เมื่อวานนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยได้แรงหนุนมาจากคำแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ต่อสภาคอนเกรส แม้ตัวเขาจะอธิบายว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงแต่ “หนทางการฟื้นตัวต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมไวรัสและประสิทธิภาพของนโยบายจากรัฐบาล” สิ่งที่น่าสนใจคือในแถลงการณ์ครั้งนี้ประธานเฟดพูดถึงโคโรนาไวรัสน้อยลงเพราะนโยบายทางการเงินต่างๆ ประธานเฟดก็ได้วางไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดมีความเคลื่อนไหวได้มากกว่าคือคำพูดของประธานธนาคารกลางแห่งชิคาโกนายชาร์ล อีวานส์ที่บอกว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สามารถกลับมามีสภาพเหมือนก่อนโควิดประมาณ 90% แล้ว ที่สำคัญเขายังบอกอีกด้วยว่าเฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะขึ้นถึงค่าเฉลี่ย 2%
ประธานธนาคารกลางริชมอนต์นายโทมัส บาร์กินเห็นด้วยกับคำพูดของนายเจอโรม พาวเวลล์ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมไวรัสแต่เขาก็ยังเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า “การจับจ่ายใช้สอยจะกลับมาเร็วกว่าอัตราการจ้างงาน” คำพูดนี้คือเหตุผลหลักที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและเป็นที่ต้องการมากขึ้นเมื่อคืน นอกจากนี้ดัชนีภาคการผลิตของภูมิภาคริชมอนต์ก็ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสองเพิ่มขึ้น 2.4% ตามคาด สิ่งที่นักลงทุนต้องจับตากันต่อสำหรับดอลลาร์ในวันนี้คือแถลงการณ์ต่อสภาคอนเกรสของเฟดซึ่งวันนี้จะเป็นแถลงการณ์วันที่ 2 และพาดหัวข่าวสำคัญๆ จากวอร์ชิงตัน
การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐทำให้สกุลเงินอย่างปอนด์ ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์แคนาดาวิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในรอบหนึ่งเดือนส่วนเงินยูโรร่วงลงสู่ต่ำสุดในรอบสองเดือน แต่หากเทียบกับเป็นเปอร์เซนต์แล้วดอลลาร์ออสเตรเลียคือสกุลเงินที่อ่อนมูลค่ามากที่สุด อย่างไรก็ตามความสนใจของนักลงทุนตอนนี้อยู่ที่สกุลเงินยูโรเพราะข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบที่สองในยุโรปนั้นดูน่าเป็นห่วงมากขึ้นจนนางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ต้องขอคืนคำพูดที่เชื่อมั่นในสกุลเงินยูโรก่อนหน้านี้กลับไป ตอนนี้ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว เรายังคงเชื่อว่ากราฟ EUR/USD จะลงไปถึงเป้า 1.15 ตามที่ได้วิเคราะห์เอาไว้เมื่อวานแต่ความเร็วในการลงมาถึงเป้านี้นั้นจะเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับตัวเลขดัชนี PMI ของยูโรโซนในวันนี้ เชื่อว่าถ้าตัวเลขภาคการผลิตและบริการในเดือนกันยายนออกมาชะลอตัวก็เตรียมรอดูกราฟยูโรเทียบดอลลาร์ที่ 1.15 ได้เลย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสองทำร้ายสกุลเงินปอนด์เป็นอย่างมากจนนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันต้องออกมาประกาศบังคับใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมใหม่ที่อาจกินระยะเวลานานถึงหกเดือน งานที่สามารถทำที่บ้านได้ก็ให้ทำที่บ้าน ใครที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยจะต้องถูกลงโทษและห้ามจับกลุ่มกันเกิน 6 คน พับ บาร์ ร้านอาหารต้องปิดไม่เกิน 22 นาฬิกาและการรับชมกีฬาในสนามก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ตอนนี้ธุรกิจเล็กๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่แล้วยิ่งต้องมาเจอมาตรการแบบนี้ซ้ำเข้าไปถึงหกเดือนยิ่งทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่ามองไปทางไหนปอนด์ก็มีแต่ความเสี่ยงที่จะอ่อนมูลค่าลงทั้งเรื่องโควิดกลับมาและการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่ทำข้อตกลงใดๆ ดังนั้นการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ในสัปดาห์หน้าของสหราชอาณาจักรจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากเพราะตัวเลขนี้จะบอกนักลงทุนให้ได้ทราบว่าปอนด์จะแข็งค่าหรืออ่อนค่าลง
สกุลเงินที่มีมูลค่าพึ่งพากับสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลักทั้งสามยังคงอ่อนมูลค่าลงอย่างต่อเนื่องโดยมีดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นผู้นำ แม้จะยังไม่มีรายงานตัวเลขสำคัญสำหรับสกุลเงินทั้งสามแต่ความตึงเครียดทางความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียยังเป็นปัจจัยที่ทำให้คนยังไม่อยากถือดอลลาร์ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์พึ่งจะมีการประชุมของธนาคารกลางไปเมื่อเช้านี้ ข้อมูลก่อนการประชุมระบุว่าแม้นิวซีแลนด์จะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการโควิด-19 แต่ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนยังไม่อยู่ในเกณฑ์ดี ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ความเชื่อมั่นในภาคการผลิตและบริการของผู้บริโภคก็ชะลอตัวแม้ว่าความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจจะดีขึ้น ถึงจะดีขึ้นเพียงใดแต่ผลการประชุมที่ออกมาก็ไม่ได้ทำให้ทิศทางการวิ่งของกราฟ NZD/USD เปลี่ยนไปจากขาลงแม้ว่าจะสามารถดีดกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดล่าสุดได้ก็ตาม ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมที่ 0.25% เป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันและยังคงขนาดของเงินช่วยเหลือเศรษฐกิจ (QE) เอาไว้ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ RBNZ เผยว่าความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะลงไปจนอยู่ในระดับติดลบยังมีอยู่