แม้ว่ารายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนมกราคมเมื่อวันศุกร์ที่แล้วจะเติบโตได้น้อยกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ดัชนีหลักของสหรัฐฯ อย่างดาวโจนส์ เอสแอนด์พี 500 แนสแด็กและรัสเซล 2000 กลับสามารถปิดบวกส่งท้ายสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ได้ ดัชนีรัสเซลสามารถทำราคาปิดสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2020 ในขณะที่เอสแอนด์พี 500 ทำผลงานขาขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
การที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรไม่สามารถเติบโตได้ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ยิ่งเป็นการตอดย้ำให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขนาดไหน การที่ดัชนีหลักของประเทศเติบโตได้ดีสวนทางกับตัวเลขการจ้างงานแบบนี้หมายความว่าเงินที่หนุนตลาดขาขึ้นในปัจจุบันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสวนทางกับมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐ
การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของเดือนมกราคมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากลายเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดการณ์สองครั้งติดต่อกัน ก่อนหน้านี้ตัวเลขการจ้างงานในเดือนธันวาคมลดลง 227,000 ตำแหน่งและในเดือนมกราคมที่พึ่งรายงานไปพบว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 49,000 ตำแหน่งพลาดตัวเลขคาดการณ์ 50,000 ตำแหน่งไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากที่ได้ทราบตัวเลขดังกล่าวแล้ว โจ ไบเดนประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐฯ ได้อาศัยโอกาสนี้กล่าวเร่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายว่า
“ไม่แน่ว่าสิ่งที่พวกเรากำลังดำเนินการกันอยู่อาจน้อยเกินไปก็ได้”
ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าโจ ไบเดนต้องการพลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างมากไม่ว่าพรรครีพับลิกันจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม จากคำพูดนี้ทำให้เราประเมินว่าตลาดลงทุนอาจได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในเร็วๆ นี้ และจะเป็นนโยบายที่สอดคล้องไปกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ การแจกจ่ายวัคซีนและเร่งความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนชาวอเมริกันซึ่งคิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ
ถึงตัวเลขการจ้างงานฯ จะออกมาน่าผิดหวัง แต่ดัชนีหลักที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้รวมถึงแนสแด็ก 100 กลับสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้หมดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดด้วยการปรับตัวขึ้น 1.3% ห่างจากจุดสูงสุดตลอดกาลเมื่อวันที่ 20 มกราคมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แม้ดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะปรับตัวขึ้นต่อจริง แต่ก็มีราคาปิดปรับตัวลดลง ที่น่าจับตามองมากกว่านั้นคืออินดิเคเตอร์อย่าง MACD และ RSI ต่างเริ่มวิ่งไปในทิศทางที่แตกต่างกับราคาปัจจุบันแล้ว หรือที่ในวงการเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “ไดเวอร์เจนต์ (Divergence)”
หุ้น GameStop (NYSE:GME) ที่เป็นสมรภูมิสงครามระหว่างนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยปรับตัวขึ้น 19.2% เมื่อวันศุกร์หลังจากแอปพลิเคชันการลงทุนชื่อดังโรบินฮู้ด (Robinhood) นำมาตรการบังคับการซื้อหุ้นออก แต่เมื่อเทียบกับขาลงที่ลงมาจากจุดสูงสุด $325 เหลือ $261 นั้น การปรับขึ้น 19.2% แทบไม่ได้แสดงการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เชื่อได้ว่านักลงทุนรายย่อยจะกลับมามีกำลังได้อีก
หุ้น Pinterest (NYSE:PINS) กระโดดขึ้น 5.3% แตะจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลเพราะตัวเลขรายงานผลประกอบการสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ที่ $645.66 ล้านเหรียญสหรัฐไปได้ กำไรที่แอปพลิเคชันปักหมุดไอเดียสามารถทำได้ในครั้งนี้คือ $705.62 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตรงกันข้ามกับหุ้น Pinterest หุ้นบริษัทผู้ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องออกกำลังกายอย่าง Peloton (NASDAQ:PTON) กลับปรับตัวลดลง 5.9% หลังจากทางบริษัทประกาศว่ากำลังประสบปัญหาไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้ นี่คือการส่งสัญญาณเตือนว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นในการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ที่พึ่งผ่านไปอาจหดตัวในการรายงานตัวเลขรอบหน้า
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะเห็นว่าหุ้น Peloton กำลังสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) โดยมีแนวรับอยู่ที่ 139.75 จุดซึ่งเป็นแนวรับที่เกิดจากจุดสูงสุดของวันที่ 16 ตุลาคม หากราคาสามารถวิ่งลงมาจนหลุดแนวรับนี้ได้ เราอาจได้เห็นราคาร่วงลงไปถึง 120 จุด
ค่าส่วนต่างระหว่างกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีกับกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้มีการขยายตัวออกอย่างมีนัยสำคัญเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนับตั้งแต่ปี 2017 นอกจากคู่ 2 ปีและ 10 ปีแล้ว เรายังพบว่ากราฟผลตอบแทนฯ อายุ 5 ปีและ 30 ปีก็ห่างกันมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015
โดยปกติแล้วกราฟผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อนักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่การเพิ่มขึ้นของกราฟผลตอบแทนฯ ในอีกทางหนึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อก็กำลังเพิ่มขึ้นด้วย จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดทำให้นักลงทุนตัดสินใจฝากเงินเอาไว้กับกราฟผลตอบแทนฯ ที่มีอายุน้อยกว่าจนกว่าพวกเขาจะได้เห็นกราฟผลตอบแทนระยะยาวที่มีเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนมากกว่านี้
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคมโดยการอ่อนค่าครั้งนี้ปรับตัวลดลงมา 0.5%
นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าการอ่อนค่าลงมาครั้งนี้เกิดจากการปิดคำสั่งซื้อขายเมื่อทำกำไรหลังจากที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง การปรับตัวลดลงมาครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ยังขึ้นไปไม่ถึงเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน ถึงกระนั้นแนวรับของกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐก็ถือว่าแข็งแกร่ง เพราะตอนนี้ราคามีแนวรับที่เกิดจากเส้นเทรนด์ไลน์ขาลงและเส้น neckline ของรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) หากแนวรับทั้งสองสามารถพยุงราคาเอาไว้ได้ กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสขึ้นไปถึง 92.00 จุดและ 95.00 จุดตามลำดับ
การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น แต่เมื่อเทียบกับขาลงในวันพฤหัสบดีแล้ว ขาขึ้นครั้งนี้หากจะเรียกว่าเป็นเพียงการย่อขึ้นมาเล็กน้อยก็ไม่ผิดนัก
ขาลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วได้ปรับตัวลดลงลงต่ำกว่าจุดต่ำสุดของรูปแบบธงเมื่อวันที่ 19 มกราคม นอกจากนี้ อินดิเคเตอร์ MACD ก็ได้ส่งสัญญาณการปรับตัวลงต่อออกมาแล้ว สัญญาณทั้งหมดนี้ยังไม่มีอะไรบ่งบอกว่าขาขึ้นที่ดีดกลับขึ้นมานั้นจะสามารถกลายเป็นขาขึ้นที่ดีได้ในระยะสั้น
ราชาสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นอีก 16.6% จนสามารถกลับขึ้นมาแตะ $40,000 ได้อีกครั้ง มีราคาปิดห่างจากจุดสูงสุดตลอดกาลเมื่อวันที่ 8 มกราคมเพียง 1.1% เท่านั้นในขณะกำลังเขียนบทความอยู่ แม้จะปรับตัวกลับลงมาวิ่งอยู่ต่ำกว่า $40,000 แต่ขาขึ้นครั้งนี้เกิดขึ้นจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อยที่หนีมาจากการร่วงลงของหุ้นเกมสต๊อป การเข้าถือบิทคอยน์เป็นการชั่วคราวเพราะไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงกับสินทรัพย์ตัวไหนนั้นทำให้กราฟราคาบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้น
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค เราเชื่อว่ากราฟบิทคอยน์กำลังมุ่งหน้าขึ้นสู่ $50,000 เพราะเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นได้ตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวในอินดิเคเตอร์ MACD ขึ้นเรียบร้อย ส่วน RSI ก็ยังแสดงให้เห็นว่ามีพื้นที่ให้สามารถปรับตัวกลับขึ้นไปได้อีกมากเมื่อเทียบกับยอดก่อนหน้า
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นอีก 1.5% เมื่อวันศุกร์ที่แล้วทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมับดิบได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 8.9% ขาขึ้นครั้งนี้นับเป็นขาขึ้นที่มากที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคม สาเหตุที่ราคาน้ำมันสามารถขึ้นมาได้ขนาดนี้เป็นเพราะความหวังที่มีต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ การกระจายวัคซีนที่ยังคงเดินหน้าต่อไปและการลดกำลังการผลิตน้ำมันจากกลุ่ม OPEC+
จากการทะลุกรอบราคาไซด์เวย์ของราคาครั้งนี้ทำให้เราเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปยัง $60 ต่อบาร์เรลได้ ปัจจัยที่สนับสนุนขาขึ้นของตลาดน้ำมันดิบมีความคล้ายคลึงกับปัจจุยหนุนราคาตลาดหุ้นซึ่งก็คือความเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในความเห็นของเราแล้วโลกคงไม่สามารถกลับไปเป็นอย่างเดิมได้โดยเร็วตราบใดที่เรายังเห็นการอัดเงินเข้าระบบเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากขนาดนี้
ข่าวเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดถูกคำนวณเป็น EST)
วันอังคาร
07:00 (สหรัฐฯ) รายงานภาพรวมตลาดพลังงานระยะสั้นจาก EIA
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนงานที่เปิดรับสมัครจาก JOLT: คาดว่าจะลดลงจาก 6.52M เป็น 6.400M
วันพุธ
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน: คาดว่าเพิ่มขึ้นจาก 0.1% เป็น 0.2%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะลดลงจาก -0.994M เป็น -2.808M
วันพฤหัสบดี
07:00 (สหรัฐฯ) รายงานประจำเดือนจากกลุ่ม OPEC
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 779K เป็น 750K
11:00 (สหรัฐฯ) รายงานนโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าตัวเลขแบบ YoY จะเพิ่มขึ้นจาก -8.5% เป็น -8.1% และตัวเลขแบบ QoQ จะลดลงจาก 16.0% เป็น 0.5%
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะคงที่อยู่ที่ 0.7%
05:30 (รัสเซีย) ผลการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางรัสเซีย: คาดว่าจะคงที่อยู่ที่ 4.25%