แม้ว่าปี 2020 จะจบไปแล้วและเราก็ได้ก้าวเข้าสู่ปี 2021 อย่างเป็นทางการเรียบร้อย แต่ปัจจัยหลักที่เป็นธีมการลงทุนส่งต่อมาจากปีที่แล้วอย่างโควิด-19 ยังคงอยู่ แต่เพราะมีวัคซีนต้านโควิดออกมาแล้ว ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องการรู้ว่าปีนี้จะเป็นไปได้ไหมที่การฟื้นตัวจะทำให้ราคาน้ำมันดิบสามารถกลับขึ้นไปยังระดับราคาในปี 2019 ได้อีกครั้ง ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่นักลงทุนควรตระหนักถึงในการลงทุนกับตลาดน้ำมันในปี 2021
1. มาตรการคุมเข้มการผลิต ส่งออก และสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลสหรัฐฯ
การให้ความสนใจกับปัญหาโลกร้อนมากขึ้นซึ่งถือเป็นนโยบายหาเสียงหลักของพรรคเดโมแครตจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งในแง่ของการซื้อขาย ขนส่งแร่ฟอซซิลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีมาตรควบคุมที่เข้มข้นขึ้นจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนย่อมต้องส่งผลกระทบต่อตัวเลขการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ที่ต้องจับตาดูคือท่าทีของเขาที่มีต่อการผลิตน้ำมัน ก่อนการเลือกตั้งเขาเคยพูดเอาไว้ว่าจะไม่แบนการขุดน้ำมัน แต่หลังจากทราบผลการเลือกตั้งแล้วเขากลับเปลี่ยนคำพูดโดยใช้คำในเชิงว่าอาจลดการขุดน้ำมันลงเป็นจำนวนมากหากการมาของพลังงานทางเลือกเกิดขึ้นจริงในยุคของเขา
หนึ่งในตัวเลขที่จะสามารถยืนยันว่าสิ่งที่ไบเดนพูดจะกลายเป็นจริงหรือไม่ให้จับตาดูตัวเลขการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ที่เป็นของภาครัฐ หากไบเดนตัดสินใจลดกำลังการผลิตลงในพื้นที่ดังกล่าวจริง จะส่งผลต่อการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ คิดเป็นตัวเลขประมาณ 25% มีข่าวออกมาจากบริษัทพลังงานบางแห่งแล้วว่าพวกเขาเตรียมลดโควตาการผลิตน้ำมันลงตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ทันทีที่โจ ไบเดนเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 อย่างเป็นทางการ สำหรับภาพรวมระยะสั้นแล้ว ต้องรอดูว่าเมื่อโจ ไบเดนขึ้นมารับตำแหน่ง เขาจะวางนโยบายเกี่ยวกับการบริหารพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างไร
2. การถ่วงดุลอำนาจภายในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC)
ในการประชุมของกลุ่มโอเปกช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจที่น่าสนใจเมื่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัสเซียได้ร่วมมมือกันคานอำนาจกับซาอุดิอาระเบีย พี่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปกในเรื่องของการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน การประชุมครั้งนั้นจบลงที่ซาอุดิอาระเบียยอมให้กลุ่มโอเปกพลัสสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตามที่ตกลงเอาไว้วันละ 500,000 บาร์เรลต่อวันได้แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่รวดเร็วขึ้นของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การประชุมของกลุ่มโอเปกที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงคำสัญญานั้น
จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงตลอดเดือนธันวาคมอาจทำให้ซาอุดิอาระเบียยอมที่จะทำตามเงื่อนไขของกลุ่มโอเปกพลัส แต่การที่มีการประชุมเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ก็เป็นการส่งสัญญาณมาจากทางซาอุดิอาระเบียว่าพวกเขายังคงจับตาดูท่าทีของกลุ่มโอเปกพลัสอย่างใกล้ชิด ตอนนี้ทั้งซาอุดิอาระเบียและรัสเซียมีความเห็นในเรื่องของการผลิตน้ำมันแตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน แต่ก็ยังสามารถประนีประนอมอยู่ร่วมกันได้
3. การฟื้นตัวของการเดินทางทั่วโลก
แม้ว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกลับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2019 ถึงนักวิเคราะห์หลายฝ่ายจะเชื่อว่าการมาของวัคซีนต้านโควิดจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่กว่าวัคซีนจะสามารถไปถึงในทุกๆ พื้นที่ทั่วโลกก็ยังต้องรอไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลังเป็นอย่างน้อย ปัจจัยนี้กระทบต่อความต้องการน้ำมันดิบสำหรับเครื่องบินเป็นอย่างมากและยังไม่รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกเช่นความเชื่อมั่นของผู้คนที่จะกล้ากลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินอีกครั้ง การถดถอยทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานมาเป็นการใช้วิดีโอทางไกลมากขึ้น มาตรการคุมเข้มในการเดินทาง ฯลฯ
4. ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจรอบที่สอง
ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าภาครัฐของแต่ละประเทศได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอัดเงินเข้าสู่ระบบกันอย่างมากมายเพื่ออุ้มเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าไปต่อได้ แต่ความจริงก็คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านั้นเป็นเพียงการยืดระยะเวลาของผลกระทบที่ควรจะเกิดขึ้นออกไป เมื่อฤิทธิ์ของยาหมดลงในปีนี้ เราก็จะได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดเล็ก
หลายๆ ธุรกิจต้องปิดตัวลงในปี 2020 และบางธุรกิจที่สามารถเอาตัวรอดมาได้ก็ยังต้องพึ่งพาทุกมาตรการเยียวยาของทางภาครัฐ สมมุติว่าการฟื้นตัวเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ประเมินหรือก็คือในช่วงครึ่งปีหลัง หมายความว่าผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จะต้องพึ่งภาครัฐไปอีกอย่างน้อยครึ่งปี หมายความว่าการประหยัดกินประหยัดใช้ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการใช้พลังงานน้ำมันอีกด้วย
5. เงินทุนสำหรับการค้นหาแหล่งพลังงานใหม่
ในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำในปี 2014 สิ่งแรกที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เลือกทำก่อนเพื่อลดต้นทุนก็คือการลดงบประมาณในส่วนของเงินลงทุนเพื่อการเติบโต (capex) หากพูดในวงการน้ำมันก็คืองบส่วนนี้มีไว้เพื่อลงทุนกับการหาแหล่งพลังงานใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2020 คือบริษัทรายใหญ่อย่างเอ็กซอน โมบิล (NYSE:XOM) หรือซาอุดิฯ อารัมโก (SE:2222) กลับตัดสินใจไม่ลดเงินในส่วนของ capex ลงโดยให้เหตุผลว่าถึงไม่ต้องลดก็ไม่มีเงินมากพอที่จะไปลงทุนเพิ่มในส่วนนี้แล้ว
การพูดถึงนโยบาย capex แบบนี้หมายความว่าในปี 2021 บริษัทผู้ผลิตน้ำมันยังไม่คิดที่จะหาแหล่งน้ำมันใหม่และเลือกที่จะตั้งรับรอดูสถานการณ์ตลาดน้ำมันภายในปีนี้ก่อน ข่าวนี้อาจไม่ส่งผลต่อนักลงทุนที่ถือสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้ามากนัก แต่สำหรับผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอยู่ ประเด็นนี้จะกระทบต่อการเติบโตของพอร์ตการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ