ไฮไลท์ของตลาดลงทุนสหรัฐอเมริกาในสัปดาห์นี้ นอกจากการเปิดตัว iPhone 13 ของบริษัทแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) แล้ว เชื่อว่านักลงทุนตลาดหุ้นและทองคำคงจะเฝ้าจับตาดูการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคมมากที่สุด ส่วนฝั่งน้ำมันดิบ นักลงทุนจะรอดูรายงานภาพรวมตลาดพลังงานประจำเดือนจากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่จะบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับอุปสงค์อุปทานและการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดเดลตา
การรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคมจะเป็นตัวตอกย้ำคำพูดของเฟดที่ว่า “เงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว” หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่นักลงทุนอยากรู้ หากตัวเลขเพิ่มขึ้น เฟดก็จะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเงินเฟ้อมากขึ้น แต่หากลดลง นั่นหลายความหมายการมองเกมของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นแม่นยำกว่านักวิเคราะห์ระดับท๊อปของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท
แต่เชื่อได้เลยว่าสัปดาห์นี้ คนจากฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ จะออกมาให้ข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับตลาดน้อยลง เพราะพวกเขาจะเริ่มเตรียมตัวสำหรับการประชุม FOMC ในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ ดังนั้นคำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสัปดาห์นี้อาจจะไม่ได้รับการตอบจากธนาคารกลางเลยจนกว่าจะถึงวันประชุม
ทองคำยังทรงตัวก่อนการประกาศตัวเลข CPI
นักวิเคราะห์ประเมินว่าตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อประจำเดือนสิงหาคมจะมีตัวเลขลดลงมาเป็น 5.3% เทียบกับตัวเลข 5.4% ของเดือนกรกฎาคม แต่อย่าพึ่งดีใจไปว่านี่คือข่าวดี เพราะตัวเลขทั้งสองยังถือว่าอยู่ใกล้กับจุดสูงสุดของดัชนี CPI ในรอบสิบสามปีล่าสุด
ในช่วงที่ตลาดลงทุนฝั่งเอเชียเปิดทำการ ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา ส่วนดอลลาร์สหรัฐยังทรงตัว ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนธันวาคมบนตลาด NYMEX มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,794 โดยประมาณเมื่อเทียบเวลากับ 12:30 PM สิงคโปร์ (0430 GMT) คิดเป็นการปรับตัวขึ้นมา 0.1%
สัปดาห์ที่แล้ว ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง 2.3% ถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์ของวันที่ 29 กรกฎาคม ขาลงครั้งนี้เป็นไม่กี่ครั้งที่เราได้เห็นราคาทองคำปรับตัวลงทั้งๆ ที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรครั้งล่าสุด (เดือนสิงหาคม) ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบเจ็ดเดือน
ที่จริงแล้ว เมื่อตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาเช่นนั้น นักลงทุนบางส่วนก็ได้ถอดใจเรื่องของการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ไปแล้ว แต่พอได้เห็นตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเป็น 8.3% จึงทำให้ตลาดลงทุนกลับมามีความหวังเรื่องการลด QE อีกรอบ และส่งแรงกดดันนี้ไปถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยอ้างว่าธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ต่างเริ่มทยอยลดวงเงิน QE ของตัวเองลงกันหมดแล้ว
เมื่อเงินเฟ้อโตเร็วกว่าอัตราการเติบโต...ทุกคนจึงชี้ไปที่เฟด
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาอย่างหนักว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ ตั้งแต่การระบาดเกิดขึ้น เฟดก็ได้ทำนโยบายเพื่อมสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์อื่นๆ จากรัฐบาลในวงเงิน $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังผ่อนคลายนโยบายดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.00% - 0.25% ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 และคงไว้เช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
มาตรการดังกล่าวสามารถช่วยให้เศรษฐกิจอเมริกาที่เคยหดตัวลดลง 3.5% ในปี 2020 สามารถพลิกกลับขึ้นมาเป็นขยายตัว 6.5% ในไตรมาสที่สอง เป็นไปตามที่ธนาคารกลางต้องการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเงินเฟ้อขึ้นเร็วกว่าอัตราการเติบโตของประเทศ ดัชนีที่เป็นตัววัดเงินเฟ้อของเฟดต่างพากันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างสังเกตได้ ดัชนีการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานที่รวมราคาอาหารและพลังงานในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 3.6% สูงที่สุดนับคั้งแต่ปี 1991 ในขณะที่ดัชนีการบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2% ส่วนระดับเป้าหมายเงินเฟ้อส่วนตัวของเฟดนั้นอยู่ที่ 2% ต่อปี
พายุนิโคลัสรับช่วงต่อจากไอดา นักลงทุนน้ำมันรอตัวเลขจาก OPEC และ IEA
สัปดาห์นี้นักลงทุนต้องมาลุ้นกับสภาพอากาศกันต่อ เมื่อมีข่าวว่าพายุโซนร้อนนาม “นิโคลัส” กำลังเคลื่อนตัวผ่านอ่าวเม็กซิโก และคาดว่าจะถึงฝั่งของรัฐเท็กซัสภายในช่วงเย็นของวันจันทร์หรือช่วงเช้าของวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่านี่คือพายุลูกถัดมาที่เข้ามารับช่วงต่อจากพายุเฮอริเคนไอดา ที่พึ่งจะถล่มพื้นที่ชายฝั่งอันเป็นแหล่งผลิตพลังงานใหญ่ของลุยเซียนาไป จนถึงทุกวันนี้กำลังการผลิตน้ำมัน 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่มีขนาดเท่ากับการผลิตน้ำมันของประเทศไนจีเรียทั้งประเทศ ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตต่อได้
ผลกระทบจากพายุที่พัดเข้าสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำมันดิบในวันนี้ยังสามารถรักษาทรงของขาขึ้นเอาไว้ได้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ณ ตลาดซื้อขายฝั่งเอเชียเมื่อตอนบ่ายตามเวลาประเทศไทยมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $73.20 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 28 เซนต์ หรือคิดเป็น 0.4% ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $70.02 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นมา 0.4% หรือคิดเป็น 30 เซนต์ สัปดาห์นี้นักลงทุนในตลาดน้ำมันจะรอดูรายงานภาพรวมระดับอุปสงค์อุปทานจากกลุ่ม OPEC ที่จะประกาศในวันนี้เวลา 18:00 น. ตามเวลาประเทศไทย ส่วนรายงานจาก IEA จะประกาศออกมาในวันพรุ่งนี้
เจฟฟี่ ฮาร์ลีย์ นักวิเคราะห์จาก OANDA เชื่อว่าตลาดน้ำมันยังคงผันผวนแม้ว่าจะปรับตัวขึ้นในตลาดซื้อขายฝั่งเอเชียวันนี้
“แม้ว่าจะเป็นการปรับตัวขึ้นของตลาดน้ำมัน แต่หากเราดูในที่ใหญ่ขึ้น ราจะเห็นว่าที่จริงแล้วราคาน้ำมันไม่ได้ขยับไปไหนนอกจากวิ่งวนอยู่ที่ระดับราคา $70 ต่อบาร์เรล การปรับขึ้นในตอนนี้เหมือนเป็นการชดเชยขาลงที่เกิดขึ้นก่อนพายุเฮอริเคนไอดาจะเข้าสู่ลุยเซียนา”