ในสัปดาห์นี้ไม่มีเหตุการณ์ไหนในโลกการเงินจะสำคัญไปมากกว่าการประชุมประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิงอีกแล้ว ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เริ่มปูทางสำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดวงเงิน QE ตามธนาคารกลางอื่นๆ อย่างเช่นแคนาดา สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักวิเคราะห์หลายสำนักจะเห็นตรงกันว่าถึงเวลาของธนาคารกลางสหรัฐฯ บ้างแล้ว แต่สิ่งที่นักลงทุนก็แอบคิดและอดห่วงไม่ได้คือธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยอมลดวงเงินฯ ในการประชุมครั้งนี้จริงหรือ
ยิ่งการปรับตัวลงของดอลลาร์สหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งสวนทางกับขาขึ้นในดัชนี S&P 500 เมื่อคืนนี้ ยิ่งทำให้นักลงทุนตั้งคำถามกับความเป็นไปได้ของผลการประชุมที่แจ็คสัน โฮล มากขึ้น เพราะนอกจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อตลาดลงทุนในสหรัฐฯ นักลงทุนเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวจากตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตและบริการที่เริ่มหดตัวลดลง ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกเช่นออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และยูโรโซน ดังนั้นนักวิเคราะห์บางคนจึงเชื่อว่าเฟดอาจข้ามไปส่งสัญญาณลดวงเงินในการประชุม FOMC ครั้งถัดไปในเดือนกันยายน
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้ ตลาดลงทุนจะเริ่มเห็นข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเดลตามากขึ้น และแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป (ราคาน้ำมันและ{{959198|ไม้แปรรูป}ลงมาเร็วมาก) ที่สำคัญก็คือการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนสิงหาคมจะประกาศก่อนการประชุม FOMC ดังนั้นหากเฟดต้องการพิจารณาการลดวงเงินอย่างรอบคอบจริงๆ การตัดสินใจว่าจะลดวงเงินหรือไม่ในเดือนกันยายนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นตามดีกรีความรุนแรงของการแพร่ระบาด
สกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อคืนนี้คือดอลลาร์แคนาดา เป็นอานิสงส์มาจากการดีดตัวกลับขึ้นมา 6.6% ของราคาน้ำมันดิบ หลังจากที่สร้างขาลงมาตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ขาขึ้นของน้ำมันดิบครั้งนี้อาจจะเป็นสัญญาณว่านักลงทุนน้ำมันยอมรับที่ระดับราคานี้ได้ ตราบใดที่ความเสี่ยงจากการระบาดของเดลตายังไม่ลดลง นี่คือปฏิกริยาตามธรรมชาติของการลงทุนเมื่ออีกฝ่ายเริ่มรู้สึกว่าเทรนด์เดิมที่คุมตลาดอยู่มีกำลังมากไป สกุลเงินดอลลาร์แคนาดาจึงได้ประโยชน์ตามราคาน้ำมันไปด้วย และยังได้แรงสนับสนุนจากธนาคารกลางที่ก่อนหน้านี้ประกาศว่ายังไม่คิดจะลดวงเงิน QE ต่อ ตอนนี้ยอดผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกของแคนาดามีมากกว่า 75% และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของแคนาดากำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
การอ่อนค่าของดอลลาร์ยังทำให้สกุลเงินยูโรและปอนด์ปรับตัวขึ้น แม้ว่าตัวเลขดัชนี PMI ภายในประเทศจะไม่ได้ออกมาสวยหรูมากนัก กิจกรรมในภาคการผลิตและบริการในยูโรโซนชะลอตัว จนทำให้ดัชนี PMI คอมโพสิตมีตัวเลขลดลงจาก 60.2 จุดเป็น 59.5 จุด ทั้งๆ ที่ภาพรวมทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะแย่ลง แต่กราฟทำเพียงย่อตัวลงมาจากจุดสูงสุดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่สหราชอาณาจักร ตัวเลขกิจกรรมในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ภาคบริการกลับชะลอตัว การลดมาตรการคุมเข้มทางสังคมแม้จะช่วยภาคการผลิตได้ แต่สุดท้ายทั้งโลกก็ยังประสบปัญหาเดียวกันคือซัพพลายเชนคอขวด จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ถ้าดัชนี PMI คอมโพสิตของสหราชอาณาจักรจะหดตัวลดลงไปยังจุดต่ำสุดในรอบหกเดือน และถือเป็นการหดตัวจากการรายงานตัวเลขนี้สามครั้งติดต่อกัน
เช่นเดียวกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ดอลลาร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นทั้งๆ ที่มีล็อกดาวน์ได้เพราะดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นางจาร์ซินดา อาเดิร์น นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ประกาศยืดระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไปอย่างน้อยที่สุดคือวันศุกร์นี้ ส่วนที่โอ๊คแลนด์ให้ยืดออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ดีเมื่อเช้านี้นิวซีแลนด์ได้มีการรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกในไตรมาสที่ 2 ซึ่งก็เป็นไปตามคาดว่าตัวเลขที่ออกมาจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตัวเลขค้าปลีกของนิวซีแลนด์เมื่อเช้านี้เพิ่มขึ้น 3.3% มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ 2.4% และตัวเลขครั้งก่อน 2.8% ส่งผลให้กราฟ NZD/USD ปรับตัวขึ้น
ข้ามไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียนายสก๊อตต์ มอริสัน กล่าวกระตุ้นให้ประชนออกมาฉีดวัคซีนมากขึ้นโดยเขาพูดว่า “การล็อกดาวน์จะกลายเป็นเรื่องในอดีตไปได้หากประชาชนช่วยกันฉีดวัคซีนจนมีระดับสูงเกินกว่า 80% ของจำนวนประชากรทั้งหมด” ตอนนี้ออสเตรเลียมีผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองโดลเพียง 24% เท่านั้น