การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ดูจะมีประเด็นให้น่าติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางช่วงเวลาที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ในสหรัฐอเมริกาปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนเริ่มเป็นกังวลว่ารายงานสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาต่อเนื่องก่อนหน้านี้อาจไม่มีน้ำหนักพอที่จะโน้มน้ามธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ลดวงเงินการทำ QE
นายโรเบิร์ต เคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาดัลลัสให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาในปัจจุบันอาจทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองต่อการลด QE ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาคือคนที่สนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ รีบปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาล
“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิด การระบาดของโควิดรอบใหม่ทำให้ผู้คนยังไม่สามารถกลับไปทำงานในเมืองได้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดีผมยังสนับสนุนให้มีการลด QE ในเดือนหน้าอยู่ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจนับจากนี้อาจจะทำให้ผมจำเป็นต้องเปลี่ยนใจ” - ประธานธนาคารกลางสาขาดัลลัสกล่าว
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงการประชุมใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิง ประธานธนาคารกลางแห่งเคนซัส ซิตี้ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ว่าการประชุมใหญ่ที่แจ็คสัน โฮลที่ปกติแล้วทุกคนต้องไปประชุมร่วมกัน จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการประชุมเป็นปีที่สองติดต่อกัน ในการประชุมประจำปีนี้ยังจำเป็นต้องดำเนินการผ่านออนไลน์เหมือนปีที่แล้ว
สัญญาณเตือนเศรษฐกิจชะลอตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงไม่ต้องมีตัวเลขเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าทุกคนคงสามารถสัมผัสได้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวได้เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราแล้ว เราเห็นจุดตรวจเช็คผู้คนที่สนามบินลดลง ยอดจองโต๊ะอาหารในภัตตาคารน้อยลง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้การประชุมที่แจ็คสัน โฮลในช่วงปลายสัปดาห์นี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบที่พึ่งเกิดขึ้นอาจทำให้ประธานเฟดมีข้ออ้างคงนโยบายการเงินเอาไว้ดังเดิม
ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวลล์ยืนยันมาโดยตลอดว่าเพราะเศรษฐกิจอเมริกายังไม่ได้ฟื้นตัวจนถึงระดับที่ธนาคารกลางประเมิน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ตัวเลขทางเศรษฐกิจของอเมริกาแสดงหลักฐานที่ว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งแรงกดดันมาถึงพาวเวลล์ทุกครั้ง แต่เขาก็ยังยืนหยัดว่าจำเป็นต้องคงนโยบายการเงินต่อไป
อันที่จริงนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าการลดวงเงิน QE จะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งถัดไปเดือนกันยายน แต่การระบาดโควิดในอเมริกาตอนนี้ทำให้เฟดมีข้ออ้างคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิม และทำให้ความกดดันจากรายงานการประชุม FOMC ในเดือนกรกฎาคมลดลงอย่างไม่สามารถหาเหตุผลมาโต้เถียงได้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อว่าการประชุมจะยังได้ข้อสรุปออกมาเป็นลด QE
“เรา (นักวิเคราะห์) ยังเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลด QE ตามแผนเดิมคือภายในการประชุมครั้งนี้หรือไม่ก็เดือนกันยายน เพราะเมื่อดูจาก KPI ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้เกี่ยวกับการปรับนโยบายการเงิน ตอนนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าปรับตัวขึ้นจนถึงเป้า KPI เกือบหมดทุกอย่าง เหลือเพียงการจ้างงานเท่านั้นที่ใกล้จะแตะตัวเลขที่เฟดต้องการแล้ว”
ที่น่าสนใจคือการวิเคราะห์ของนักลงทุนนี้ออกมาท่ามกลางความสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของเดลตาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในเดือนกรกฎาคมเอง ในรายงานการประชุมของ FOMC ครั้งล่าสุดของเดือนกรกฎาคมยังระบุไว้ว่า “การระบาดของโควิดเดลตาอาจทำให้การจ้างงาน และการกลับมาเปิดเมืองเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจชะลอตัวออกไป”
หากการระบาดระลอกนี้ในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเท่ากับว่าการตัดสินใจคงนโยบายการเงินที่ผ่านมา และการคาดการณ์ที่เจอโรมมีต่อเศรษฐกิจนั้นถูกต้อง ความดีความชอบนี้อาจจะทำให้เจเน็ต เยลเลน เสนอต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้เจอโรม พาวเวลล์เป็นประธานเฟดต่อไป นักวิเคราะห์คาดว่าโจ ไบเดนจะตัดสินใจเรื่องประธานเฟดก่อนวันวันแรงงาน
ท่ามกลางกระแสสนับสนุนให้มีการลด QE นายเจอโรม พาวเวลล์ก็ยังยึดมั่นกับความคิดของเขาที่ว่าควรจะคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ในการให้โอวาทกับนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เจอโรม พาวเวลล์ได้บอกกับนักศึกษาเหล่านั้นว่า “การระบาดของโควิดได้เปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจไปโดยสิ้นเชิงแล้ว”
“เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าต่อให้การระบาดระลอกนี้จบลง มนุษยชาติจะไม่มีทางกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างในปี 2019 ได้อีกแล้ว เราจะต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปตามปัจจัยการระบาด พยายามทำความเข้าใจ ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และปรับใช้นโยบายให้เข้ากับนโยบายทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
หากต้องการทราบผลกระทบที่โควิดมีต่อเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้นักลงทุนสามารถตรวจสอบได้ผ่านการรายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน รายงานตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคล และดัชนี PMI ภาคการผลิต