รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนเมษายนสร้างความหวังให้กับตลาดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนนโยบายการคลังภายในการประชุมครั้งถัดไป
“ความเห็นของเหล่าบรรดาผู้มีสิทธิ์กำหนดนโยบายการเงินได้ข้อสรุปว่าถ้าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป้าหมายการฟื้นตัวที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยวางเอาไว้อาจมาถึงก่อน อาจจะถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องเริ่มพูดถึงการปรับลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์”
เมื่อตลาดลงทุนได้เห็นท่าทีของเหล่าผู้วางนโยบายการเงิน พวกเขาจึงเริ่มรู้สึกมีความหวังกับท่าทีของเฟดมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า
“ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงินเฝ้ามองดูการเปลี่ยนของตลาดการเงินมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าการความหวังนี้จะมาช้าไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าการดื้อเพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยที่ไม่สนสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างเลย”
ก่อนที่รายงานการประชุมนี้จะออกมา ดัชนีดาวโจนส์ได้ปรับตัวลดลงไปมากกว่า 580 จุด สาเหตุหลักของขาลงในวันนั้นคือความกังวลที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อ จนลามไปสู่การปรับตัวลดลงของสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ อย่างเช่นบิทคอยน์ นอกจากขาลงของดาวโจนส์ภายในวันเดียว 580 จุดแล้ว กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีก็ทะยานขึ้นจนเกือบแตะ 1.7% ได้ภายในวันเดียวกัน
การประชุมของเฟดครั้งถัดไปจะเป็นข่าวดีจริงหรือ
หากลองตีความรายงานการประชุมของ FOMC ในครั้งนี้จะพบว่าอาจจะมีความหมายอื่นที่ซ่อนอยู่ ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะเป็นข่าวดีที่อาจจะมีการปรับลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์หรือปรับดอกเบี้ยนโยบาย แต่หากตีความอีกแง่อาจหมายความว่า “ตราบใดที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่เร่งตัวขึ้นไปจนถึงเป้าต้องการ เฟดอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ เพิ่มเติม” ถึงกระนั้นรายงานการประชุมครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเฟดไม่ได้นิ่งนอนใจกับดัชนีบ่งชี้เงินเฟ้อหลายๆ ตัวที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
แลรี่ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังแสดงความเห็นว่าการขยายตัวของตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนเมษายนนั้นเติบโตขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ เขาวิจารณ์การตัดสินใจของเฟดเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยลงมาเพื่อรับมือกับโควิดว่าเป็นการกระทำที่ประมาทเกินไป ก่อนหน้านี้เขาก็เคยวิจารณ์การออกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของโจ ไบเดนไปแล้วว่าเป็น “การกระทำที่ไม่แคร์ผลที่ตามมามากที่สุดในรอบ 40 ปี” แม้ว่าคำพูดของเขาก็ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดเสมอไป แต่ก็ทำให้ตลาดสามารถฉุกคิดได้
ราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางแอดแลนต้า ตอบโต้คำวิจารณ์ของแลรี่ ทางอ้อมว่า
“พวกเรา (เฟด) เข้าใจดีถึงความกังวลที่ตลาดลงทุนมีต่อการตัดสินใจของเรา เราทราบดีว่าตอนนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯเปราะบาง แต่เราก็พยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อรองรับความเป็นไปได้ในเชิงลบทุกรูปแบบ”
โรเบิร์ต เคปแลน ประธานธนาคารรัฐดัลลัสแสดงความเห็นค่อนข้างเปิดเผยว่าต้องการให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรได้แล้วก่อนที่จะสายเกินไป โรเบิร์ตเปรียบเทียบการลดวงเงินเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจกับการขับรถยนต์ว่า
“การผ่อนคันเร่งก่อนถึงไฟแดงเปิดโอกาสให้เราทำอะไรเพื่ออนาคตได้ดีกว่าการตัดสินใจเหยียบเบรก”
แพททริก ฮาร์กเกอร์ สนับสนุนความคิดของโรเบิร์ต เขากล่าวว่าการตัดสินใจลดวงเงินครั้งแรกอาจจะยาก แต่ในการลดวงเงินครั้งต่อไปจะง่ายขึ้นและไม่ต้องรับแรงกดดันเหมือนตอนนี้
การประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 15-16 กรกฎาคม และจะมีการประชุมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จากนั้นก็จะเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่แจ็กสัน โฮลในเดือนสิงหาคม นักลงทุนบางส่วนเริ่มเชื่อว่าเจอโรม พาวเวลล์ อาจตั้งใจชะลอการปรับลดวงเงินไปจนกว่าจะถึงการประชุมที่แจ็กสัน โฮลเลยก็เป็นได้
หากว่าเฟดเลือกที่จะรอไปจนถึงเดือนสิงหาคมจริง นักลงทุนคาดว่ากว่าเฟดจะเริ่มปรับลดวงเงิน QE อาจต้องรอไปจนถึงช่วงต้นปี 2022 แต่ก็อย่างที่นักกวีในตำนานชาวสก๊อตแลนด์ โรเบิร์ต เบิร์น เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“ต่อให้มนุษย์จะมีความคิดวางแผนที่ฉลาดล้ำเลิศเพียงใด แต่อะไรๆ ก็มักจะไม่เป็นไปตามแผนอยู่เสมอ”