ผ่านพ้นไปแล้วกับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งผลการประชุมครั้งนี้นั้นก็ได้ออกมาเป็นไปตามคาดของผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่าย ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจคงดอกเบี้ยและการเงินนโยบายเอาไว้ดังเดิม แต่สิ่งที่ทุกคนพูดถึงกันมากที่สุดกลับไม่ใช่ผลการประชุมครั้งนี้ แต่เป็นรายละเอียดในระหว่างการประชุมที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเฟดไม่ได้นิ่งนอนใจกับอัตราเร่งของเงินเฟ้อ
ความน่าสนใจของการประชุมเฟดในช่วงเช้าวันที่ 17 มิถุนายนตามเวลาประเทศไทยครั้งนี้คือการที่มีคณะกรรมการบางคนเริ่มเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนการเลื่อนเวลาให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น จากเดิมที่เคยประมาณการณ์เอาไว้ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0.00% - 0.25% ไปจนถึงปี 2024 แต่ในครั้งนี้มีคณะกรรมการ 13 จาก 18 คนที่เห็นว่าควรเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยให้มาอยู่ภายในปี 2023 หรือเร็วกว่านั้น มี 7 คนที่โหวตให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 เลยด้วย นี่คือสิ่งที่เราได้ทราบจากมติแผนภูมิภาพแบบจุด (dot-plot) ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้มาโดยตลอด
หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 นายเจมส์ บลูราร์ด ประธานเฟดแห่งเซนต์หลุยส์ เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า
“อันที่จริงแล้วผมอยากให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดเลยคือช่วงปลายปี 2022 เพราะตัวเลขเงินเฟ้อนั้นขึ้นมาเร็วกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ แน่นอนสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำในตอนนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เราใช้เวลาแค่ปีเดียวก็เกือบกลับมาเป็นปกติกันแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าพวกเรานั้นล้วนมีส่วนสำคัญกับการอัดเงินกระตุ้นให้กับเศรษฐกิจมากเกินไป และก็ถึงเวลาที่สมควรแล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มพูดคุยกันเรื่องการดึงเงินที่ใช้กระตุ้นออก”
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีวัดการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในรอบสองเดือนล่าสุดมีผลกับการตัดสินใจของเฟดมาก ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เฟดเคยคาดการณ์ว่า PCE จะมีตัวเลขออกมาอยู่ที่ 1.8% แต่ก็ปรับขึ้นเป็น 2.4% ในเดือนมีนาคมและครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วก็ปรับตัวขึ้นอีก 0.6% นั่นจึงทำให้เฟดประเมินว่าตัวเลขเงินเฟ้อภายในปีนี้อาจขึ้นสูงถึง 3.4% ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP ขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวเลขการเติบโตของ GDP ในตอนนี้มีตัวเลขอยู่ที่ 7.0% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 6.5% และจากเดือนธันวาคม 4.2%
เพราะการเติบโตขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจนสามารถสังเกตได้ภายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจึงทำให้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เห็นว่าเฟดไม่อาจนิ่งเฉยกับเงินเฟ้ออีกต่อไปได้ ที่สำคัญก็คือปัญหาชิปฯ ขาดแคลนสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจอเมริกาในตอนนี้มากกว่าที่คิดเอาไว้ อย่างไรก็ตามเฟดก็ยังไม่อยากยอมรับตรงๆ ว่าพวกเขาได้ประเมินสถานการณ์ผิดไป เฟดยังคงมองว่า “ผลกระทบที่มากเกินกว่าคาดการณ์” นี้ยังคงเป็นเพียง “เรื่องชั่วคราว”
ในการประชุมครั้งนี้เฟดก็ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ค่ากลางของอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง ในปี 2022 เฟดคาดว่าเงินเฟ้อจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.1% ในปี 2023 คาดว่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ 2.2% แต่สำหรับเจมส์ บลูราร์ดแล้ว เขาประเมินตัวเลขของปีหน้าเอาไว้ที่ 2.5% เมื่อการประชุมจบลง เชื่อได้ว่าเราทุกคนก็ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดแล้ว การส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นส่งผลดีกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ก่อให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล
การเทขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลากยาวมาจนถึงวันสุดท้ายของการซื้อขายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงได้ออกโรงเตือนว่าในสัปดาห์นี้อาจจะมีความผันผวนเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะสหรัฐฯ จะมีการประกาศตัวเลข GDP ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้
ประโยคสั้นๆ ทิ้งท้ายก่อนจบการประชุม FOMC ที่น่าสนใจคือมีตัวแทนจากเฟดระบุว่าพวกเขาจะเริ่มลดปริมาณวงเงิน QE ออกก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหมายความว่ายิ่งเฟดร่นระยะเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเร็วมากเท่าไหร่ การดึงสภาพคล่องออกจากระบบก็จะเกิดเร็วยิ่งขึ้น
ผลการประชุมครั้งนี้คงจะเบนความสนใจของตลาดได้สักพัก
กระแสที่เกิดขึ้นในตลาดตอนนี้ อันที่จริงเป็นคำพูดเพียงแค่ครึ่งเดียวของนายเจอโรม พาวเวลล์เท่านั้น สิ่งที่สื่อหลายๆ สำนักไม่ได้ยกคำพูดของเขาไปคือประโยคที่อยู่ในช่วงท้ายของการแถลงว่า
“อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมและคณะกรรมการนโยบายการเงินทุกท่านต้องการที่จะเห็นก่อนตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องดึงเงินมูลค่า $120,000 ล้านเหรียญต่อเดือนออกมา”
เมื่อพูดถึงระยะเวลาที่เฟดไม่ได้พูดออกมาตรงๆ นักวิเคราะห์หลายสำนักจึงพากันคาดการณ์ว่าการประกาศอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในการประชุมที่แจ็กสัน โฮล ไวโอมิ่ง ในเดือนสิงหาคมนี้ หรือไม่ก็เป็นการประชุม FOMC อีกครั้งในเดือนกันยายน นักวิเคราะห์บางคนยังประเมินออกมาด้วยว่าสิ่งแรกที่เฟดจะดึงสภาพคล่องกลับก่อนคือหลักทรัพย์ที่ได้รับกระแสเงินสดจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (MBS) เนื่องจากตอนนี้ราคาที่อยู่อาศัยมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับทรัพยากรอย่างเช่น ไม้แปรรูปที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดฟองสบู่ในราคาที่อยู่อาศัยได้หากเฟดยังลังเลหรือช้าต่อไป
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มที่จะเปลี่ยนทิศทางการวางนโยบายการเงินแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าธนาคารกลางในพื้นที่อื่นๆ ก็จะเริ่มขานรับและจะพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) ด้วย ตอนนี้ธนาคารกลางของนอร์เวย์ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าถึงเวลาที่ต้องแตะเบรกสภาพคล่องกันแล้ว
อย่างก็ตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางนอร์เวย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 0% ดังเดิม แต่ถึงอย่างนั้นนายออยชไตน์ โอลเซน หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินของนอร์เวย์ก็ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.25% จะต้องเกิดขึ้นภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน
นักวิเคราะห์เชื่อว่าคำพูดนี้มีโอกาสเป็นจริงได้ เพราะนอร์เ้วย์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกับ ECB พวกเขามีสกุลเงินเป็นของตัวเอง มีธนาคารกลางของตัวเอง มีอิสระเต็มที่ ที่สำคัญนอร์เวย์เป็นประเทศที่อยู่ติดกับแหล่งน้ำมันจากทะเลทางตอนเหนือ และมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า $1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้นอร์เวย์มีความพร้อมในทุกๆ ด้านมากกว่ากลุ่มประเทศในยูโรโซน