เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ฉันได้วิเคราะห์เอาไว้เกี่ยวกับสามปัจจัยหลักๆ อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯและข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินอย่างไรบ้างซึ่งผลที่ออกมาก็คือดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ยกเว้นแต่ปอนด์สเตอร์ลิง อย่างไรก็ตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเดือนตุลาคมในหลายๆ ประเทศกลับไม่ได้ชะลอตัวอย่างที่คาดการณ์ สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนค่อนข้างมาก
ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมันออกมาดีขึ้นอย่างชัดเจนซึ่งช่วยหักล้างความเสียหายจากตัวเลขในภาคบริการที่ออกมาต่ำกว่าคราวก่อนและตัวเลขคาดการณ์ได้ ในขณะที่ของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ตัวเลขในภาคการผลิตและบริการถือว่าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะภาคบริการสามารถช่วยชดเชยตัวเลขของภาคการผลิตได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าสถานการณ์ที่ดีเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับทุกประเทศเพราะหากดูที่ประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นแต่ภาคบริการกลับลดลง มีเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ตัวเลขทั้งสองออกมาชะลอตัว ทำไมตัวเลข PMI ของภาคการผลิตและบริการถึงสำคัญนักถึงขนาดต้องมาแจงดูของแต่ละประเทศไป? เพราะตัวเลขทั้งสองสามารถบอกผลกระทบจากโควิด-19 รอบที่สองในประเทศเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งสาเหตุที่นักลงทุนควรรู้ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้เอาไว้ก่อนเพราะสัปดาห์นี้จะมีการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ตลาดกำลังให้ความสนใจกับท่าทีของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ซึ่งเชื่อกันเหลือเกินว่าจะต้องมีการผ่อนคลายการเงินนโยบายก่อนสิ้นปี 2020 แม้ว่าดัชนี PMI ในภาพรวมของยูโรโซนจะชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังวิ่งกลับเข้าไปสู่การหดตัวอีกครั้ง แต่ข่าวข้อมูลตัวเลขที่ดีขึ้นในวันพฤหัสบดีก็ดีพอที่จะทำให้ตลาดคลายความกังวลและทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นได้ชั่วคราว กราฟ EUR/USD ไม่เพียงแค่สามารถขึ้นไปจนเกือบสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบหนึ่งเดือน แต่ยังเป็นคู่สกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดของวันศุกร์ด้วย
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือตลาดพยายามทำเป็นเหมือนกับไม่สนใจข่าวโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในยุโรปจนเกือบจะควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็พยายามที่จะทำทุกอย่างให้ไม่ต้องประกาศเป็นการล็อกดาวน์แบบสมบูรณ์แต่ใช้มาตรการเข้มงวดและเคอร์ฟิวแทน หากท่าทีของนางคริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB ในสัปดาห์นี้ไม่แสดงความเป็นกังวลประกอบกับนักลงทุนที่หนีออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งก็มีโอกาสให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์
ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ก็มองว่าการเงินนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางแคนาดา (BoC) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ BoJ อาจปรับลดความช่วยเหลือในการเข้าไปอุ้มธุรกิจของธนาคารกลางลง สถานการณ์ของสหราชอาณาจักรยังไม่ดีขึ้นและอาจจะค่อนไปทางแย่ลงเพราะนอกจากตัวเลข PMI ในภาคการผลิตและบริการของวันพฤหัสบดีจะออกมาชะลอตัวแล้ว ตลาดก็เริ่มเบื่ิอหน่ายและหมดหวังกับการเจรจา Brexit ซึ่งนั่นทำให้สกุลเงินปอนด์อาจจะเริ่มอ่อนมูลค่าลง
เมื่อบินข้ามทวีปกลับมายังสหรัฐอเมริกา นางแนนซี่ เพโลซี่ก็ยังให้ความหวังกับตลาดต่อไปโดยกล่าวเหมือนเปิดประตูนิดๆ เอาไว้ว่ามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจอาจจะได้เห็นก่อนการเลือกตั้งหากว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หนุนเรื่องนี้อีกนิด แต่ตลาดดูเหมือนว่าจะเชื่อคำพูดของนายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมากกว่าที่บอกว่า “ยังมีช่องว่างของความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นเงินเยียวยาเปิดกว้างอยู่อย่างมีนัยสำคัญ” ที่สำคัญกว่านั้นหากมองตามความเป็นจริงแล้วตอนนี้คือสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจากข้อมูลโพลหลายสำนักบอกตรงกันว่าโจ ไบเดนมีคะแนนนิยมมากกว่าทรัมป์ แล้วเขาจะมีเวลามาสนใจเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ถึงกระนั้น หากดูพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นกับตลาดฟอเร็กซ์จะเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในขณะที่ตลาดหุ้นรอข่าวดีเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแต่นักลงทุนฟอเร็กซ์พร้อมที่จะสลับไปมาระหว่างดอลลาร์กับยูโรอยู่เสมอ แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐฯ จะยังเพิ่มสูงขึ้นแต่สหรัฐฯ กลับไม่ได้คุมเข้มหรือมีมาตรการใหม่เหมือนกับในยุโรปซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยและสร้างความแตกต่างให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองทวีป ยิ่งใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ามามากเท่าไหร่ สิ่งที่นักลงทุนต้องพึงระวังเอาไว้ในสัปดาห์นี้คือความผันผวนจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น