อย่างไรก็ตามการลงความเห็นของคณะกรรมการในครั้งนี้คะแนนเสียงไม่ได้เทไปทางเดียวกันหมด มี 2 จาก 9 คนที่มีความเห็นขัดแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ นายโรเบิร์ต แคปเลน (Robert Kaplan) ต้องการให้นโยบายทางการเงินมี “ความยืดหยุ่น” มากกว่านี้เมื่ออัตราการจ้างงานและเงินเฟ้อขึ้นถึงเป้าที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ นายนีล แคชคาริ (Neel Kashkari) ต้องการให้มีแผนการรองรับที่ชัดเจนกว่านี้เพื่อเป็นการยืนยันจะไม่มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจนกว่าอัตราเงินเฟ้อสามารถขึ้นได้ถึง 2% จากการแสดงแผนภาพแบบจุด (Dot Plot) ชี้ให้เห็นว่าผู้วางนโยบาย 13 จาก 17 คนมองว่าอัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับเกือบ 0% ไปจนเกินปี 2023 มี 1 คนที่เห็นต่างมองว่าสามารถปรับขึ้นได้ภายในปี 2022 และอีก 3 คนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่เกือบ 0% ไปจนถึงปี 2023
สรุปก็คือว่าผู้วางนโยบายและคณะกรรมการภายในธนาคารกลางสหรัฐฯ เชื่อว่าจะไม่ได้เห็นอัตราเงินเฟ้อขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้จนกว่าจะถึงปี 2023 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ได้ออกมาขยายความถึงแผนการคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเอาไว้ในระยะยาวว่า “อาจจะยังมีความจำเป็นที่ต้องอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบอีก เพราะถ้าหากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วเกรงว่าเศรษฐกิจอาจจะยังต้องเผชิญความเสี่ยงในด้านลบอยู่”
ถึงแม้ว่าตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะขึ้นมาได้เพียง 0.6% ซึ่งไม่ถึงเป้าที่นักวิเคราะห์วางเอาไว้ที่ 1% แต่ผลกระทบจากข่าวนี้ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับดอลลาร์มากนัก สิ่งที่ประชาชนชาวอเมริกันเป็นกังวลมากกว่าคือการหมดเวลาของเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ถึงก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะได้ลงนามในคำสั่งพิเศษอนุญาตให้มอบงดชดเชยผู้ตกงาน $300/สัปดาห์ แต่บางรัฐอย่างนิวยอร์กไม่สามารถยืดระยะเวลาไปได้ไกลกว่า 6 สัปดาห์นับจากสิ้นเดือนสิงหาคม เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งความช่วยเหลือนี้ก็ต้องจบลง ถึงจะเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ วิ่งขึ้นสนุกสนานกันมากขนาดไหนแต่กลับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากนี้เราจะได้เห็นตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคซึมยาวไปอีกหลายเดือน
สำหรับตอนนี้นักลงทุนยังคงดีใจกับแถลงการณ์จากเฟดในครั้งนี้และข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เชื่อว่าลอตแรกของวัคซีนที่ผลิตได้จะสามารถออกสู่ตลาดได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ภาครัฐอนุญาตโดยที่วัคซีนจะไปยังภาคแรงงานและกลุ่มคนที่ต้องการยาต้านไวรัสจริงๆ ก่อน ข้อมูลจาก CDC เผยว่าวัคซีนจะสามารถไปถึงมือชาวอเมริกันทุกคนได้อย่างเร็วที่สุดภายในต้นไตรมาสที่ 2 - ไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ข่าวดีเช่นนี้ละที่ทำให้ดอลลาร์ยังแข็งค่าได้แม้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน อนึ่ง นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขผลสำรวจจากธนาคารกลางฟิลาเดเฟียและตัวเลขที่อยู่อาศัยที่จะประกาศในวันนี้จะเป็นตัวเลขที่ดีขึ้น
วันนี้เรามีการประกาศนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางของอีก 2 ประเทศที่ต้องจับตามองหนึ่งคือธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่ได้ทราบผลกันไปแล้วและธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) นักวิเคราะห์คาดว่าผลการประชุมของทั้งสองธนาคารจะไม่แตกต่างไปจากของเฟดมากนักซึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่เราได้ทราบตัวเลขคงเดิมไปแล้วที่ -0.10% ส่งผลต่อตลาดน้อยมาก เพราะข้อมูลตัวเลขก่อนหน้านี้ของญี่ปุ่นของออกมาอยู่ในระดับที่ดีอยู่แล้วดังนั้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงมีเรื่องอื่นที่มีความสำคัญมากกว่าต้องจัดการก่อน ส่วนทางฝั่งของสหราชอาณาจักรนักวิเคราะห์มีความกังวลกับการประชุมครั้งนี้มากกว่าการประชุมในเดือนสิงหาคมเล็กน้อย อัตราการเติบโตของตัวเลขยอดขายปลีกชะลอตัว ดัชนีราคาผู้บริโภคก็ชะลอตัวอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีและค่าจ้างแรงงานก็ลดลงด้วย แม้ว่าตัวเลขในภาคแรงงานและบริการจะฟื้นตัวดีขึ้นแต่ก็ยังต้องเจอความเสี่ยงกับข้อตกลง Brexit ที่ดูเหมือนว่าอาจจะได้ออกมาโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดๆ เพิ่มเติม ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรถือว่าอยู่ในระดับสูง
คณะกรรมการผู้วางนโยบายทางการเงินมีมติ 9 ต่อ 0 เสียงให้คงนโยบายการเงินเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือนต้นเดือนการแสดงความเห็นจากผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งอังกฤษนายแอนดรูว์ ไบลีย์ (Andrew Bailey) ดูเหมือนว่าจะมีความมั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจลดลง เขาอธิบายว่าภาพการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคไม่สอดคล้องกับตัวเลขการลงทุนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ หนึ่งในขณะกรรมการนายเดฟ แรมส์เดน (Dave Ramsden) และไมเคิล ซันเดอร์ (Michael Saunders) มีความเห็นตรงกันว่า BoE สามารถเพิ่มเงิน QE ได้อีกหากว่าจำเป็น การประชุมของ BoE ในวันนี้จึงน่าสนใจว่าไบลีย์จะเห็นด้วยกับความเห็นของทั้งสองคนนี้หรือไม่ซึ่งหาก BoE ตัดสินใจตามความเห็นดังกล่าวการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของกราฟ GBP/USD ก็จะจบลง