แม้ว่าเราจะกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ปีใหม่ 2021 แต่ปัจจัยที่ยังส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ อย่างเช่นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแข่งอยู่กับการพัฒนาวัคซีน และการแจกจ่าย การประชุมของโอเปกเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการลดและเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน การเมืองสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ
แต่นอกจากปัจจัยที่กล่าวถึงไป ยังมีเรื่องที่นักลงทุนน้ำมันไม่ควรมองข้ามซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในบทความนี้เราจะมาดูสามปัจจัยนั้นที่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันแต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
1. การกลับมาของอิหร่าน
อิหร่านถือเป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนควรจับตาเป็นอย่างมากหลังจากการขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 อย่างเป็นทางการของโจ ไบเดน แทนประธานาธิบดีคนปัจจุบันนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนหน้านี้โดนัลด์ ทรัมป์ได้พาสหรัฐอเมริกาออกจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ (JCPOA) ที่ทำขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา พร้อมทั้งมีการคว่ำบาตรอิหร่านและสังหารหัวหน้าของกลุ่มกองกำลัง IRGC
นักวิเคราะห์ประเมินว่าเมื่อโจ ไบเดนได้เข้ามาคุมทำเนียบขาวอย่างเบ็ดเสร็จ และมีอำนาจในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ เขาจะจัดการเปลี่ยนในสิ่งที่ทรัมป์เคยทำทั้งหมดให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นการกลับเข้าไปร่วม JCPOA หรือยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากคือปริมาณการผลิตน้ำมันของอิหร่านในปี 2021 หรือความสามารถในการส่งออกน้ำมัน
ข้อมูลจาก S&P Platts ระบุว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันออกมาได้วันละ 2.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสามารถทำตัวเลขการผลิตสูงสุดในปี 2020 เอาไว้อยู่ที่ 2.12 ล้านบาร์เรลต่อวันและต่ำสุดอยู่ที่ 1.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน รายงานจากเว็บไซต์ TankerTrackers.com ระบุว่าอิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ 1.02 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤศจิกายนทั้งๆ ที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรอยู่ซึ่งก่อนที่จะมีการคว่ำบาตร อิหร่านเคยผลิตน้ำมันได้มากถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2021 ที่กำลังจะมาถึง อิหร่านก็ได้เตรียมพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแล้ว
ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดปัจจุบันทำให้อิหร่านมีแผนที่จะขายน้ำมันให้ได้มากถึง 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในเดือนมีนาคมปี 2021 และบริษัทผู้ผลิตน้ำมันประจำชาติของอิหร่านก็ต้องการทำเป้าให้สามารถผลิตน้ำมันได้มากถึง 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในอีก 20 ปีข้างหน้า สำหรับนักลงทุนแล้ว เรื่องในอีก 20 ปีข้างหน้าถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คำถามก็คือการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในปีหน้านี้จะส่งผลกับตลาดน้ำมันอย่างไรในปี 2021?
นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าในปีหน้าอิหร่านคงจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตามที่พูดจริงหลังจากที่ไบเดนขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว แต่เชื่อว่าการผลิตน้ำมันอย่างเต็มรูปแบบของอิหร่านจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจนกว่าจะถึงช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า ในช่วงครึ่งปีแรก อิหร่านก็ต้องการสำรวจความต้องการน้ำมันจากทั่วโลกอยู่เหมือนกัน ดังนั้นพวกเขาอาจจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตโดยที่ไม่ขัดสายตาของกลุ่มโอเปกมากไปนัก
2. การคว่ำบาตรเวเนซูเอลาของสหรัฐอเมริกา
Platts รายงานว่าตัวเลขการส่งออกน้ำมันของเวเนซูเอลาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีตัวเลขอยู่เพียง 430,000 บาร์เรลต่อวันทั้งๆ ที่โอเปกเคยบอกเอาไว้ว่าประเทศเวเนซูเอลาถือเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองเยอะที่สุดในโลก แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาไม่สามารถผลิตน้ำมัน และถูกบังคับให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติด้วย ในการหาเสียงของโจ ไบเดน เขาได้เคยพูดถึงเรื่องของเวเนซูเอลาว่าจะไม่มีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรให้กับประเทศนี้ซึ่งไม่อนุญาตให้เวนาซูเอลาสามารถส่งออกน้ำมันแต่ต้องรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ
ในช่วงต้นปี 2020 สหรัฐอเมริกาได้คว่ำบาตรบริษัท Rosneft (MCX:ROSN) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในเวเนซูเอลาและที่ผ่านมาก็ได้ผลิตน้ำมันขายอยู่ตลอด สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะบริษัท Rosneft ได้ขายสินทรัพย์เหล่านี้ให้กับรัฐบาลรัสเซียซึ่งหมายความว่าสหรัฐอเมริกามองประเด็นนี้เป็นภัยคุกคามของตน การคว่ำบาตรของอเมริกาครั้งนี้ส่งผลให้บริษัทกลั่นน้ำมันอย่างเช่น ENI (MI:ENI), Repsol (MC:REP) และ Reliance (NYSE:RS) ไม่สามารถกลั่นน้ำมันได้จนต้องหยุดกระบวนการผลิตน้ำมันดังกล่าว
สำหรับตอนนี้ นักลงทุนต้องรอดูท่าทีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าเขาจะดำเนินการอย่างไรกับเวเนซูเอลาหลังจากขึ้นมารับตำแหน่งแล้ว ตราบใดที่เรื่องการคว่ำบาตรนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เวเนซูเอลาก็ไม่อาจทำอะไรไปได้มากกว่านี้
3.ผู้ใช้งานน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก: ประเทศจีน
นับตั้งแต่ประเทศจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีระดับโลก ความต้องการน้ำมันของประเทศจีนก็เติบโตขึ้นและมีบทบาทสำคัญต่อตลาดน้ำมันในปี 2020 เป็นอย่างมาก การเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากจีนในช่วงสองเดือนแรกของปี 2021 จึงถือว่าสำคัญมากและจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดน้ำมัน
นอกจากนี้ประเทศจีนยังมีอีกแผนที่หวังว่าเพิ่มกำลังการนำเข้าน้ำมันอีก 100 ล้านบาร์เรลในปีหน้าหลังจากที่ได้เพิ่มแท็งค์สำหรับการเก็บน้ำมันเข้ามาและพร้อมใช้งานแล้วในปี 2021 รวมถึงเหล่าบริษัทโรงกลั่นกลั่นน้ำมันเอกชนที่ก็ได้เตรียมตัวแล้วเช่นกัน ข้อมูลเหล่านี้คือตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าประเทศจีนพร้อมแล้วที่จะรับมือกับความต้องการของประชาชนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า แน่นอนว่านี่คือข่าวดีสำหรับตลาดน้ำมันดิบ