มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้คำตอบแน่นอนจะยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2020
- ดอลลาร์สหรัฐยังอยู่ในเส้นทางขาลงสวนทางกับบิตคอยน์ที่ขึ้นสร้าง High ใหม่ในช่วงวันหยุด
ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาก่อนปิดวันหยุดคริสต์มาส ดัชนีหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ดาวโจนส์เอสแอนด์พี 500 และแนสแด็กต่างสามารถปรับตัวขึ้นได้เป็นวันที่สองติดต่อกัน ขานรับข่าวดีเกี่ยวกับผลการเจรจา Brexit ที่ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับไม่ได้รับข่าวดีอย่าที่หวังเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขอมีส่วนร่วมในเงินเยียวยาฉบับนี้ด้วยการไม่เซ็นอนุมัติโดยให้เหตุผลว่าจำนวนเงินที่เสนอมาในร่างกฎหมายฉบับนี้มีจำนวนน้อยเกินไป
เมื่อสถานการณ์ Brexit คลี่คลายแล้ว ในสัปดาห์นี้ที่มีเวลาลงทุนเพียงสามวันเท่านั้น นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข่าวท่าทีของทรัมป์ที่มีต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ ชาวอเมริกันผู้ว่างงานนับล้านจะได้รับเงินเยียวยาเป็นของขวัญก่อนสิ้นปีนี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทรัมป์
โดยภาพรวมตลาดลงทุนสัปดาห์ที่แล้วถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จากยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนธันวาคม หลายๆ ประเทศที่เคยทำผลงานควบคุมโควิดได้ดีกลับมาพบผู้ติดเชื่อหรือคลัสเตอร์ใหม่ๆ ล่าสุดสหรัฐอเมริกามียอดผู้ติดเชื้อรวมแล้วทั้งสิ้น 19 ล้านคน และมียอดผู้เสียชีวิตรวม 332,000 คน ในสัปดาห์นี้เชื่อว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นจะมีเพียงเล็กน้อย และนักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่รับความเสี่ยงในช่วงก่อนปีใหม่ นักลงทุนมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าจะเริ่มเห็นผลของการฉีดวัคซีนว่าสามารถลดจำนวนยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงได้
ดัชนี S&P 500 กับเป้าหมายที่ 5,000 จุด...เป็นไปได้หรือไม่?
การที่ดัชนี S&P 500 สามารถสร้างรูปแบบสามเหลี่ยมสมมาตรสมบูรณ์ได้ในแนวโน้มขาขึ้นถือเป็นการบอกเป็นัยถึงเป้าหมายราคาที่ 3,900 จุด หากราคาสามารถขึ้นถึงเป้าหมายดังกล่าวได้จะกลายเป็นการยืนยันแนวโน้มขาขึ้นใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ทำลายสมมุติฐานกรอบสามเหลี่ยมปากอ้าในกรอบเวลาใหญ่ๆ อย่างที่ปรากฎในกราฟรายเดือนเป็นที่เรียบร้อย
ยิ่งกราฟดัชนี S&P 500 สามารถขึ้นไปสูงจากกรอบสามเหลี่ยมปากอ้าได้ไกลเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการยืนยันขาขึ้นได้ดีเท่านั้น ด้วยความสามารถขนาดนี้จึงทำให้ทางเราต้องตั้งเป้าหมายขาขึ้นของกราฟเอาไว้ใหม่ที่ 5,000 จุดซึ่งอยากให้เข้าใจก่อนว่ากราฟอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นถึง 5,000 จุดนี้ภายในปีนหน้า ความเป็นไปได้นี้อาจจะเกิดขึ้นในอีกสามปีข้างหน้าก็เป็นได้ ซึ่งเท่ากับระยะเวลาการวิ่งของขาขึ้นก่อนหน้านี้ ที่เรามองไว้ก็คือกราฟจะใช้สามเหลี่ยมปากอ้านี้เป็นฐานสำหรับขาขึ้นในยุคต่อไปนับจากนี้
เรื่องที่น่าสนใจนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไปก็คือการก้าวขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝั่งตะวันตกอีกแล้วแต่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ฝั่งเอเชีย อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและภาคธุรกิจระบุว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีนี้มีส่วนสำคัญกับการทำลายฐานอำนาจของฝั่งตะวันตกในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกเป็นอย่างมาก ที่สำคัญทางศูนย์ยังวิเคราะห์ว่าจีนจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกแทนสหรัฐอเมริกาได้ภายในปี 2028 โดยมีเรื่องของความสามารถในการจัดการโควิดเป็นปัจจัยส่งเสริมความเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
แรงหนุนขาขึ้นที่เกิดในดัชนีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีดอลล่าห์สหรัฐฯเกิดขึ้นจากการตั้งความหวังของนักลงทุนที่หวังว่าจะได้เห็นมาตรการเศรษฐกิจตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่าจนถึงบัดนี้ทรัมป์ก็ยังเล่นตัวดึงเกมต่อไป
จากกราฟจะเห็นว่าการฟอร์มตัวของดัชนีดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสที่น้ำหนักจะเทไปในทิศทางลงต่อมากกว่า การที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐไม่มีแนวโน้มว่าจะฟอร์มรูปแบบราคาเป็นขาขึ้นเลยตั้งแต่มีข่าวเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ $900,000 ล้านเหรียญสหรัฐก็หมายความว่าตลาดทำใจไว้แล้วว่ายังไงดอลลาร์ก็คงมีแต่จะอ่อนมูลค่าลง ยิ่งถ้าทรัมป์เพิ่มมูลค่าของเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจาก $600 ต่อคนเป็น $2,000 ต่อคน ดอลลาร์สหรัฐในปีหน้ายิ่งไม่ต้องลุ้นเลยว่าจะสามารถกลับขึ้นมาได้หรือไม่
เมื่อดอลลาร์อ่อนค่า ก็ถือเป็นโอกาสของทองคำที่จะได้มีโอกาสปิดกรอบธงขาขึ้นให้สมบูรณ์ด้วยความเป็นไปได้ที่จะกลับขึ้นไปยัง $1,900 อีกครั้ง
แม้จะไม่หวือหวาเหมือนตลาดสกุลเงินดิจิทัลแต่ปีนี้ทองคำก็ถือว่าประสบความสำเร็จกับการขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่เหนือ $2,000 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2011 ในปี 2020 ทองคำได้จารึกผลงานของตัวเองเอาไว้ว่าสามารถวิ่งขึ้นได้สูงสุด 36% ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาเหลือขาขึ้นตลอดทั้งปีอยู่ที่ 21%
หากพูดถึงขาขึ้นในปีนี้คงจะไม่มีใครโดดเด่นไปกว่าราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ (BitfinexUSD)ได้อีกแล้ว จากสามปีก่อนที่บิตคอยน์ไม่สามารถพิชิตเป้า $20,000 ได้สำเร็จ มาวันนี้เขามาแรงกว่าเดิม และไม่ได้มองเป้าหมายที่ $20,000 อีกต่อไป ใครจะเชื่อว่าจะได้เห็นบิตคอยน์เล็ง $30,000 ตั้งแต่สิ้นปี 2020 เลยเพราะในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ กราฟบิตคอยน์มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $27,685 เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นการทะยานขึ้นมาตลอดทั้งปี 297.4% และกำลังอยู่บนเส้นทางพิชิต $30,000 พร้อมกับ 300% ภายในเวลาเดียวกัน
การปรากฎขึ้นของแท่งเทียนหัวตัดหลังจากทะลุกรอบพักตัวออกไป แสดงให้เห็นถึงความร้อนแรงและการใส่เกียร์เดินหน้าขึ้นของนักลงทุนฝั่งกระทิง ตอนนี้ระดับเป้าหมายที่ใกล้ที่สุดของบิตคอยน์อยู่ที่ $28,400
วันศุกร์ที่แล้วราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเป็นวันที่สองติดต่อกันนับตั้งแต่วันพฤหัสบดี
อย่างไรก็ตามแท่งเทียนเมื่อวันศุกร์แสดงให้เห็นการอ่อนกำลังลงของแนวโน้มขาขึ้น กราฟกำลังเผชิญหน้าอยู่กับเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดวันที่ 2 พฤศจิกายน เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นในอินดิเคเตอร์ MACD ได้ตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวลงมาเรียบร้อย อินดิเคเตอร์ RSI ไม่สามารถกลับขึ้นไปได้หลังลงมาจากโซน overbought ที่ 75 ปิดท้ายด้วยอินดิเคเตอร์ ROC ที่กำลังทำไดเวอร์เจนต์กับราคา
มองย้อนกลับไปในปี 2020....เราได้ผ่านอะไรกันมาบ้าง?
ต่อให้เป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลกนี้ ก็คงไม่สามารถมองออกได้ว่าปี 2020 ที่กำลังจะผ่านไปนั้นเป็นปีที่บ้าคลั่งได้ขนาดนี้ โรคระบาดที่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในเมืองแห่งหนึ่งของประเทศจีนจะกลายมาเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่สามารถทำให้มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดรวม 80,355,000 คนและมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโควิดรวมแล้วทั้งสิ้น 1,758,000 คน
แม้จะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้ชื่อว่ารุนแรงกว่ายุค “เกรท รีเซสชัน (Great Recession)” ในปี 1930 แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือขาขึ้นของดัชนีหลักๆ ในสหรัฐอเมริกาที่สวนทางกับความเป้นจริงเป็นอย่างมาก ดัชนี S&P 500 เคยวิ่งลงไป 34% ในเดือนมีนาคมก่อนจะทะยานกลับขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใน 23 วันสุดท้ายก่อนสิ้นปี ที่น่าสนใจกว่านั้นปีนี้ถือเป็นปีที่เทคโนโลยีมาแรงมาก สอดคล้องกับการทำสงครามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดัชนีแนสแด็ก 100 สามารถทะยานขึ้นได้เกือบ 82% ภายในช่วงเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น
เทรนด์ที่มาแรงที่สุดในปีนี้อย่างรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็สะท้อนออกมาในรูปแบบของราคาหุ้นเมื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา Tesla Inc (NASDAQ:TSLA) สามารถทำขาขึ้นได้อย่างโดดเด่น ไม่ต่างไปจากราคาบิตคอยน์ ส่งให้เจ้าของบริษัทอีลอน มัสก์กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก และได้เข้าไปอยู่ในดัชนี S&P 500 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือเทสลาใช้เวลาไม่นานในการมีมูลค่าตลาดมากกว่า $627,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือมากกว่ามูลค่าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก 9 แห่งรวมกัน
การทำ IPO ในปีนี้ถือว่าแอร์บีเอ็นบี (NASDAQ:ABNB)กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดตัวหนึ่งในหมู่นักลงทุนสหรัฐฯ แม้จะมีเพียงเว็บไซต์ ไม่ได้มีสินทรัพย์ค้ำประกันอะไร ทำเพียงเป็นตัวกลางจัดหาที่พัดให้กับนักท่องเที่ยว แต่เชื่อไหมว่ามูลค่าของ Airbnb ในตอนนี้มีมากกว่า $100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าโรงแรมยักษ์ใหญ่อย่างMarriott International Inc (NASDAQ:MAR) และ Hilton Worldwide Holdings Inc (NYSE:HLT) รวมกัน การเปิด IPO ในช่วงวิกฤตโควิดแบบนี้ถือว่าเจ้าของ Airbnb ต้องมีความใจกล้าเพราะใครๆ ก็ทราบดีว่าโควิดคือศัตรูตัวฉกาจของวงการการท่องเที่ยวในปีนี้เลย แต่หากมองอีกแง่ นี่อาจเป็นกลุยทธ์อันชาญฉลาดของเจ้าของ Airbnb ที่เลือกเปิด IPO ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการมีวัคซีนต้านโควิด ใครจะไปรู้ว่าการท่องเที่ยวในปีหน้าอาจกลับมาคึกคักแล้ว และหากต้องการเที่ยวก็ต้องนึกถึง Airbnb
อีกหนึ่งตลาดที่สร้างประวัติศาสตร์ใหม่และจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือตลาดน้ำมันดิบ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้คนไม่สามารถท่องเที่ยว เครื่องบินต้องจอดอยู่ในโรงเก็บเครื่องบินนิ่งๆ บนความเจ็บปวดของผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกับการใช้งานรถยนต์ส่วนตัวหรือสาธารณะก็ลดลง ใครๆ ต่างก็อินเทรนด์ทำในสิ่งที่เรียกว่า “ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)” กันทั้งนั้น ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ราคาน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐฯ เคยลงไปสร้างจุดต่ำสุดเอาไว้ที่ระดับติดลบ $40 ต่อบาร์เรล แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือนหลังจากนั้นราคาน้ำมันดิบก็สามารถกลับขึ้นมาแตะ $40 ต่อบาร์เรลได้อีกครั้ง
ทั้งทีความเสี่ยงมีมากขนาดนี้ แต่ทำไมใครๆ ก็ยังกล้ารับความเสี่ยงอยู่?
นอกจากการลงทุนกับตลาดที่วิ่งเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาในปีนี้ นักลงทุนก็ยังกล้าที่จะลงทุนราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น คำถามสำคัญคือคำว่า “ทำไม?”
คำตอบก็คือเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ตลาดหุ้นพังครืนลงมาอย่างเช่นที่เคยเป็นในปี 1930 ทั้งรัฐบาล และธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต่างเห็นตรงกันว่าสหรัฐอเมริกาจะล้มไม่ได้อีก เฟดยอมที่จะพิมพ์เงินถูกๆ ออกมา มูลค่าดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนยังไงก็ได้ แต่ตราบใดที่ประเทศไม่เจอกับภาวะเงินฟืดแต่เจอภาวะเงินเฟ้อก็ยังดี เมื่อเฟดตัดสินใจจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ใกล้กับ 0% จนกว่าอัตราการว่างงานจะลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5% หมายความว่าในปีหน้ายังมีโอกาสที่เราจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
เมื่อมีเงินฟรีที่สามารถปั้มออกมาได้อย่างต่อเนื่อง แล้วทำไมนักลงทุนจะไม่อยากทำกำไรจากโอกาสนี้กันละ? นี่คือสาเหตุหลักว่าทำไมนักลงทุนถึงลงทุนได้กำไรกันอย่างสนุกสนานในปีนี้ ทั้งๆ ที่เรากำลังเผชิญกับภัยเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี
ความเป็นไปได้ในปี 2021
ถึงนักลงทุนในตำนานเจ้าของบริษัทเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ (BRKa) (BRKb) อย่างปู่วอร์เรน บัฟเฟตจะบอกว่าเขาไม่สามารถคาดการณ์อะไรในปีหน้าได้ แต่เพื่อนคนสนิทและรองประธานนายชาร์ลี มันเกอร์ กลับมองว่าปีหน้าถ้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ร่วงลงมา อย่างน้อยก็ต้องมีการชะลอตัว สำหรับ investing.com เอง แม้ว่าเราจะเข้าข้างฝั่งขาลงมาตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรเราก็ไม่อยากเห็นภาพที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถล่มลงมาในคราวเดียว หากเป็นไปได้ก็ขอให้ชะลอตัวแล้วค่อยๆ ปรับลดระดับลงมา มีเมตตากับนักลงทุนในตลาดบ้างก็คงจะดี
หุ้นกลุ่มไหนที่ควรค่าแก่การจับตามอง
หากในปี 2021 วัคซีนที่ผลิตออกมาสามารถใช้ได้ผลกับโควิด-19 จริงจนสามารถทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาเป็นปกติ เรามองว่าหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ จะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุดอย่างเช่นหุ้นของบริษัทในกลุ่มพลังงาน ท่องเที่ยว อลังหาริมทรัพย์ การเงิน และสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนความร้อนแรงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะลดลงเพราะไม่มีความจำเป็นที่นักลงทุนต้องถือหุ้นกลุ่มนี้เพื่อคานความเสี่ยงอีกแล้ว
เมื่อมองเช่นนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรทำก็คือเตรียมพร้อมรับมือกับการฟื้นตัว เตรียมกระแสเงินสดเอาไว้ให้พร้อมซื้อหุ้นเหล่านี้ในราคาถูก เราคงไม่สามารถแสดงความยินดีได้เต็มปากจนกว่าจะเริ่มเห็นประสิทธิภาพของวัคซีนที่แท้จริงในช่วงครึ่งปีแรกของ 2021 แต่อย่างไรก็ตาม เราก็คงต้องขอพูดคำว่า….
“สวัสดีปีใหม่ 2021 ขอให้นักลงทุนทุกท่านจงมีแต่ความสุขความเจริญ”
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาคำนวณเป็น EST)
วันอังคาร
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากซีบี: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 96.1 เป็น 97.0
วันพุธ
10:00 (สหรัฐฯ) ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอการจำนอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -1.1% เป็น 0.2%
20:00 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 52.1 เป็น 52.2
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 803,000 คนเป็น 835,000 คน
วันศุกร์
วันหยุดยาวปีใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ปิดทั่วโลก