- ดัชนีหลักทั้ง 4 ของสหรัฐฯ ล้วนแล้วแต่ปรับตัวสูงขึ้นสร้างสถิติใหม่กันทั่วหน้า
- ดอลลาร์ยังคงอ่อนมูลค่าลงต่อเนื่อง
ถ้าจะให้พูดอย่างสั้นๆ ให้ได้ใจความที่สุดก็ขอบอกเลยว่าสัปดาห์นี้ความผันผวนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยที่เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝั่งปัจจัยเชิงลบจะเกิดผลกระทบ เมื่อตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อแตะ 200,000 คนต่อวันได้สำเร็จในขณะที่ฝั่งข่าวดีคือความคืบหน้าเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับวัคซีนทั้งจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทอื่นๆ
เมื่อวันศุกร์ที่แล้วดัชนี S&P 500 และ Russell 2000 ต่างสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้เมื่อนักลงทุนนำเงินมาลงทุนกับหุ้นวัฎจักรมากขึ้น ในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะจับตาดูกันต่อว่าวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ (NYSE:PFE) และพาร์ทเนอร์ของเขาจะสามารถได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ นี่คือสองปัจจัยหลักๆ ที่จะแข่งกันอย่างดุเดือดเพื่อชิงการครอบครองแนวโน้มหลักในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สัปดาห์นี้
นักลงทุนกล้ารับความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อการลงทุนกระจายไปอยู่กับหุ้นวัฎจักรมากขึ้น
นอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะสามารถทำผลงานขาขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่แล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกหลักๆ อย่าง DAX ของเยอรมัน FTSE 100 ของสหราชอาณาจักรและ Nikkei 225 ของญี่ปุ่นต่างก็สามารถปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกันได้ทั้งหมด บนความหวังเดียวกันคือความใกล้ที่จะได้เห็นวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว สิ่งที่นักลงทุนตัดสินใจทำทันทีคือกล้าที่จะเสี่ยงกลับไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานเนื่องจากพิษโควิดเช่นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงพยาบาล และธนาคาร นี่คือการกระทำที่ราวกันว่าพวกเขาพร้อมจะเสี่ยงเป็นผู้โชคดีแล้วหากวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพต้านโควิดได้จริง
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะเป็นใจให้กับหุ้นวัฎจักรด้วย นี่อาจเป็นช่วงเวลาให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่แบกผลงานขาขึ้นของตลาดหลักทรัพย์มาตลอดทั้งปีได้มีโอกาสพักบ้างในขณะที่นักลงทุนกำลังใช้เงินไปกับการซื้อหุ้นวัฎจักรทั้งบริษัทเล็กใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และที่อื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามเราก็อยากจะขอย้ำกับนักลงทุนของเราอืกครั้งว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังต้องใช้เวลากว่าวัคซีนจะไปถึงมือทุกคนได้ทั่วโลกเช่น การทดลองใช้จริงในขั้นแรก การแจกจ่ายออกสู่ประชาชนชาวอเมริกัน การขนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อให้มีภูมิต้านทานในระดับเดียวหรือใกล้เคียงกันหมด สำหรับตอนนี้ยังมีอีกหลายคำถามที่บริษัทไฟเซอร์เองก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้
อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้คือสถานการณ์หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้บางรัฐจะยังมีการนับคะแนนอยู่และมีหลายรัฐที่ยังเป็นที่กังขาเกี่ยวกับการนับคะแนนผ่านจดหมาย ตลาดหุ้นก็แทบจะปักใจเชื่อไปแล้วว่าการบริหารในปี 2021 ต่อจากนี้จะเป็นพรรคเดโมแครตที่ได้ทำเนียบขาว และสภาล่างไปในขณะที่พรรคลีพับลิกันได้สภาสูง หมายความว่ากฎหมายภาษีในยุคของทรัมป์อาจจะสามารถอยู่ต่อไปได้ซึ่งอาจถือเป็นข่าวดีสำหรับบริษัทเอกชนในประเทศ ข่าวที่นักลงทุนควรติดตามเพราะอาจจะเปลี่ยนที่นั่งในสภากันได้คือการเลือกตั้งในวันที่ 5 มกราคมปี 2021 ที่จะเป็นการแข่งขันแย่งที่นั่งกันระหว่างตัวแทนทั้งสองพรรคในรัฐจอร์เจีย หากเดโมแครตชนะพวกเขาจะสามารถเปลี่ยนทิศทางการควบคุมสภาในยุคของไบเดนได้ทันพิธีการรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมปี 2021
เรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่นักลงทุนยังต้องจับตาดูคือความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สองที่จะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นตามยอดผู้ติดเชื้อ หากมีข่าวร้ายใดๆ เกี่ยวกับการเมืองที่ส่งผลให้ต้องเลื่อนการเจรจาออกไปจนถึงเดือนมกราคมหรือนานกว่านั้นจะยิ่งทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดผันผวนมากยิ่งกว่าเดิม ในสัปดาห์ที่แล้วนักลงทุนยังไม่ได้สนใจปัญหาในภาพรวมเท่าไหร่ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ดัชนีหลักอย่าง Russell 2000 และ S&P 500 ขึ้นไปไปสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลได้ ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์สามารถกลับขึ้นไปใกล้ถึงระดับเดียวกันก่อนที่จะร่วงลงมาเพราะโควิด เหลืออีกเพียง 0.3% เท่านั้นก็จะสามารถแตะจุดสูงสุดตลอดกาลเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ได้
มีเพียง NASDAQ Composite และ NASDAQ 100 เท่านั้นที่ดูเหมือนว่าจะทำผลงานแผ่วลงมาซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะอย่างที่ได้บอกไปว่านักลงทุนมีความกล้ามากขึ้นจึงโยกเงินออกจากหุ้นเทคโนโลยีกระจายความเสี่ยงไปยังกลุ่มอื่น มีเพียงหุ้นของบริษัทซูม (NASDAQ:ZM) เท่านั้นที่ยังทำผลงานได้ดีจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนมาเป็นทำงานอยู่ที่บ้าน ตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้นหุ้นของซูมก็ทำผลงานขาขึ้นได้อย่างถล่มทลาย 600% อย่างไรก็ตาม การเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็ทำให้หุ้นของซูมปรับตัวลดลงมาเมื่อวันศุกร์ 5.85% ด้วยเช่นกัน
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคพบว่าตอนนี้หุ้นซูมได้ยืนยันการเป็นรูปแบบหัวไหล่ขาลง (Head & Shoulder) เรียบร้อย
หุ้นของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญก็มีหุ้นดิสนีย์ (NYSE:DIS) ที่ปรับตัวขึ้น 2.1% หลังจากการรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ หุ้นของบริษัทคอมพิวเตอร์ซิสโก (NASDAQ:CSCO) ปรับตัวขึ้น 7% ในขณะที่หุ้นของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (NASDAQ:TSLA) ปรับตัวลดลง 0.8% เมื่อ CEO ของบริษัทประกาศว่าเขาอาจติดโควิด-19
กราฟพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสูงสุดใหม่นับตั้งแต่จุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม
แม้จะย่อตัวลงมาจากจุดสูงสุดในรอบสัปดาห์ แต่นี่ถือเป็นขาขึ้นของกราฟดังกล่าวจากสามในสี่สัปดาห์ล่าสุด ในขณะที่กราฟผลตอบแทนฯ ดูจะเริ่มทรงตัวในขาขึ้นได้แต่กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐกลับดูเหมือนว่าพร้อมจะลงต่อแล้วเมื่อราคาสามารถสร้างจุดปิดที่ต่ำกว่าเส้นเทรนด์ไลน์ด้านล่างของสามเหลี่ยมสมมาตรได้
เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลงก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ทองคำจะสามารถปรับตัวสูงขึ้น
จากพฤติกรรมล่าสุดของทองคำที่ร่วงลงมาเพราะข่าวดีจากไฟเซอร์ทำให้เราสามารถพิจารณาทองคำว่าวิ่งอยู่ในรูปแบบลิ่มลู่ลง (Falling Wedge) ได้ หากกราฟสามารถทะลุกรอบนี้ขึ้นไปได้เมื่อไหร่ก็สามารถพิจารณาว่าเป็นการกลับมาของขาขึ้นได้ทันที
ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงเป็นวันที่สามติดต่อกัน
ขาลงครั้งนี้คือสัญญาณยืนยันความสามารถในการโน้มน้าวนักลงทุนจากรูปแบบดาวตก (Shooting Star) ได้เมื่อราคาขึ้นไปทดสอบแนวต้าน เป็นไปได้ว่าราคาอาจกลับลงไปทดสอบแนวรับที่ $35 อีกครั้งและอาจลงไปไกลกว่าเดิม
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EST)
วันอาทิตย์
18:50 (ญี่ปุ่น) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะออกมาที่ 4.4% ดีกว่า - 7.9% ของครั้งก่อน
21:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจาก 6.9% เป็น 6.5%
วันจันทร์
08:00 (ยูโรโซน) แถลงการจากประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB)
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานการประชุมจากธนาคารกลางออสเตรเลีย
วันอังคาร
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 1.5% เป็น 0.6%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 1.9% เป็น 0.5%
09:00 (สหราชอาณาจักร) แถลงการณ์จากผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI): คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.6%
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI): คาดว่าจะคงที่อยู่ ณ 0.3%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการอนุญาตก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.545M เป็น 1.560M
08:30 (แคนาดา) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 1.0% เป็น 0.9%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะลดลงจาก 4.278M และ -0.913M
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขการการจ้างงาน: คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจาก -29.5K เป็น -30.0K
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 709,000 คนเป็น 716,000 คน
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดเฟีย: คาดว่าจะลดลงจาก 32.3 เป็น 24.0
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง: คาดว่าจะลดลงจาก 6.54M เหลือ 6.45M
10:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจาก -1.1% เป็น -1.5%
วันศุกร์
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 1.5% เป็น 0.1%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดขายปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.9%