หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาคือการบริโภคจากประชาชนภายในประเทศ ข้อมูลจากสถิติเผยว่าการบริโภคภายในคิดเป็น 69% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งหมด คิดเป็นเงิน $23.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่น่าตกใจคือตัวเลขการเติบโตของการบริโภคภายในในไตรมาสที่ 3 ทำได้เพียง 1.6% เท่านั้น ได้เพียงเสี้ยวเล็กๆ ของ 12% ในไตรมาสที่สอง ข้อมูลนี้คือการส่งสัญญาณเตือนมายังการรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้ที่เป็นคิวของกลุ่มค้าปลีก ที่พึ่งพาการเติบโตของการบริโภคเป็นหลัก
รายงานผลประกอบการของบริษัทผู้ค้าปลีกในสัปดาห์นี้ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา ยิ่งตัวเลขออกมาดี ย่อมหมายความว่าผู้คนมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ยิ่งผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างวอลล์มาร์ท (NYSE:WMT) ทาร์เก็ต (NYSE:TGT) และโฮมดีโป (NYSE:HD) ออกมาได้ถล่มทลายมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีมากเท่านั้น วอลล์มาร์ทและโฮมดีโปจะรายงานผลประกอบการในวันและเวลาเดียวกันคืออังคารที่ 16 พฤศจิกายน ก่อนตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิด ส่วนทาร์เก็ตนั้นจะรายงานในวันถัดไป แต่ในไตรมาสที่สาม ปัญหาสำคัญที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้คือ ภาวะเงินเฟ้อ
หากคิดว่ารายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่รายงานไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนนั้นน่าตกใจแล้ว รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้นน่าตกใจกว่า เพราะความเชื่อมั่นในเดือนพฤศจิกายนได้ร่วงลงมาจาก 71.7 จุดในเดือนตุลาคม ลงมาเป็น 66.8 จุดในเดือนนี้ สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อที่หายไป เมื่อต้องเผชิญกับ CPI แบบปีต่อปี ที่เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% สูงที่สุดในรอบสามสิบปี ส่วนสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขผลสำรวจภาคการผลิตจากเอ็มไพร์ สเตต นิวยอร์ก ที่จะมีรายงานในวันนี้ และดัชนีภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดเฟียในวันพฤหัสบดี
ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะสามารถปิดเป็นบวกได้ในวันศุกร์ แต่ภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ถือว่าติดลบ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 แนสแด็กและดาวโจนส์ต่างจบสถิติขาขึ้นห้าสัปดาห์ติดต่อกันลงเป็นที่เรียบร้อย และรัสเซล 2000จบสถิติขาขึ้นสี่สัปดาห์ติดต่อกัน กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในดัชนีเอสแอนด์พี 500 คือ กลุ่มผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร 1.46% ตามมาด้วยกลุ่มเทคโนโลยี 1.22% และกลุ่มอุตสาหกรรม 0.79%
แต่พิจารณาเป็นภาพรวมรายสัปดาห์ จะพบว่ากลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดคือวัสดุก่อสร้างด้วยขาขึ้น 2.6% กลุ่มที่ปรับตัวลดลงคือสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลดลงมากถึง 3.54% ส่วนเทคฯ นั้นปรับตัวขึ้นได้เพียง 0.14% เท่านั้น สัปดาห์ที่แล้วถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดแท่งเทียนด้วยแท่งสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝั่งขาลง
ในขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 กำลังสร้างแท่งเทียนรูปคนแขวนคอ (Hanging Man) ขึ้นมา ดัชนีดาวโจนส์เองก็กำลังสร้างรูปแบบแท่งเทียนที่มีชื่อว่า “เมฆดำปกคลุม” (Dark Cloud Cover) ขึ้นมาด้วยเช่นกัน
จากรูปจะเห็นว่าถึงแม้สัปดาห์ที่แล้วจะเปิดตลาดได้สูงกว่าเดิม แต่ในจังหวะที่จะปิดสัปดาห์นั้น กลับสร้างจุดปิดที่ต่ำกว่า 50% ของแท่งเทียนขาขึ้นก่อนหน้า นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าฝั่งตลาดหมีกำลังตอบโต้ตลาดกระทิงกลับมา
จุดที่น่าสนใจและสอดคล้องกันอย่างเป็นธรรมชาติคือ เมื่อตลาดหุ้นเริ่มส่งสัญญาณปิดติดลบ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ปรับตัวขึ้น เพราะนักลงทุนเริ่มเทขายพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี ถือเป็นเรื่องหาชมได้ยากเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงพร้อมกับพันธบัตรฯ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดทุนกำลังคิดว่าระบบการเงินปกติเป็นความเสี่ยงมากกว่าที่จะเป็นหลุมหลบภัย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถสรุปอารมณ์ของตลาดลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ว่าคือสภาวะที่นักลงทุนกำลังกังวลว่าเงินเฟ้อจะสร้างผลกระทบกับรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมากเพียงใด และหากเป็นเช่นนั้น จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจวางนโยบายการเงินแบบเซอร์ไพรส์หรือไม่ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2021 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า
เมื่อเงินลงทุนไม่มีที่ไป คนจึงเลือกถือดอลลาร์สหรัฐเอาไว้เป็นสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลก จึงทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐกระโดดขึ้น 0.86% ในสัปดาห์ที่แล้ว สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ในตอนนั้น ดัชนีดอลลาร์สหรัฐกระโดดขึ้นมา 1.06% ด้วยสาเหตุเดียวกันคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างฉับพลันเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
จากรูปจะเห็นว่าขาขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นการบ่งบอกความสำเร็จของขาขึ้นจากการฟอร์มตัวแบบหัวไหล่ด้านหงาย แต่เป็นการยืนยันว่าขาขึ้นจะดำเนินต่อไป เพราะได้ทดสอบเส้น neckiline ของรูปแบบ double-bottom เรียบร้อยแล้ว
ในที่สุดทองคำก็ได้ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์คานความเสี่ยงอย่างที่ควรจะเป็นเสียที เมื่อนักลงทุนได้เห็นตัวเลข 6.2% YoY จากดัชนีราคาผู้บริโภค สัปดาห์ที่แล้วทองคำสามารถปิดบวกได้ 2.81% นับเป็นขาขึ้นที่แรงที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม จุดหมายต่อไปของทองคำยังถือว่าคาดการณ์ได้ยาก หากมองจากกราฟรายสัปดาห์ จะเห็นว่าทองคำสร้างรูปแบบหัวไหล่ด้านหงายเสร็จแล้ว แต่ถ้าดูจากกราฟรายวัน จะเห็นว่าแท่งเทียนล่าสุดคือรูปแบบคนแขวนคอ ซึ่งเป็นรูปแบบของความเป็นไปได้ในฝั่งขาลง ดังนั้น หากสัปดาห์นี้ทองคำมีราคาปิดต่ำกว่า $1,860 ก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเตรียมกลับเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการพักฐานอีกครั้ง
บิทคอยน์ยังคงพยายามรักษาแนวโน้มขาขึ้นเอาไว้ให้ได้ ด้วยการไม่ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า $60,000
จากรูปจะเห็นว่าตลาดลงทุนพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้เป็นสัญญาลักษณ์ว่าขาขึ้นยังมีแรง อย่างเช่นการหลุดกรอบธงลู่ลงขึ้นมา แต่ด้วยความที่ด่านแนวต้าน $67,000 ถือเป็นด่านที่ยากเกินไป ขาขึ้นที่ผ่านมาทั้งสองครั้ง จึงมักที่จะอ่อนแรงในบริเวณนี้เหมือนกันหมด
สุดท้าย ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ กดราคาให้วิ่งอยู่ที่ระดับ $80 ต่อบาร์เรล แต่ถึงกระนั้น มีรายงานว่ากำลังการผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด และจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่กราฟกำลังฟอร์มตัวเป็นแนวโน้มขาขึ้นต่อ
ถึงแม้น้ำมันดิบจะวื่งกลับลงมา แต่ก็พบว่าที่บริเวณแนวรับ ณ จุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนตุลาคมถือว่าแข็งแกร่งพอสมควร หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นจากบริเวณราคาแถวนี้ จะกลายเป็นการสร้างไหล่ขวาของรูปแบบหัวไหล่ด้านหงาย และมีโอกาสขึ้นไปไกลถึง $86 ต่อบาร์เรลหรือ $92 ต่อบาร์เรล
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EST)
วันอาทิตย์
18:50 (ญี่ปุ่น) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่า QoQ จะปรับตัวลดลงจาก 0.5% เป็น -0.2% และ YoY จะปรับตัวลดลงจาก 1.9% เป็น 0.8%
21:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 3.1% เป็น 3.0%
วันจันทร์
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากเอ็มไพร์ สเตต นิวยอร์ก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 19.80 ในครั้งก่อนเป็น 21.60
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานการประชุมของธนาคารกลาง
วันอังคาร
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน: รายงานครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ -51.1K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะคงที่ 0.8%
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.9%
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะคงที่ 4.1%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการอนุญาตก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.586M เป็น 1.630M
08:30 (แคนาดา) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน: ตัวเลขในเดือนกันยายนออกมาที่ 0.3%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: สัปดาห์ที่แล้วออกมาอยู่ที่ 1.001M บาร์เรล
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 267K เป็น 260K
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดเฟีย: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 23.8 เป็น 24.0 จุด
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -0.2% เป็น 0.4%
03:00 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรปนางคริสตีน ลาการ์ด
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะคงที่อยู่ ณ 2.8%