- IBM จะรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคมหลังจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิด
- คาดการณ์ตัวเลขผลกำไร: $20,640 ล้านเหรียญสหรัฐ
- คาดการณ์ตัวเลขอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น: $1.81
สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้มากที่สุดในการรายงานผลประกอบการของบริษัทไอบีเอ็ม (NYSE:IBM) หรือที่มีชื่อเล่นในวงการว่า “บิ๊กบลู” คือการทุ่มงบลงทุนในเทคโนโลยีคลาวด์จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของบริษัทที่หายไปเพราะวิกฤตโควิดได้หรือไม่
ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอายุยืนยาวมานานถึง 109 ปีที่จะต้องแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ กับบริษัทรุ่นหลานอย่างอะเมซอน (NASDAQ:AMZN) หรือไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT) ที่มีทั้งความใหม่กว่า สดกว่า คุ้นเคยเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันมากกว่า กราฟหุ้นไอบีเอ็มในช่วงห้าปีล่าสุดสามารถบอกเรื่องราวการเติบโตได้เป็นอย่างดี
จากกราฟจะเห็นว่าตลอดห้าปีที่ผ่านมานั้น หุ้นไอบีเอ็มแทบจะไม่มีการขยับไปไหนเลย ในขณะที่ดัชนีแนสแด็กที่ใช้วัดการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐฯ กลับสามารถเติบโตได้มากถึง 187% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน หุ้นไอบีเอ็มมีราคาซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ $130.08
เพื่อเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของบริษัท CEO คนใหม่นายอาร์วิน คริชนาจึงได้ลองเสี่ยงลงทุนกับเทคโนโลยีคลาวด์แบบลูกผสมระหว่างซอฟต์แวร์และบริการ ไอบีเอ็มจะใช้ฐานเชิฟเวอร์ที่ตัวเองมีปล่อยเช่าพื้นที่ให้กับผู้ที่ต้องการเก็บข้อมูลบนคลาวด์รวมถึงให้บริการสำหรับองค์กรที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ขนาดใหญ่ ในปี 2018 ไอบีเอ็มได้ลงทุนซื้อบริษัท “เรด แฮท (Red Hat)” ด้วยมูลค่า $34,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อหวังว่าจะกลับเป็นผู้นำของวงการได้อีกครั้ง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานถึงคำพูดที่ CEO ไอบีเอ็มได้กล่าวเอาไว้กับนักวิเคราะห์ว่า
“อนาคตข้างหน้าต่อจากนี้เป็นต้นไป ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเราจะต้องอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ซึ่งจะไม่ใช่คลาวด์แบบ 100% แต่คลาวด์แบบผสม เชื่อหรือไม่ว่าที่ตรงนั้นมีโอกาสที่สามารถตีเป็นเงินได้ประมาณ $1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รอคุณอยู่ แล้วจะรออะไรละครับ?”
ความเคลื่อนไหวใหม่ของ IBM ที่น่าสนใจ
คำพูดที่ CEO ของไอบีเอ็มได้ให้สัมภาษณ์นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะครั้งนี้ไอบีเอ็มตั้งใจจะเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรจริงๆ ด้วยการไล่พนักงานออกไปแล้วหลายพันคน เดือนที่ผ่านมาที่อาร์-มองค์ (Armonk) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท IBM ในนิวยอร์ก พบว่าได้มีการสั่งปรับลดพนักงานไป 2,000 คน ไอบีเอ็มเตรียมแยกธุรกิจออกเป็น 2 หน่วยเพื่อเอื้อให้ตนสามารถขยายงานไปสู่ธุรกิจคลาวด์ได้เต็มตัว
อย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังนี้ยังไม่มากพอที่จะโน้มน้าวนักลงทุนให้เห็นความตั้งใจจริงได้ การรายงานตัวเลขผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของไอบีเอ็มยังคงเป็นตัวเลขผลประกอบการที่ลดลงเป็นไตรมาสที่เก้าติดต่อกัน จนบริษัทไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลตัวเลขคาดการณ์ผลกำไรในไตรมาสนี้โดยอ้างเพียงว่าเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
ราคาหุ้นของไอบีเอ็มตอนนี้มีมูลค่าต่ำกว่าบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันมาก เมื่อเทียบอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ที่ใช้ราคาหุ้นมาหารด้วย”ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นทั้งปี” จนได้ Forward P/E เปรียบเทียบระหว่างกองทุน ETF Technology Select Sector SPDR® (NYSE:XLK) และหุ้นไอบีเอ็มพบว่าห่างกัน 25 เท่าและหากเทียบกับกองทุน ETF First Trust Cloud Computing (NASDAQ:SKYY) พบว่าห่างกัน 35 เท่า ที่สำคัญ ไอบีเอ็มเชื่อว่าตัวเองจะสามารถตีตลาดที่อะเมซอนและไมโครซอฟต์กำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดได้
โดยสรุปแล้ว
ด้วยความตั้งมั่นที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างจริงจัง ประกอบกับการลงทุน $34,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อควบรวมบริษัทเรด แฮท เราเชื่อว่า IBM จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างช้าๆ ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของไอบีเอ็มคือเป็นบริษัทที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้นานถึง 109 ปี แปลว่าไอบีเอ็มจะต้องมีการจัดการงบดุลบัญชีงบประมาณทีดี มีรูปแบบการจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดเพียงยังไม่รู้แน่ชัดว่าควรเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอนาคต
ดังนั้นในความเห็นเรา หุ้นไอบีเอ็มเป็นหุ้นระยะยาวที่น่าดึงดูด ด้วยมูลค่าของหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีและกองทุน ETF ตามที่ได้ให้ข้อมูลไป ที่สำคัญหุ้นไอบีเอ็มยังสามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่า 5%