รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนมูลค่าลงด้วย แม้สัปดาห์ที่แล้วจะไม่มีข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญมากนักแต่สัปดาห์นี้ตลาดลงทุนสหรัฐฯ จะมีหลายข่าวให้จับตามองเช่นตัวเลขยอดขายปลีก ดัชนีภาคการผลิตจากเอ็มไพร์ สเตตและของธนาคารกลางฟิลาเดเฟีย ดัชนีวัดบรรยากาศทางเศรษฐกิจจากผู้บริโภคโดยมหาลัยมิชิแกนและรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ในมุมมองของดิฉันเชื่อว่าตัวเลขยอดขายปลีกของเดือนมิถุนายนจะดีขึ้นเพราะการกลับมาเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาแต่ตัวเลขภาคการผลิตและบรรยากาศทางเศรษฐกิจจากผู้บริโภคจะสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินการภายใต้ความเข้มงวดของกฏหมายควบคุมโควิด-19
แม้สัปดาห์นี้จะมีข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจเยอะแต่ภาพรวมที่ตลาดหุ้นวิ่งไปคนละทางกับความเป็นจริงและจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจะยังเป็นปัจจัยที่มีบทบาทกับตลาดหุ้นและตลาดฟอเร็กซ์ต่อไป ผลงานการวิ่งของสกุลเงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์คือตัวอย่างที่ชัดที่สุดแล้วว่าหากจริงจังกับการจัดการโควิดก็จะสามารถทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจและสกุลเงินของตัวเองแข็งแกร่งขึ้นได้ ยูโรโซนที่เดือนมีนาคมเคยถูกตราหน้าว่าเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแต่ตอนนี้กลับไม่มีสัญญาณการแพร่เชื้อในรอบที่ 2 เลยแถมยังเริ่มอนุญาตให้บางประเทศสามารถบินเข้ามายังยุโรปได้แล้ว ส่วนสหราชอาณาจักรนั้นการแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่คือความหวังของนักลงทุนว่าจะสามารถช่วยเหลือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวได้
ถึงแม้ว่าบางประเทศจะสามารถควบคุมโควิด-19 ได้อยู่หมัดแต่ก็มีสัญญาณการแพร่ระบาดใหม่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ฮ่องกงและญี่ปุ่น ตราบเท่าที่ทั่วโลกยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยงของความเป็นไปได้ในการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ตราบนั้นความสามารถในขาขึ้นของตลาดหุ้นและตลาดฟอเร็กซ์ก็จะถูกจำกัดไว้และนี่คือสาเหตุว่าว่าทำไมกราฟในช่วงนี้จะขึ้นหรือจะลงก็ไปไม่สุดสักทาง หากสังเกตให้ดีจะพบว่าประเทศไหนก็ตามที่สั่งปิดชายแดนเพื่อกันปัญหาโควิดเข้ามาในประเทศสกุลเงินของประเทศนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนสนใจเข้าไปถือครอง
พูดถึงข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้นอกเหนือจากที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้าแล้วยังมีรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 และรายงานบัญชีการค้าของประเทศจีนที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับประเทศที่ทำมาค้าขายกับจีนอยู่บ่อยๆ ฝั่งยุโรปจะมีการประชุมของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ซึ่งจะมีการประกาศนโยบายทางการเงินออกมาด้วยและยังยังมีผลสำรวจจากศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจของเยอรมัน (ZEW) สำหรับการประชุมของ ECB ดิฉันเชื่อว่านโยบายทางการเงินจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะทางธนาคารกลางน่าจะพอใจกับมาตรการควบคุมโควิดในปัจจุบันแต่ประเด็นที่น่าสนใจคือทางธนาคารกลางจะมีความเห็นอย่างไรกับการทำมาค้าขายที่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และความสามารถในการฟื้นฟูของสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อยูโรอาจจะกลายเป็นประเด็นที่ยกมาพูดถึงในการประชุมครั้งนี้
สหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้มีข่าวที่น่าสนใจเยอะอยู่เหมือนกันเช่นอัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลข GDP รายเดือนและตัวเลขบัญชีทางการค้า การประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ทำให้กราฟ GBPUSD ปรับตัวขึ้นได้เมื่อวันศุกร์แต่จะยืนได้นานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ ในส่วนของภาคแรงงานการที่ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการบริการและการผลิตลดลงทำให้นักลงทุนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในสหราชอาณาจักรมากเท่าที่ควร
ปิดท้ายกันที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เชื่อว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนจะมีผลกับตัวเลขในภาคแรงงานของออสเตรเลียอย่างมีนัยสำคัญ ต่อให้ข้อมูลตัวเลขการจ้างงานหรือข้อมูลของจีนจะดีขึ้นจนสามารถช่วยให้ออสเตรเลียดอลลาร์ปรับตัวขึ้นไปได้ก็จะเป็นขาขึ้นที่ยืนได้ไม่นานเพราะปัญหาใหญ่ของออสเตรเลียตอนนี้คือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกที่ 2 จนต้องสั่งล็อกดาวน์ทั่วทั้งรัฐวิคตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงในเรื่องของปัญหาโควิดส่วนข่าวเศรษฐกิจจะมีรายงานตัวเลขดัชนี PMI และรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2
ห้ามพลาด
♦"ครึ่งปี” ต้องจดจำไปตลอดชีวิตนักลงทุน
♦ตลาดการเงินสัปดาห์นี้ จับตาการประชุมสุดยอดผู้นํา EU ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินยูโร
อัพเดตอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท | แปลงค่าเงิน