ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 21-22 กันยายน ที่ประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ใจความ “อย่างชัดเจน” ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วางแผนที่จะลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยที่ธนาคารกลางจะเริ่มลดวงเงินทีละ $10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน และจะเริ่มลดวงเงินของ MBS เป็นเงินจำนวน $5,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย ในรายงานการประชุมนั้นยังระบุว่ามีคณะกรรมการหลายคนที่ยังเห็นชอบว่าควรคงวงเงินการซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อไป
หากจะให้พูดอย่างเข้าใจง่ายๆ ก็คือว่าการตัดสินใจของ FOMC ในเดือนหน้า จะขึ้นอยู่กับว่าอัตราเงินเฟ้อในตอนนั้นปรับตัวขึ้นรุนแรงต่อเนื่องหรือไม่ หากใช่เฟดอาจจะยินดีที่จะลดวงเงิน QE แต่ถ้าไม่ พวกเขาอาจจะลองยืดระยะเวลาการลดวงเงินออกไปอีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน คณะกรรมการยังคงมีความเชื่อว่าเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขนาดนั้น หากจะเลื่อนระยะเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปเป็นปี 2023 ก็ยังคงเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้ (ในความคิดของพวกเขา)
ตอนนี้ FOMC กำลังชั่งใจอยู่ระหว่างการเลือกกรอบระยะเวลาลด QE ที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะมีคำถามเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่นับวันยิ่งส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาเงินเฟ้อจะคงอยู่ยาวนานกว่าที่ประเมินเอาไว้
รายงานการประชุมในวันนั้นยังคงเน้นถึง “การจ้างงานในระดับสูงสุด” ที่เป็นเป้าหมายหลักของเฟด และเป็นสิ่งที่ประธานธนาคารกลางมักจะเน้นย้ำมาโดยตลอด เฟดยังคงเน้นย้ำเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็ชี้ให้เห็นชัดว่าภาพที่เฟดต้องการไม่มีทางเกินขึ้นได้ในเร็ววัน แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือกว่าเหล่า FOMC จะยอมรับความจริงก็อาจจะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อยืดระยะเวลานานเกิดกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี
นิตยสาร “New York Times” เริ่มตั้งข้อสงสัยกับความสามารถในการตัดสินใจของบรรดาผู้วางนโยบายทางการเงิน พวกเขาบอกว่ามีสัญญาณมากมายที่บ่งบอกถึงภาวะเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อนึ่ง ราคาที่อยู่อาศัยถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ในเดือนกันยายนยังมีตัวเลขออกมาอยู่ที่ 5.4% YoY สูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008
เจมส์ บลูราร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเขาไม่ใช่คนที่ต้องการให้สถานการณ์เงินเฟ้อเป็นอย่างที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เขาแสดงความต้องการให้เฟดดำเนินการลดวงเงิน QE ที่เร็วกว่านี้มาตลอด และอยากให้การลดวงเงินจบลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 เลยด้วยซ้ำ เพื่อจะได้มั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีหน้าได้แน่นอน
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น IMF ก็ได้ออกโรงเตือนปัญหาเงินเฟ้ออาจอยู่กับมนุษย์นานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ พร้อมกันนั้นก็ได้รีบเตือนธนาคารกลางทั้งหลายว่าควรเตรียมพร้อมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แล้ว นายแอนดรูว์ ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ก็ได้ส่งสัญญาณออกมาว่า BoE พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว เพื่อช่วยผ่อนคลายสถานการณ์วิกฤตพลังงานในยุโรปที่เกิดมาจากเงินเฟ้อ
ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นหลักฐานชัดเจนอยู่ว่าเกิดมาจากเงินเฟ้อ แต่เหล่าผู้วางนโยบายการเงินก็ยังเชื่อว่าปัญหานี้จะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แลร์รี่ ซัมเมอร์ อดีต รมต. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเฟดชุดนี้ว่า “ตัดสินใจโดยไม่อิงตามกลไกทางเศรษฐศาสตร์ และกลับให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมืองมากกว่า”
“พวกเขา (เฟด) ทำงานโดยสนใจว่าสังคมจะมองพวกเขาอย่างไรเมื่อเทียบกับปัญหาการเมือง ยิ่งตัดสินใจลดวงเงิน QE ช้าเท่าไหร่ โอกาสที่เฟดจะต้องตัดสินใจอะไรที่กระทันหันและทำให้ตลาดช็อคฉับพลันก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น”
ผู้มีความรู้หลายคนเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเฟดมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดนายเจรามี่ รัตต์ นักเศรษฐศาสตร์ได้เขียนรายงานตั้งประเด็นเกี่ยวกับการทำงานของเฟดเมื่อเดือนที่แล้ว พร้อมกับตั้งสมมุติฐานว่าการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปได้ไกลแค่ไหนของตลาดในปัจจุบันคือสิ่งที่ทำให้ราคาสินค้าทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้น และสาเหตุที่ช่วงนี้เฟดไม่ได้ออกมาพูดอะไรมากนักเป็นเพราะพวกเขาเริ่มตระหนักได้แล้วว่า “ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว”
การตั้งสมมุติฐานของเจรามี่ ไม่ใช่การเขียนขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เอาสนุก แต่การทำงานของนักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ต่างอะไรจากนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมีการตั้งสมมุติฐาน ทดลอง ทดสอบ ก่อนจะได้ข้อสรุปที่นำไปสู่ความรู้ใหม่ หากพวกเขาวิจารณ์ตามอารมณ์ ก็จะเกิดความไม่สมเหตุสมผลในการตั้งสมมุติฐานเหล่านั้นขึ้นมา และงานวิจัยก็จะไม่ถูกยอมรับจากคนในแวดวงเดียวกัน
ขนาดว่าราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดขนาดนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดก็ยังคงยืนยันคำเดิมว่าเขาทำงานตามขั้นตอนที่ควรจะทำ เขายังคงเชื่อว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้อง และเงินเฟ้อในตอนนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น หรือตอนนี้ถึงเวลาที่เจอโรม พาวเวลล์ต้องยอมรับความจริง ว่าการตัดสินใจที่ลด QE ที่ล่าช้าในปีนี้ได้เปลี่ยนจากปัญหาเงินเฟ้อที่ควรจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ให้กลายเป็นเรื่อง “ถาวร” ไปเสียแล้ว