ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นวันที่สองติดต่อกัน ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงมามากกว่า 1% ในขณะที่แนสแด็กปรับตัวลดลง 2% นี่คือขาลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่สำหรับตลาดสกุลเงินนั้นแม้ในช่วงเปิดตลาดจะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จะปิดทำการซื้อขายพบว่าคู่สกุลเงินสำคัญสามารถวกกลับขึ้นมาปิดบวกได้ ยกตัวอย่างเช่นกราฟ USD/JPY, ที่เคยลงไปสร้างจุดต่ำสุดที่ 108.34 ก่อนจะปรับตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ 108.60 และกราฟ EUR/USD วิ่งลงไปยัง 1.2123 ก่อนที่จะกลับขึ้นมายัง 1.2150
ความกังวลที่ตลาดลงทุนมีต่ออัตราเงินเฟ้อคือเหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจก็จะเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว สังเกตได้จากตัวเลขความเชื่อมั่นทางธุรกิจของ ZEW ในเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวขึ้นจากครั้งก่อน 66.3 จุดเป็น 84.0 จุด
ส่วนฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานฯ จะออกมาน่าผิดหวัง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตัวเลขวัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจออกมาดีเช่นเดียวกับตำแหน่งงานเปิดใหม่ที่ต้องการคนมากกว่า 8.12 ล้านตำแหน่ง เป็นไปได้มากกว่าตัวเลขยอดค้าปลีกที่จะรายงานในวันศุกร์นี้จะเพิ่มขึ้น เหล่าผู้วางนโยบายทางการเงินเริ่มปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจขึ้น แพททริก ฮาร์กเกอร์ ประธานเฟดฟิลาเดเฟียมองว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะสามารถขยายตัวขึ้นได้ 7% จากเดิมที่เคยคาดการณ์เอาไว้ที่ 5-6% เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนเชื่อว่าพวกเขาจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแม้ว่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินใดๆ ก็ตาม
ถึงเมื่อคืนนี้ตลาดสกุลเงินดูจะไม่สนใจการเทขายในตลาดหุ้น แต่คู่สกุลเงินหลักๆ ก็มีความเสี่ยงที่ขาขึ้นจะชะลอตัวเนื่องจากนักลงทุนต้องการปิดคำสั่งซื้อขายเพื่อทำกำไร ดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ยกเว้นเพียงแต่สวิตฟรังก์ วันนี้ตลาดลงทุนจะให้ความสำคัญกับการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เพราะเป็นตัวบ่งบอกถึงอัตราเงินเฟ้อ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าตัวเลข CPI แบบเดือนต่อเดือนอาจเติบโตช้า แต่ถ้าดูตัวเลขแบบปีต่อปีแล้วอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าเฟดจะออกมาเรียกความเชื่อมั่นว่าไม่ต้องไปกลัวอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมามากนัก แต่ถ้าวันนี้ตัวเลข CPI ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับตลาดหุ้นที่พึ่งถูกเทขายลงมาเพราะความกังวลเงินเฟ้อ ยิ่งมีโอกาสทำให้ตลาดหุ้นถูกเทขายต่อเนื่องเมื่อตลาดกลับมาเปิดให้มีการซื้อขายตามปกติ
สกุลเงินที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อวานนี้คือสกุลเงินปอนด์ กราฟ GBP/USD ทำราคาปิดใกล้กับจุดสูงสุดในรอบ 1.5 ปี แต่วันนี้ GBP/USD มีโอกาสผันผวนสูงเนื่องจากจะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอย่างเช่นการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่หนึ่ง ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและรายงานตัวเลขดุลบัญชีการค้า อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าตัวเลขเหล่านี้จะออกมาดีเพราะได้อานิสงส์จากประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีนไปทั่วทั้งสหราชอาณาจักรและการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางสังคม ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์แคนาดายังคงปรับตัวสูงขึ้นโดยที่ดอลลาร์แคนาดามีปัจจัยหนุนหลักมาจากราคาน้ำมัน
นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางจะส่งผลต่อสกุลเงินอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์หน้า ธนาคารกลางใดที่ดูกระตือรือร้นจะปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะแข็งค่าขึ้น ประเทศไหนที่ยังไม่ทำก็จะทำให้สกุลเงินนั้นๆ อ่อนค่า เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้จากการดูพฤติกรรมกราฟอย่างเช่น EUR/GBP ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ EUR/AUD และ EUR/CAD ปรับตัวสูงขึ้น