ในสัปดาห์ที่จะมีการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สิ่งที่นักลงทุนอยากทราบมากที่สุดคือ “ประธานเฟดจะพูดอะไรที่ช่วยให้ผลตอบแทนพันธบัตรฯ ปรับตัวลดลงได้บ้างไหม? หรือถ้าไม่เขาจะบอกใบ้สักนิดถึงสิ่งที่เฟดจะทำในอนาคตต่อจากนี้หรือไม่”
ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะจัดการประชุมประจำเดือนมีนาคมในวันนี้และวันพรุ่งนี้ซึ่งโดยปกติแล้วประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ จะเป็นผู้แถลงผลการประชุมของธนาคารกลาง ในแง่ของดอกเบี้ยนโยบาย นักลงทุนไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่เพราะเชื่อว่าเฟดคงจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมที่ 0%-0.25%
แต่สิ่งนักลงทุนเฝ้ารอและตั้งความหวังเอาไว้มากคือประธานเฟดจะมีท่าทีอย่างไรกับสถานการณ์ตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่ถูกเทขายอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีทะยานจึ้นสร้างจุดสูงสุดที่ 1.6% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
หากคำพูดพาวเวลล์สกัดความร้อนแรงของผลตอบแทนฯ นั่นคือข่าวดีของทองคำ
ขาขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับทองคำเพราะขาขึ้นดังกล่าวทำให้ทองคำปรับตัวลดลง 9% นับตั้งแต่ต้นปี 2021 เรื่อยมา หากเจอโรม พาวเวลล์พูดว่าทางธนาคารกลางยังมีความจำเป็นต้องซื้อบอนด์เพิ่มภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า นั่นจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรฯ ชะลอความร้อนแรงลงและทำให้ทองคำสร้างแนวโน้มขาขึ้นระยะสั้นได้อย่างเป็นทางการ
นักวิเคราะห์ตลาดลงทุนอาวุโสแห่ง OANDA นายเจฟฟี่ ฮัลลีย์เขียนในโน๊ตของเขาถึงลูกค้าเมื่อวันจันทร์ว่า
“ขาขึ้นของทองคำและหุ้นกลุ่มวัฎจักรในช่วงนี้อาจเป็นตัวบอกใบ้ว่าตลาดลงทุนเริ่มจะคุ้นชินกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว หากจะมองนี่คือการปรับต้นทุนของการลงทุนในตลาดก็อาจจะสามารถพูดแบบนี้ได้”
อีกหนึ่งเหตุผลที่นักลงทุนให้ความสนใจกับการประชุมเฟดและเหล่าคณะผู้วางนโยบายครั้งนี้เพราะพวกเขากลัวว่าเฟดจะไม่สามารถควบคุมขาขึ้่นของผลตอบแทนพันธบัตรฯ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเร็วเช่นนี้ได้ซึ่งเฟดเคยกล่าวไว้ว่าจะปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้นถึง 2% ได้ภายในช่วงปลายปี 2022 นั่นคือสาเหตุว่าทำไมธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึงคิดที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้จนถึงสิ้นปี 2023
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปกติแล้วควรจะต้องอ่อนค่าลงเพราะกลัวปัญหาเงินเฟ้อกลับแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เหตุผลที่พอจะอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้คือนักลงทุนเลือกที่จะถือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเอาไว้เป็นสกุลเงินสำรองปลอดภัย ดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่ใช้วัดมูลค่าของสกุลเงินขยับขึ้นใกล้จะแตะระดับ 92 จุด นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทองคำยังไม่ปรับขึ้นอย่างเต็มตัว
สถานการณ์เมื่อวันศุกร์ที่แล้วแสดงให้เห็นความเชื่อมั่นที่ยังไม่กลับมาสู่ตลาดทองคำ มีช่วงหนึ่งที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงไปมากกว่า $20 ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวกลับขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดในรอบ 13 ปีเช่นเดียวกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นทองคำสามารถปรับตัวกลับขึ้นมาได้ ปิดสัปดาห์เป็นบวกได้สำเร็จในรอบสี่สัปดาห์ล่าสุด หมายความว่าแนวรับที่ $1,700 ถือเป็นแนวรับสำคัญมากพอที่ไม่อาจยอมให้ผ่านลงไปได้โดยง่าย
ทองคำอาจเริ่มทำตัวให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” อีกครั้ง
นักวิเคราะห์บางคน (รวมถึงฮัลลีย์) เริ่มมองแล้วว่าทองคำกำลังจะได้ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์สำรองปลอดภัยอย่างที่เคยทำมาหลังจากที่สถานการณ์ความกังวลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เข้าสู่ยุคใหม่ เจฟฟี่วิเคราะห์ว่า
“สำหรับวิกฤตครั้งนี้เหมือนทองคำจะรู้ตัวช้าไปหน่อยว่าตัวเองควรทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เมื่อพิจารณาจากอินดิเคเตอร์ RSI ของทองคำในตอนนี้จะเห็นว่าตัวอินดิเคเตอร์ยังวิ่งอยู่ในระดับกลางๆ มีพื้นที่ให้ปรับตัวขึ้นได้มากอยู่ ถ้าสัปดาห์นี้ผลตอบแทนฯ ยังปรับตัวขึ้นต่อ ราคาทองคำอาจปรับตัวกลับลงมาอีกแต่จะไม่ลงไปต่ำกว่า $1,700 แต่ถ้าปรับตัวขึ้นต่อได้จะยิ่งได้รับความสนใจจากตลาดลงทุนมากขึ้น”
อนึ่ง ในช่วงบ่ายของตลาดซื้อขายทองคำเมื่อวานนี้ราคาทองคำทั้งสปอตและล่วงหน้าต่างก็สามารถขึ้นยืนเหนือ $1,730 ต่อออนซ์ได้ก่อนที่จะเริ่มทรงตัวในเวลาประมาณ 2:00 AM ET (0700 GMT)
น้ำมันดิบกับการวิ่งทรงตัวอยู่ในกรอบ
จากการวิ่งแบบทรงตัวล่าสุดของน้ำมันดิบทั้งสองตลาดทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ WTI จะวิ่งอยู่ในกรอบราคาประมาณ $65 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะทรงตัวอยู่ต่ำกว่า $70 ต่อบาร์เรล นี่คือขาลงครั้งแรกของทั้งสองตลาด ขาขึ้นของ WTI อ่อนแรงลงเป็นครั้งแรกที่มีการซื้อขาย (นับเฉพาะวันศุกร์) ในรอบสามสัปดาห์ ส่วนเบรนท์ย่อตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม
ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะย่อหรือจะมีการผลิตที่เร็วกว่าการกลั่นที่ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตลมวนขั้วโลกในรัฐเท็กซัส ราคาน้ำมันดิบตอนนี้ก็ยังอยู่สูงกว่าระดับที่เคยอยู่ในเดือนตุลาคมมากถึง 80% ข้อมูลจากสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) รายสัปดาห์เมื่อวันพุธที่แล้วระบุว่าการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นมาเป็น 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ข้อมูลจาก EIA ยังระบุอีกว่าในสัปดาห์ที่แล้วปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเพิ่มขึ้น 13.798 ล้านบาร์เรลมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ 816,000 บาร์เรลต่อวัน และสัปดาห์ก่อนหน้านั้นก็เพิ่มขึ้นมา 21.5 ล้านบาร์เรล สูงกว่าตัวเลข 19.2 ล้านบาร์เรลที่เคยทำไว้ในช่วงสัปดาห์ของมันที่ 10 เมษายนปี 2020 แต่เห็นผลที่ตลาดยังไม่เป็นกังวลมากนักเพราะปริมาณการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงและใช้สำหรับการกลั่นในสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้นจนหักล้างกับน้ำมันดิบคงคงคลังที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้นักลงทุนต้องจับตาดูปริมาณน้ำมันดิบคงคลังหลังจากที่ผ่านวิกฤตลมวนขั้วโลกในรัฐเท็กซัสมาแล้ว
สก็อตต์ เชลตัน นักวิเคราะห์ตลาดพลังงานล่วงหน้า ICAP วิเคราะห์ว่า
“ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบสามารถปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งได้เพราะการผลิตน้ำมันที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง หากจะให้ราคาน้ำมันวิ่งหลุดออกมาจากกรอบพักฐานนี้ คงต้องรอให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลดลงมากกว่านี้หรือเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ทางตะวันออกกลางเสียก่อน”