ในการประชุมผ่านวิดีโอทางไกลของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก (OPEC) ในวันที่ 30 พฤศจิกายนมีปัญหาเล็กน้อยเมื่อการประชุมไม่สามารถหามติร่วมได้ ความขัดแย้งทางความเห็นดังกล่าวส่งผลให้ทางกลุ่มต้องเพิ่มวันการประชุม จากเดิมที่ควรจะจบลงในวันที่ 1 ธันวาคมแต่กว่าจะหาข้อสรุปได้ก็ต้องรอจนถึงช่วงค่ำของวันที่ 3 ธันวาคมตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ สถานการณ์ของราคาน้ำมันดิบมีการแกว่งเล็กน้อยในวันจันทร์ที่มีข่าวความขัดแย้งแต่ก็สามารถปรับตัวกลับขึ้นมาได้ในวันพุธเมื่อมีข่าวว่าการประชุมใกล้รู้ผลลัพธ์แล้ว
แม้ว่าตอนนี้การประชุมของกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัสจะได้ข้อสรุปแล้วว่าจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันวันละ 500,000 บาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปี 2021 เป็นต้นไป แต่ที่น่าสนใจก็คือว่าการที่ซาอุดิอาระเบียไม่สามารถกดดันประเทศสมาชิกได้เหมือนแต่ก่อนแปลว่าต้องมีการเติบโตของอำนาจบางอย่างที่ใหญ่พอที่จะไม่อนุญาตให้ซาอุดิอาระเบียทำอะไรได้ตามใจชอบอย่างเดิมซึ่งจะมีผลกระทบต่อนโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำมันของกลุ่มโอเปกในปี 2021 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้
ปัจจัยอะไรที่ฉุดรั้งการประชุมของกลุ่มโอเปกครั้งนี้เอาไว้?
ในการประชุมครั้งนี้มีความขัดแย้งกันในสองประเด็นหลักๆ หนึ่งคือกลุ่มโอเปกจะมีมาตรการควบคุมและลงโทษประเทศที่ผลิตน้ำมันเกินโควตาและชดเชยความผิดนั้นอย่างไรในอนาคต สองคือกลุ่มโอเปกพลัสควรจะมีนโยบายการบริหารจัดการน้ำมันในช่วงสามเดือนแรกของปี 2021 อย่างไรหรือควรที่จะใช้แผนค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตไปเรื่อยๆ ในช่วงสามเดือนแรก
นับตั้งแต่มีการเริ่มแหกกฏของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายเล็ก ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียมักจะทำตัวเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเด็กที่คอยควบคุมให้เด็กๆ อยู่ในร่องในรอย เด็กคนไหนดื้อหน่อยซาอุดิอาระเบียก็ลงโทษ และค่อยชดเชยด้วยการอนุญาตให้ผลิตน้ำมันเพิ่มภายหลัง ในช่วงเวลาหนึ่งมาตรการนี้ก็ได้ผลดี และเรียกความเชื่อมั่นของประชาคมโลกว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถดูแลน้ำมันของโลกได้ อย่างไรก็ตามในระยะหลังประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้เป็นจำนวนมากก็เริ่มที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎดังกล่าวอย่างเช่น อีรัก รัสเซีย โดยเฉพาะรัสเซียที่แม้จะทำตัวออกนอกลู่นอกทางแต่ซาอุดิอาระเบียก็ไม่กล้าลงโทษอย่างเด็ดขาด
อ้างอิงข้อมูลจาก Platts สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้ตั้งเงื่อนไขขึ้นมาว่าหากต้องการจะให้พวกเขาลงนามในการยืดระยะเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปอีก 3 เดือน กลุ่มโอเปกต้องสัญญาว่านับจากนี้ไปจะต้องมีมาตรการลงโทษประเทศที่แหกกฎอย่างจริงจัง ในเวลาเดียวกันสำนักข่าวบลูมเบิร์กก็รายงานว่าประเทศซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียมีความเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับการผลิตน้ำมัน ซาอุดิอาระเบียต้องการที่จะให้ยืดระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปจนถึงเดือนมีนาคมปี 2021 ในขณะที่รัสเซียต้องการให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันทีละเล็กละน้อยในช่วงระหว่างสามเดือนนั้น
เกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์?
แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รู้สึกหงุดหงิดกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก และกำลังพิจารณาที่จะออกจากกลุ่ม แต่ก็ดูเหมือนว่า UAE กำลังวางแผนที่จะใช้เงื่อนไขบางอย่างเจรจาต่อรองกับกลุ่มโอเปก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศ UAE เป็นประเทศที่ถือสิทธิ์สามารถดำเนินการใดๆ ในภูมิภาคที่เป็นอ่าวได้อย่างอิสระซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ UAE ได้เข้าร่วมการเจรจาอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐอเมริกา และองค์กรระดับสากลมาโดยตลอด จึงมีความเป็นไปได้ที่ UAE จะสามารถสร้างพลังงานนิวเคลียร์ของตัวเองได้เป็นครั้งแรก
เมื่อไม่นานมานี้ UAE ได้ทำข้อตกลงที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อขออยู่ในความสงบกับอิสราเอล และความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ UAE ได้เครื่องบินเจ็ตสู้รบมาจากอเมริกาด้วย เมื่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง UAE และอิสราเอลเริ่มขึ้น หมายความว่า UAE จะมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเงินทุนที่ไหลไปมา และการท่องเที่ยวระหว่าง UAE กับอิสราเอล
สำหรับกลุ่ม OPEC แล้วสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือว่ามีบทบาทกับกลุ่มเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา UAE เป็นผู้สนับสนุนซาอุดิอาระเบียทั้งในแง่ของการเงิน นโยบาย และการออกหน้าแทนซาอุดิอาระเบียในยามที่จำเป็นมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้นการถือกำเนิดขึ้นของกลุ่มโอเปกพลัสที่มีรัสเซียเป็นหัวหอกได้ในปี 2016 ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการโน้มน้าวของ UAE ด้วยเหตุผลเช่นนี้จึงทำให้ซาอุดิอาระเบียค่อนข้างที่จะเชื่อใจ และให้ความนับถือ UAE เป็นอย่างมากจนเรียกได้ว่า UAE นั้นเป็นอิสระจากทั้งกลุ่มโอเปก และโอเปกพลัส
การที่ UAE ต้องจำเป็นที่จะแสดงความเห็น และจุดยืนของตัวเองออกมาต่อหน้าที่ประชุมของกลุ่มโอเปกถือเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นใจทั้งในแง่ของการเมือง และการทูต แต่แทนที่จะเลือกมีปัญหากับกลุ่มโอเปกตรงๆ UAE กลับเลือกที่ฉวยโอกาสเพิ่มอำนาจ และอิทธิพลตัวเองที่มีต่อประเทศสมาชิกอื่นๆ ในแบบที่ซาอุดิอาระเบียก็ไม่สามารถทำได้และยังต้องเกรงใจอีกด้วย
ที่น่าสนใจก็คือว่าการออกหน้าครั้งนี้ของ UAE เกิดขึ้นหลังจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนาม ADNOC ประกาศเจอแหล่งขุดน้ำมันดิบใหม่ และได้รับการอนุมัติสัมปทานจากองค์กรสูงสุดด้านพลังงานให้สามารถลงทุนขุดน้ำมันด้วยวงเงิน $122,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้อีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่บริษัทอารัมโก (SE:2222) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันประจำชาติของซาอุดิอาระเบียพึ่งประกาศลดงบประมาณการค้นหาแหล่งผลิตน้ำมัน และประกาศขายบอนด์ต่างประเทศเพื่อรักษาเงินปันผลของตัวเองเอาไว้
แม้จะมีการวิเคราะห์ออกมาจากผู้เชียวชาญหลายๆ ท่านอย่างรัฐมนตรีผู้ดูแลน้ำมันของ UAE หรือบริษัทบีพีว่าตอนนี้ตลาดน้ำมันได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และภายใน 5 ปีข้างหน้าโลกอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน แต่ UAE ก็ไม่ได้สนใจคำเตือนเหล่านั้น และเลือกที่จะเดินหน้าขอเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทต่อการกุมตลาดน้ำมันโลก การวางแผนอันแยบยลนี้อาจทำให้ ADNOC ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทแถวหน้าของวงการน้ำมันในอนาคตอันใกล้
ความเคลื่อนไหวนี้มีความสำคัญต่อตลาดน้ำมันอย่างไร
นักลงทุนในตลาดน้ำมันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถวิเคราะห์เกมการเมืองระหว่าง UAE กับกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัสให้ออกว่า UAE มีทางใดบ้างที่จะก้าวขึ้นมาคานอำนาจระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นซาอุดิอาระเบียจะยังเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตน้ำมันเพราะพวกเขาสามารถผลิตน้ำมันได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสมาชิกอื่นๆ
ครั้งหนึ่งซาอุดิอาระเบียเคยแสดงแสนยานุภาพให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถทำอะไรกับตลาดน้ำมันโลกได้บ้าง หากยังจำกันได้ในช่วงต้นปีที่ซาอุดิอาระเบียเคยทะเลาะกับรัสเซียเรื่องลดกำลังการผลิตน้ำมัน ตอนนั้นซาอุดิอาระเบียตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 12 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้น้ำมันโลกล้นตลาดในขณะที่ปัจจุบัน UAE สามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 2.5 ล้านบาร์เรลเท่านั้น และสามารถกักเก็บน้ำมันได้ 4 ล้านบาร์เรล หากว่า UAE สามารถเพิ่มความสามารถในการเก็บน้ำมันของตัวเองขึ้นเป็น 5 ล้านบาร์เรลได้ UAE จะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันสองของกลุ่มโอเปก และเป็นอันดับสามรองจากรัสเซีย แต่ถึงกระนั้นความสามารถในการกักเก็บน้ำมันก็ไม่ใช่ประเด็นที่นำมาใช้ต่อรองกับซาอุดิอาระเบียได้
แล้ว UAE ต้องการยืนอยู่ในจุดไหนระหว่างกลุ่มโอเปก และโอเปกพลัส?
ความประสงค์แรกที่ UAE มีตอนนี้คือพวกเขาต้องการที่จะผลิตน้ำมันเพิ่มในขณะที่ซาอุดิอาระเบียต้องการลดกำลังการผลิตน้ำมัน UAE ต้องการที่จะเพิ่มความสามารถในการเก็บน้ำมันของตัวเองเพื่อที่จะสามารถขายน้ำมันได้มากขึ้น ประกอบกับโรงงานนิวเคลียร์ที่ตัวเองมีจะช่วยให้ UAE สามารถส่งออกน้ำมันได้เร็วกว่าการผลิต
ประการที่สอง UAE มีความได้เปรียบประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ในแง่ของการแบ่งชนชั้นของประชากรในประเทศที่มีความหลากหลายกว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดในตอนนี้จะทำให้บางภาคส่วนต้องประสบปัญหาอยู่บ้างเช่น อสังหาริมทรัพย์ แต่ UAE ก็ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ เช่นการเงิน การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการและการค้าระดับสากล
น้ำมันถือเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ UAE แต่ UAE ไม่ได้พึ่งพารายได้จากราคาน้ำมันที่ต้องมีราคาแพงเท่านั้นเหมือนกับซาอุดิอาระเบีย และหากพูดถึงขนาดของเศราฐกิจแล้วต้องบอกว่าขนาดเศรษฐกิจของ UAE มีขนาดใหญ่กว่ารัสเซียเสียอีก ดังนั้นการขยายอำนาจของ UAE จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มโอเปกจนอาจถึงขั้นที่ทั้งสองกลุ่มจำเป็นต้องแย่ง UAE มาเป็นพันธมิตรให้ได้เพื่อดึงเกมแห่งอำนาจนี้เข้ามาอยู่ในมือของกลุ่มตนเอง