ตลอดทั้งสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบที่เป็นมาตรวัดหลักไม่ว่าจะเป็น WTI หรือว่าเบรนท์ต่างก็สามารถขึ้นแตะ $70 ต่อบาร์เรลได้แล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม WTI ยังไม่สามารถยืนเหนือ $70 ต่อบาร์เรลได้อย่างมั่นคง ในขณะที่เบรนท์สามารถขึ้นถึง $72 ต่อบาร์เรลได้เป็นที่เรียบร้อย สาเหตุของขาขึ้นครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน
อีกหนึ่งปัจจัยที่เหมือนจะมีส่วนแต่ก็ไม่มากนักคือการกลับมาผลิตน้ำมันของประเทศอิหร่านหลังจากสหรัฐอเมริกายกเลิกการคว่ำบาตร เหตุผลที่เราใช้คำว่ามีส่วนแต่ไม่มากเพราะการยกเลิกคว่ำบาตรครั้งนี้ยังคงอยู่ในคำว่า “การเจรจา” มานาน และแทบไม่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย ในตอนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเข้ามารับตำแหน่ง ตลาดลงทุนตั้งความหวังเอาไว้เป็นอย่างมากว่าเขาจะรีบยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรนี้โดยเร็วและกลับเข้าสู่สนธีสัญญานิวเคลียร์ JCPOA
แต่จนถึงตอนนี้ (ครึ่งปีของ 2021) แล้ว การเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศกลับเป็นไปอย่างล่าช้ามาก และยังไม่เห็นทีท่าว่าจะได้ข้อตกลงร่วมกันเมื่อไหร่ คำถามหลักๆ ที่นักลงทุนต้องการทราบมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ข้อ
1. การเจรจาสนธิสัญญานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่?
2. จะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรหรือไม่? ถ้ามี...เมื่อไหร่?
3. ใครจะเป็นลูกค้าที่เข้ามาซื้อน้ำมันจากอิหร่าน?
4. ถ้าอิหร่านได้กลับมาผลิตน้ำมัน พวกเขาจะสามารถผลิตและส่งออกได้มากน้อยแค่ไหน?
5. การเลือกตั้งประธานาธิบดิอิหร่านที่กำลังจะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการบริหารพลังงานน้ำมันอย่างไร?
สถานการณ์การส่งออกและการกักเก็บน้ำมันของอิหร่าน
การที่สหรัฐอเมริกาและอิหร่านยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง JCPOA ร่วมกันได้ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่าน จนทำให้อิหร่านต้องแอบเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันอย่างเงียบๆ ข้อมูลจาก TankerTrackers.com ระบุว่าในเดือนมีนาคมปี 2021 อิหร่านได้ทำการส่งออกน้ำมัน 1.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าตัวเลขในรอบห้าเดือนล่าสุด 600,000 บาร์เรลต่อวัน (bpd)
เมื่อมีข่าวว่ากำลังจะมีการเจรจายกเลิกการคว่ำบาตรเกิดขึ้น อิหร่านก็เริ่มลดปริมาณการส่งออกน้ำมันทันที พวกเขาหวังว่ากำลังจะได้กลับมาส่งออกน้ำมันอย่างเปิดเผยและคิดว่าการเจรจาน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤษภาคม นั่นจึงทำให้ตัวเลขการส่งออกน้ำมันในเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือ 900,000 bpd เท่านั้น ปัญหาก็คือการเจรจาที่ยังไม่รู้ผลทำให้อิหร่านเริ่มมีน้ำมันคงคลังเยอะเกินไปและไม่รู้ว่าจะกระจายของที่มีไปที่ไหน
TankerTrackers.com รายงานอีกว่าตอนนี้อิหร่านกำลังเก็บน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอาไว้ที่ชายฝั่ง และแม้จะมีการสั่งลดกำลังการผลิตจากพื้นที่นอกชายฝั่งแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ความน่าสนใจก็คือท่าเรือที่อิหร่านเลือกใช้เก็บน้ำมันนั้นคือท่าเรืออาซาลูเย่ห์ ซึ่งปกติแล้วท่าเรือนี้จะเป็นท่าที่อิหร่านใช้ขนส่งน้ำมันไปยังประเทศจีน
หากการเจรจายังยืดเยื้อเช่นนี้ต่อไป อิหร่านอาจจะต้องเลือกยอมขายน้ำมันที่มีในราคาที่ถูกลงเพื่อให้มีพื้นที่จัดเก็บน้ำมันมากขึ้น หรือไม่ก็อาจจะต้องหาเรือมาทำเป็นที่จัดเก็บน้ำมันลอยทะเลแทน แต่ไม่ว่าอิหร่านจะต้องเลือกแบบไหน แน่นอนว่าพวกเขาไม่ยินดีและยิ่งจะก่อให้เกิดโอกาสที่จะมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม
ความสามารถในการผลิตน้ำมันของอิหร่านและลูกค้าที่มี?
อ้างอิงคำพูดจากนาย Farokh Alikhani ผู้อำนวยการดูแลบริษัทผู้ผลิตน้ำมันในอิหร่าน เขาระบุว่าถ้าสหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรแล้ว อิหร่านสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้วันละ 3.3 ล้าน bpd ได้ภายในหนึ่งเดือน และจะสามารถผลิตได้ 4 ล้าน bpd ภายในสองเดือนหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสงสัยว่าต่อให้อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันได้ตามที่กล่าวมา แต่ก็คงไม่มีใครที่จะซื้อน้ำมันจำนวนนี้จากอิหร่านในทันที
สำหรับประเด็นนี้นักวิเคราะห์บางคนก็เห็นแย้งว่าคำว่า “ไม่มีใครซื้อน้ำมันจากอิหร่านในทันที” น่าจะมาจากมุมมองของนักวิเคราะห์ฝั่งสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่าอิหร่านมีลูกค้าคนสำคัญอย่างประเทศจีนที่คอยช่วยซื้อน้ำมันจากอิหร่านในช่วงที่ถูกคว่ำบาตรอยู่ตลอด และจีนก็ยินดีที่จะทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่อิหร่านยังยินดีขายน้ำมันให้กับพวกเขาในราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลก ในขณะเดียวกัน ประเทศมหามิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างญี่ปุ่นนั่นระบุว่าต่อให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรแล้ว กว่าพวกเขาจะซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้ก็ต้องรอไปอีกสามเดือนหลังจากการยกเลิกการคว่ำบาตร
นอกจากจีนและญี่ปุ่น ตอนนี้มีโอกาสที่อิหร่านจะได้ลูกค้าใหม่เป็นประเทศอินเดีย มีข่าวออกมาว่าโรงกลั่นน้ำมันสองแห่งของอินเดียยืนยันแล้วว่ากำลังทำแผนเพิ่มสัดส่วนการซื้อน้ำมันจากอิหร่านจริง ครั้งหนึ่งอินเดียเคยเป็นลูกค้าหลักของอิหร่าน แต่ก็ต้องร้างราความสัมพันธ์กับไปเพราะสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรอิหร่าน แต่เพราะล่าสุดอินเดียพึ่งจะมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นกับประเทศซาอุดิอาระเบียในเรื่องของโควตาน้ำมัน จึงทำให้อินเดียกลับมามองอิหร่านอีกครั้ง
เกาหลีใต้เองก็เคยเป็นลูกค้าคนสำคัญของอิหร่านในการซื้อก๊าซธรรมชาติก่อนที่จะโดนคว่ำบาตร เชื่อว่าถ้าอิหร่านได้กลับมาผลิตน้ำมันอีกครั้ง พวกเขาจะไม่ลังเลเลยที่จะแบ่งขายน้ำมันที่มีอยู่ในคลังให้กับเกาหลีใต้อย่างรวดเร็วที่สุด
การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีผลกับการเจรจาคว่ำบาตรหรือไม่?
คำถามนี้สามารถตอบได้สั้นๆ เลยว่า...ไม่ เพราะการเจรจาคว่ำบาตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านเป็นเรื่องระหว่างอเมริกาและผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งตำแหน่งนี้ไม่สามารถแทนที่ด้วยการเลือกตั้งได้ หากจะดูว่าใครที่จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับน้ำมันของอิหร่านมากที่สุด ให้ไปดูที่ความเคลื่อนไหวของนายบิจาน ซังเนห์ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันที่ประกาศว่าอาจจะลงจากตำแหน่งหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือหลังจากการยกเลิกคว่ำบาตร
นายบิจาน ซังเนห์มีความสำคัญต่อการวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับอิหร่าน เพราะเขาคือคนที่สนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่ให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในอิหร่านภายใต้สัญญาที่ทำให้อิหร่านสามารถทำกำไรได้จากบริษัทข้ามชาติ เขาเป็นคนที่กล้าพูดกับรัฐบาลตรงๆ ไม่กลัวอำนาจมืด แต่ก็ทำไปเพื่อให้อิหร่านได้ประโยชน์สูงสุดในโลกยุคที่เทคโนโลยีคือทุกสิ่ง
การเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันสำหรับอิหร่านนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สำหรับบริษัทข้ามชาตินั้น พวกเขาจำเป็นจะต้องรับความเสี่ยงกับนโยบายใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับประเทศเล็กๆ ที่เข้าไปลงทุน พวกเขาอาจจะไม่ยอมเสี่ยง คงอาจจะเหลือแต่จีนกับรัสเซียเท่านั้นที่มีเงินมากพอที่จะยอมรับความเสี่ยงครั้งนี้ได้