าย ประเทศอังกฤษในสัปดาห์นี้จะมีรายงานตัวเลขในตลาดแรงงานออกมาให้จับตามอง หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษผิดคำมั่นกับตลาดลงทุนด้วยการเลื่อนวันประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป เพราะพวกเขาอยากเห็นหลักฐานจากตัวเลขการจ้างงานว่ามีการเติบโตขึ้นจริง