เราเพิ่งได้เห็นอภินิหารจากเฟดอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการประกาศว่า จะเริ่มเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นรายตัว จากเดิมที่ซื้อผ่านกองทุน ETF โดยจะซื้อด้วยวงเงิน $750 billion เงื่อนไขคือ หุ้นกู้ตัวนั้นๆ จะต้องมี Rating BBB- ก่อนวันที่ 22 มี.ค. ที่เฟดประกาศโครงการ secondary market corporate credit facility
ผลของการประกาศครั้งนี้ หยุดแรงขายของนักลงทุนได้ทุกสินทรัพย์ ทั้งตราสารทุน ทั้งตราสารหนี้ และ แม้แต่ทองก็ยังเด้งขึ้นมาด้วย
ในฝั่งของตราสารหนี้นั้นได้ประโยชน์ตรงๆ จากการที่ Credit Spread กลับมาแคบอีกครั้ง เพราะนักลงทุนมั่นใจขึ้นมาทันทีว่า ตราสารหนี้ที่ตัวเองถือนั้น ยังไงก็ไม่ Default เพราะมีรัฐบาลอุ้ม แรงซื้อก็เลยกลับเข้ามา
ซึ่งความตั้งใจของเฟด ก็คือ พยายามจะเข้าควบคุมส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้เอกชน กับ ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ เพราะหากมันถ่างออกมากจนเกินไป ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทเอกชนที่สูงขึ้น จะหมายถึงความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ตามมา
*ในมุมมองส่วนตัวของผม นี่คือท่าแรกก่อนที่จะไปใช้ท่าไม้ตาย Yield Curve Control ภายในครึ่งปีหลัง เราเรียกท่านี้ไปพลางๆก่อนว่า "Spread Control"
กระบวนท่าของเฟดรอบนี้ ตลาดหุ้นได้อานิสงส์ เพราะ เหล่าหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ Sensitive กับการ Lockdown อย่าง Energy , Airlines, Retailers เหล่านี้ เท่ากับกำลังจะมีกรรมการมาช่วยอุ้มให้อีกรอบ ไม่ว่าจะเกิดการระบาดระลอก 2 จนต้องปิดเมืองอีกครั้งหรือไม่
ภาพที่เห็นก็เลยกลายเป็นหุ้นเหล่านี้ วิ่งกลับตัวได้ดีกว่ากลุ่มเทคโนโลยี ที่เป็นผู้นำตลาดในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อคืนนี้นายเจอโรม พาวเวล ก็ได้มีออกมาให้ความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่เฟดทำไปไว้น่าสนใจหลายประเด็น ตามนี้
1. ยังเตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อม และผู้ที่มีรายได้ระดับต่ำ รเป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุด
2. การฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่นว่าไวรัสดังกล่าวได้ถูกควบคุมแล้ว
3. เฟดจะยังคงใช้ "เครื่องมือทุกอย่าง" เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ (แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าเฟดจะดำเนินมาตรการใดในอนาคต)
4. เฟดพร้อมจะถอนเครื่องมือทั้งหมดออก หากมีสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว และถึงเป้าหมายที่เฟดตั้งใจ ก็คือ การจ้างงานกลับมาฟื้น และ เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในระดับ เป้าหมาย (Dual Mandate)
5. พาวเวล กล่างอ้างว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 17.7% ในเดือนพ.ค. ที่ทำสถิติทะยานขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 8.0% เป็นหลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เครื่องมือของเฟดทำงานได้อย่างดี และมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ออกมาย้ำกันขนาดนี้ว่าจะทำทุกอย่าง แต่ก็เตือนตลาดว่า มีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง คือเหล่า SME และผู้มีรายได้น้อย ตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนก็เลยขึ้นแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก และแรงซื้อ มาจากความคาดหวังของมาตรการอัดฉีด มากกว่าจะเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้หลังจากนี้จริงๆ
นี่คือสิ่งที่นักลงทุนต้องชั่งน้ำหนักกันต่อไปว่า ตลาดจะให้น้ำหนักแบบนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน
มุมมองทางเทคนิค
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯทั้ง 3 ตลาด เหมือนจะจบการพักฐานอย่างรวดเร็ว ทั้ง Dow Jones และ S&P500 ก็ยืนเหนือ EMA 200 วันอีกรอบ น่าจะได้สิทธิไปต่ออีกซักช่วงหนึ่ง
กดดูความเคลื่อนไหวดัชนี Dow Jones
ขณะที่ฝั่งเอเชีย อาจจะเริ่มวิ่งช้าลง เพราะ เม็ดเงินจะไหลกลับสหรัฐฯช่วงสั้นๆ จากมาตรการสุดโหดจากเฟดในรอบนี้
Mr.Messenger รายงาน
บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกบนเพจ MrMessengerDiary
บทความห้ามพลาด