และแล้วการฟื้นตัวของวิกฤตโควิดที่ไม่เท่ากันทั่วโลกก็ส่งปัญหากลับมายังสหรัฐอเมริกาจนได้ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตากลับมาเป็นที่สนใจของตลาดลงทุนอีกครั้ง เพราะชาวอเมริกันพึ่งจะได้ฉลองชัยชนะโควิดไปไม่นานไม่ต้องการกลับมาใส่หน้ากากอีก แต่เมื่อยอดผู้ติดเชื้อในหลายๆ รัฐเริ่มพุ่งสูงขึ้น พวกเขาจึงเป็นกังวลว่าจะต้องได้กลับมาใช้ชีวิตภายใต้ข้อบังคับต่างๆ มากมายอีกครั้ง
ตลาดลงทุนก็ได้ตอบรับความกลัวนี้ทันที เมื่อวานนี้เราได้เห็นภาพดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงภายในวันเดียวมากกว่า 700 จุด ไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นเท่านั้น แต่สินทรัพย์ทุกอย่างที่เคยปรับตัวขึ้นเมื่อก่อนหน้านี้ต่างพากันถูกเทขาย แม้ว่าสหรัฐฯ จะกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับเงินเฟ้อ แต่พันธบัตรรัฐบาลก็ยังปรับตัวขึ้นได้เพราะนักลงทุนไม่รู้ว่าควรเอาเงินไปวางไว้ที่ไหนดีจึงจะปลอดภัย แต่สิ่งที่ตามมาก็คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบหลายเดือน
“คุณสามารถทำทุกอย่างได้เลยหากเห็นว่าจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศราฐกิจ” - โจ ไบเดนกล่าว
ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อและการถูกกดดันอย่างหนักจากคนในแวดวงการเงิน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้พูดถึงเจอโรม พาวเวลล์เมื่อวานนี้ว่าเขาได้คุยกับประธานเฟดแล้ว พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าเฟดเป็นองค์กรที่มีอิสระ ดังนั้นเขาสามารถทำได้ทุกอย่างที่เห็นว่าสมควรเพื่อพยุงเศรษฐกิจ
คำพูดนี้หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าโจ ไบเดนเปิดไฟเขียวให้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์แล้ว? หรือบอกใบ้ว่าเฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ทันทีที่ต้องการ? หรือกำลังจะยืมมือธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งการเติบโตโดยไม่ต้องสนใจเงินเฟ้อ?
คำถามก็คือทำไมโจ ไบเดนถึงต้องไปเน้นย้ำกับเจอโรม พาวเวลล์ว่าเฟดเป็นองค์กรอิสระ หรือนี่เป็นการส่งสัญญาณบอกใบ้ว่าเขาจะได้รับเลือกเป็นประธานเฟดต่ออย่างแน่นอน และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องห่วงวาระที่เหลืออยู่?
เมื่อวานนี้ดัชนีหลักของสหรัฐอเมริกาทั้งหมดปรับตัวลดลงจาก 1.5% ลงมา 2.1%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงไปวิ่งต่ำกว่า 1.2% มีราคาเฉลี่ยในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่ที่ 1.18% ทำจุดต่ำสุดในรอบห้าเดือน นอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ในที่อื่นๆ ก็พากันปรับตัวลดลงเช่นกัน ตลาด DAX index ของเยอรมันปรับตัวลงมากกว่า 2.5% ในขณะที่ Stoxx 50 ของยูโรก็ไม่อาจต้านทานกระแสความกังวลโควิดได้
กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนหนึ่งในมาตรวัดเศรษฐกิจของยุโรปก็ปรับตัวลดลงจาก 0.30% เมื่อวันศุกร์ลงมา 10 จุดเบสิส เช่นเดียวกันกับกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลดลงมาเหลือ 0.05%
ประเด็นทางการเมืองที่ดึงเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
สำหรับทวีปยุโรปในตอนนี้ นอกจากข่าวโควิดคงไม่มีข่าวไหนใหญ่และดังไปกว่ามหาอุทกภัยในเยอรมันที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 180 ราย และมีผู้ที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 1,000 คน เหตุการณ์อันน่าเศร้านี้นำไปสู่การเปิดช่องหาแพะรับบาปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามต้องการให้ ฮอสท์ ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าทำไมถึงไม่มีระบบแจ้งเตือน ป้องกัน หรือช่วยอพยพล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของนายอาร์มิน ลัสเชท ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถูกจับภาพได้ว่ากำลังหัวเราะอยู่ด้านหลังในขณะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์กำลังกล่าวถ้อยแถลงไว้อาลัยแก่ผู้ที่จากไปด้วยอุทกภัยครั้งนี้ มหันตภัยในรอบร้อยปีนี้ ทำให้ชาวเยอรมันตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนมากขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้พรรคกรีนได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าเดิมก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งจริงในเดือนกันยายน
กลับไปที่สหรัฐอเมริกา ตอนนี้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองฉบับที่มีมูลค่าหลักล้านล้านเหรียญสหรัฐของโจ ไบเดนกำลังเผชิญความท้าทายจากสภาคองเกรส แม้ว่าเจตนาของแผนทั้งสองฉบับจะดี แต่นำมาซึ่งหนี้ในจำนวนมหาศาล ชัค ชูเมอร์ ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครตหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะผ่าน แต่หากจะเป้นเช่นนั้นจำเป็นจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพลับลิกันอีก 10 เสียงเพื่อให้กลายเป็นเสียงข้างมาก 60 เสียง ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าเขาจะได้เสียงที่ต้องการหรือไม่