นายแอนดรูว์ ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษออกมาตอบโต้นักลงทุนเล็กน้อยหลังจากถูกกล่าวหาว่าประกาศนโยบายการเงินโดยไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ในการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษรอบล่าสุดที่ได้ข้อสรุปว่าธนาคารกลางอังกฤษจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0.1% แทนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้นักลงทุนคิดว่าแอนดรูว์ไม่ทำตามแนวทางที่ BoE เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม แอนดรูว์ ไบลีย์ได้ออกมากล่าวว่าเขาไม่เคยใช้คำว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ใช้คำว่า “อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าหากจำเป็น”
ในขณะเดียวกัน ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันพุธที่แล้วเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์อย่างไม่ผิดโผ เฟดจะเริ่มลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่า $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐลงตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป โดยวงเงินที่จะทำการลดคือขั้นต่ำ $15,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน พ่วงด้วยออปชันว่าอาจเพิ่มจำนวนเงินมากกว่า $15,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้หากเห็นว่าจำเป็น
การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ พึ่งจะมาตัดสินใจเริ่มลดวงเงิน QE ต้องยอมรับว่าเจอโรม พาวเวลล์เป็นคนที่ใจเย็นมาก และเขาก็ชินกับการใช้กลยุทธ์อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ที่ผ่านมาเจอโรม พาวเวลล์ไม่อยากจะดำเนินการอะไรที่เป็นความเสี่ยงต่อตำแหน่งของเขา แต่เมื่อวันใกล้หมดวาระของเขามาถึง เมื่อวันที่โจ ไบเดนมีโอกาสตัดสินใจจะเลือกเขาหรือเลือกคู่แข่งคนใหม่อย่างเลล์ แบร์นาร์ดขึ้นมาแทนที่ เขาจึงตัดสินใจโชว์ผลงานด้วยการปรับลดวงเงิน QE ตามที่คาดการณ์เอาใจตลาดลงทุน เพราะเขารู้ดีว่าต่อให้เลล์ แบร์นาร์ดไม่ได้ตำแหน่งประธานเฟดคนต่อไป อย่างน้อยเธอก็ยังมีตำแหน่งหนึ่งในผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินสหรัฐฯ ในปีหน้ารออยู่
ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นวอลล์ สตรีทกำลังรอโจ ไบเดนตัดสินใจว่าจะเลือกใครอยู่นั้น ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เลือกที่จะไม่รอทำตามธนาคารกลางสหรัฐฯ และจะตัดสินใจดำเนินตามแนวทางของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นธนาคารกลางนอร์เวย์ที่ยังคงยืนยันว่าจะทำนโยบายการเงินของตัวเองให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นไปอีกในเดือนธันวาคม หลังจากที่ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบสองปีเมื่อเดือนกันยายน ธนาคารกลางนอร์เวย์มองไกลถึงขนาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไตรมาสละ 25 จุดเบสิสไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยกลับไปอยู่ในระดับก่อนโควิดที่ 1.25% ได้ภายในช่วงสิ้นปีหน้า ในกรณีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาแบบไม่มีอุปสรรคขวางกั้นอีกแล้ว
โลกที่หมุนเร็วขึ้นอาจส่งผลให้การตัดสินใจของธนาคารกลางเริ่มที่จะแหวกขนบธรรมเนียมแบบเดิมๆ ออกไป ในอดีต การตัดสินใจของธนาคารกลางมักจะเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพ และต้องรอให้การจ้างงานกลับมาเป็นเหมือนเดิมให้ได้ก่อน ซึ่งหากพิจารณาตอนนี้ ให้วันที่ไม่รู้ว่าสงครามกับโควิดจะจบลงเมื่อไหร่ การรอไปโดยไม่รู้จุดจบเช่นนั้นอาจเป็นความเสี่ยงมากกว่าการลองลงมือทำอะไรสักอย่าง
ต้องยอมรับความจริงว่าภาวะเงินเฟ้อในทุกวันนี้ทั่วโลก ล้วนเป็นผลมาจากการตัดสินใจเมินเฉยต่อผลกระทบของเจอโรม พาวเวลล์ และการคล้อยตามนโยบายของพาวเวลล์ของนางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกล่ง ECB นอกจากจะไม่ยอมรับความจริงแล้ว พาวเวลล์ยังกล่าวว่าที่เงินเฟ้อรุนแรงขนาดนี้เป็นเพราะปัญหาซัพพลายเชนขนาดแคลน ที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น หนึ่งในคำถามที่ประธานเฟดเจอเข้าไปในขณะที่กำลังเปิดโอกาสให้ซักถามหลังถ้อยแถลงคือ
“ขอบเขตความเป็นไปได้ของคุณ (เจอโรม) อยู่ที่ไหน หรือต้องรอให้การจ้างงานกลับมาเต็มอัตรา (คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022) ก่อนที่จะยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยใช่หรือไม่?”
ชาร์ลี ฟาร์เรลล์ ที่ปรึกษาทางด้านการเงินถึงกับใช้คำต่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า “เป็นพวกใช้คำพูดกลับกลอกเพื่อบิดเบือนการรับรู้ ที่ต่างออกไปจากความเป็นจริง” ในกรณีนี้ชาร์ลีหมายถึงเหตุการณ์ที่เฟดจงใจปล่อยให้เงินเฟ้อโตเกินควบคุม ก่อนที่จะมาบอกว่า “เงินเฟ้ออาจอยู่นานกว่าที่คาด” เหมือนกับการจงใจปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุแล้วบอกว่า “ขอโทษที พอดีขับรถเร็วเกินไปหน่อย”
“หากคุณลองไปดูประวัติการคาดการณ์เงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะพบว่าที่ผ่านมาพวกเขาไม่ใช่หมอดูที่แม่น และธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็รู้ตัวเองในเรื่องนี้ดี ความจริงก็คือเงินเฟ้อตอนนี้เกิดจากความไม่รอบคอบที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนน้อยไป จนกลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่ทับซ้อนกันจากการวางนโยบายการเงินและซัพพลายเชนขาดแคลน ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม” - ชาร์ลี ฟาร์เรลล์