ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทำขาขึ้นมาตั้งแต่จุดต่ำสุดเดือนมีนาคมกำลังคืนเงินปันผลให้นักลงทุนที่เชื่อในตลาดกระทิงอย่างมหาศาล หุ้นที่สังกัดอยู่ในดัชนีรัสเซล 2000 ที่ใช้วัดผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดเล็กกำลังแสดงผลงานที่แตกต่างออกไปจากดัชนีหลักตัวอื่นๆ ตามตารางที่ปรากฎด้านล่าง
จากรูปมีสิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านสามารถเห็นได้ชัดมากคือความขัดแย้งที่เกิดในตัวดัชนีรัสเซล 2000 เอง แม้รัสเซล 2000 จะเป็นดัชนีที่ทำผลงานการวิ่งได้ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจาก NASDAQ แต่ตัวเลข YTD ของดัชนีกลับติดลบมากที่สุดเมื่อเทียบกับดัชนีตัวอื่นๆ
เร็วๆ นี้เราหวังว่าจะได้เห็นดัชนีรัสเซล 2000 สามารถทำได้เหมือนอย่างเช่นที่ดัชนีดาวโจนส์ทำไปแล้วนั่นก็คือการหลุดแนวต้านที่ 28380 จุดขึ้นไปและยังสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เราหวังให้รัสเซล 2000 สามารถปิดช่องว่างระหว่างราคาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลงให้ได้ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นต่อ
อ้างอิงข้อมูลจากนาง Lori Calvasina หัวหน้านักวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก RBC Market วิเคราะห์ว่า “ตอนนี้คือโอกาสที่ดีที่ยังไม่ค่อยมีใครเห็นความเคลื่อนไหวสำคัญของดัชนีรัสเซล 2000 เนื่องจากทุกคนหันไปสนใจหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกันหมด ขาขึ้นในรัสเซล 2000 นี้ถือเป็นขาขึ้นครั้งสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ดัชนีตัวนี้กลายเป็นดาวเด่นขึ้นมาในปี 2021”
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วเราค่อนข้างเห็นด้วยกับการวิเคราะห์แนวโน้มขาขึ้นในรัสเซล 2000 ของเธอ
หากพิจารณาแท่งเทียน 3-4 แท่งล่าสุดที่ปรากฎบนกราฟดัชนีรัสเซล 2000 จะพบว่ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นคือมีแท่งเทียนรูปแบบดาวตก (Evening Star) เกิดขึ้นตามด้วยแท่งเทียนยืนยันขาลงอย่างคนแขวนคอ (Hanging Man) แม้จะเป็นความพยายามของขาลงที่ดีแต่ทั้งหมดนั้นก็ถูกปฏิเสธโดยแท่งเทียนขาขึ้นที่สามารถวิ่งได้ 1.9% ในแท่งเดียว
อีกหนึ่งสัญญาณยืนยันขาขึ้นคือรูปแบบพฤติกรรมการวิ่งของราคาโดยรวมที่เกิดเป็นรูปแบบธงลู่ลงหลังจากก่อนหน้านั้นดัชนีทำขาขึ้นมาทีเดียว 8 วันติดคิดเป็น 10% ขาขึ้น 10% นี้เกิดขึ้นหลังจากราคาลงไปดีดกับเส้นแนวค่าเฉลี่ย 50 วันที่อยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันซึ่งกำลังตัดกันเพื่อเปลี่ยนแนวโน้มพอดี สร้างเป็นขาขึ้นที่สูงชันเหมือนเสาธง (Flagpole) ยิ่งเสาธงนี้เกิดขึ้นจากการลงมาชนเส้นค่าเฉลี่ยกับกรอบราคาขาขึ้นยิ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นไปได้ของแนวโน้มขาขึ้นมากขึ้นไปอีก
เหตุผลที่กราฟสามารถตั้งตรงดิ่งขึ้นไปเป็นขาขึ้นได้เกิดจากบริเวณนั้นคือจุดที่นักลงทุนก่อนหน้าที่ออกไปเพราะต้องการทำกำไรกลับเข้ามาพอดี ไม่มีจุดเข้าต่อเนื่องใดในระหว่างนั้นที่สวยไปกว่าการดักเข้าที่เส้นค่าเฉลี่ยที่กำลังจะตัดกันและบริเวณส่วนล่างของกรอบเทรนด์ไลน์ขาขึ้นและการที่เกิดกรอบรูปธงเกิดขึ้น ณ บริเวณใกล้กับเส้นเทรนด์ไลน์ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ว่าขาขึ้นแบบเสาธงอาจจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง
หากว่าการวิเคราะห์นี้ถูกต้องขาขึ้นครั้งนี้จะสามารถวิ่งขึ้นได้อีกอย่างน้อย 146 จุดโดยอ้างอิงมาจากจุดต่ำสุดของรูปแบบเสาธงขึ้นไปจนถึงปลายยอดของเสาธง
กลยุทธ์การเทรด
เทรดเดอร์ที่ไม่ชอบความเสี่ยง จะรอให้ราคาสามารถทะลุขึ้นจนสามารถขึ้นไปถึงตัวเลข 1,603.60 หรือสูงเกิน 3% ขึ้นไปจากจุดที่ทะลุกรอบออกมาเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่การทะลุหลอก จากนั้นจะรอให้ราคาย่อกลับลงมาก่อนที่จะวางคำสั่งขายตามแท่งเทียนยืนยันขาขึ้น
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง คิดเหมือนกันกับเทรดเดอร์ที่ไม่ชอบความเสี่ยงแต่จะรอการทะลุขึ้นเพียง 2% เท่านั้น
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้สูง จะเสี่ยงลองวางคำสั่งซื้อในตอนนี้ทันทีเพื่อให้ได้จุดเข้าที่ดีกว่าคนอื่น สาเหตุที่นักลงทุนกลุ่มนี้ตัดสินใจเข้าก่อนกลุ่มอื่นๆ เพราะรู้ว่ารูปแบบธงขาลงเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะตามมาด้วยขาขึ้นเสมอ
ตัวอย่างการเทรด (สำหรับขาขึ้น)
- จุดเข้า: 1,550
- Stop-Loss: 1,530
- ความเสี่ยง: 20 จุด
- เป้าหมายในการทำกำไร:1,650
- ผลตอบแทน: 100 จุด
- อัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทน: 1:5