เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนบทความที่ว่าทองคำและน้ำมันมาถึงจุดที่ต้องเลือก ราคาทองคำเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นแปรผันตามการอ่อนค่าแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างมากในขณะที่ราคาน้ำมันดิบตอนนั้นแปรผันตามสถานการณ์พายุหิมะถล่มในรัฐเท็กซัส
ถึงแม้ตอนนี้ความเสี่ยงนั้นจะได้ผ่านไปแล้ว แต่ในทุกๆ ต้นเดือนใหม่ก็ถือเป็นสัปดาห์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดเพราะตลาดจะมีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจมากมาย และเหตุการณ์ในสัปดาห์นี้อาจทำให้ทั้งทองคำและน้ำมันดิบต้องเลือกอีกครั้ง เพราะวันศุกร์นี้เราจะได้ทราบตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการแข็งหรืออ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ฝั่งน้ำมันจะมีการประชุมของกลุ่ม OPEC+ เพื่อตัดสินใจว่าพวกเขาควรเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไปดีหรือไม่
นอกจากการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรแล้ว ตลาดจะให้ความสำคัญกับงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย Wall Street Journal ในวันพฤหัสบดี ซึ่งประธานเฟดนายเจอโรม พาวเวลล์ มีคิวที่จะต้องขึ้นพูด นักวิเคราะห์มองว่าเขาคงจะพูดในทำนองเดิมว่า “ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อ เฟดสามารถควบคุมได้” ส่วนตัวเลขการจ้างงานในวันศุกร์นั้น นักวิเคราะห์ตั้งความหวังกับการรายงานตัวเลขดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์เอาไว้มากว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นจากตัวเลข 49,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคมขึ้นเป็น 165,000 ตำแหน่งได้ในเดือนกุมภาพันธ์
ทองคำเป็นเพียงผู้ได้รับผลกระทบจากความกังวลอัตราเงินเฟ้อ
หากจะให้พูดกันตามตรงแล้ว ความกังวลของนักลงทุนที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อซึ่งเกิดจากสถานการณ์ที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทองคำไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย ตลาดลงทุนตอนนี้เต็มไปด้วยบทที่วิเคราะห์ว่าผลตอบแทนพันธบัตรกับอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ได้อย่างไรทั้งๆ ที่สาเหตุก็ตรงไปตรงมามากว่าสหรัฐอเมริกาอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสู้โควิดขนาดนั้น ถ้าเงินไม่เฟ้อขึ้นเลยเนี่ยสิแปลก
เจฟฟี่ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ OANDA ให้ความเห็นต่อเศรษฐกิจในตอนนี้ว่า
“ปัญหาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นกังวลและไม่ยอมแตะเบรก QE ในตอนนี้เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนมีความไม่เท่ากัน ในบางภาคส่วนการเติบโตนั้นกลับมาแทบจะเป็นปกติแล้วในขณะที่อีกบางภาคส่วนกลับยังไม่สามารถแม้แต่จะฟื้นกลับมาได้เลยอย่างเช่นอัตราค่าจ้างแรงงานเป็นต้น ความจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือแม้เราจะเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัว แต่คุณลองมองไปที่ประเทศอื่นๆ ดูสิ บางประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนเลยด้วยซ้ำ”
จากการแถลงต่อสภาคองเกรสล่าสุดของประธานเฟดยิ่งทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าเฟดยังไม่คิดจะแตะเบรก QE เพื่อแก้ปัญหาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเร็วไปอีกสักระยะหนึ่ง ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ราคาทองคำสปอตมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1730 โดยประมาณ
Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ SK Dixit ประเทศอินเดียวิเคราะห์ว่าราคาทองคำมีโอกาสทั้งที่จะสามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ $1,800 ได้และในขณะเดียวกันก็มีโอกาสลงไปแตะ $1,700 ได้
“ตราบใดที่ราคาทองคำสปอตยังสามารถยืนเหนือ $1,709 มีโอกาสมากที่ราคาจะสามารถกลับขึ้นไปที่เส้นค่าเฉลี่ย 10 EMA หรือที่ระดับราคา $1,771 จากนั้นก็จะสามารถขึ้นไปยัง $1,796 และ $1,820 ซึ่งตรงกับเส้นค่าเฉลี่ย 50 EMA พอดี ถ้าราคาทองคำยังสามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 50 EMA ได้ มีโอกาสที่ทองคำจะสามารถขึ้นไปถึง $1,848 และ $1,882”
ส่วนฝั่งขาลงนั้นนักวิเคราะห์จากอินเดียประเมินว่า “ถ้าลงต่ำกว่า $1,709 ได้เมือไหร่ ให้พิจารณาแนวรับที่ $1,650 - $1,640 รอเอาไว้ได้เลย”
ตราบใดที่ดอลลาร์สหรัฐยังรอดูชะตากรรมตัวเองจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ราคาทองคำก็จะยังไม่วิ่งไปไหนเพราะต้องรอดูชะตากรรมตัวเองเช่นเดียวกัน
การประชุมของกลุ่ม OPEC+ จะเป็นตัวตัดสินตลาดน้ำมัน
สถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบก็ได้เดินทางมาถึงจุดต้องตัดสินใจเช่นกันหลังจากวิ่งอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นมาตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ ราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถทำขาขึ้นตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ได้เกือบ 18% สานต่อขาขึ้นในเดือนมกราคม 8% ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันดิบก็ยังถือว่ามีราคาซื้อขายสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2020 ก่อนที่วิกฤตโควิดจะเข้ามาเล่นงาน
ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดราคาน้ำมันในฝั่งยุโรปก็ได้ปรับตัวขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 15% สาต่อขาขึ้นในเดือนมกราคม 8% และสามารถวิ่งขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดในรอบ 13 เดือนได้ที่ $66.81 ในเดือนกุมภาพันธ์
วันพฤหัสบดีที่กำลังจะถึงนี้จะเป็นวันที่กลุ่ม OPEC+ ประชุมหารือเพื่อตั้งโควตาการลดหรือเพิ่มการผลิตน้ำมันสำหรับเดือนเมษายน การประชุมครั้งก่อนจบลงที่ซาอุดิอาระเบียยอมประนีประนอมลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวันของตัวเองเพื่อให้รัสเซียและคาซัคสถานได้เพิ่มกำลังการผลิตของตน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คิดว่าการที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นมาได้มากขนาดนี้อาจทำให้ทางกลุ่มอยากปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตน้ำมัน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าซาอุดิอาระเบียได้ประกาศบอกสมาชิกกลุ่ม OPEC ทุกประเทศว่า “ให้ระมัดระวังสถานการณ์ในช่วงนี้เป็นอย่างมาก” แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดในรอบหนึ่งปีแล้วก็ตาม นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนจากซาอุดิอาระเบียว่าให้ตรึงกำลังการผลิตของแต่ละประเทศเอาไว้ในระดับนี้ก่อนและไม่ควรที่จะผลิตเพิ่ม มีเพียงรัสเซียเจ้าเก่าเท่านั้นที่ยังต้องการแสดงอำนาจท้าทายซาอุดิอาระเบียด้วยการผลิตน้ำมันเพิ่ม
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนอย่างเช่นจาก GasBuddy กลับมองว่าการประชุมในวันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีอะไรก็ได้
“หากต้องการที่จะหยุดขาลงของตลาดน้ำมันในตอนนี้ ผมมองว่ากลุ่ม OPEC อาจต้องผลิตน้ำมันอีกหลายล้านบาร์เรลเพื่อตรึ่งราคาน้ำมันเอาไว้ที่ $50 บาร์เรล ถ้าอยากจะให้ความต้องการน้ำมันดิบกลับมา อาจจะต้องเพิ่มการผลิตขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรลเป็นอย่างน้อย ถ้าผลิตน้ำมันเพิ่มต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรล ตลาดก็ถือว่ายังอยู่ในความเสี่ยง”
ส่วนตัวแล้วเรามองว่าการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 500,000 บาร์เรลต่อวันของกลุ่ม OPEC+ ยังเป็นไปได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังต้องไม่เพิ่มขึ้น