หากคุณเป็นผู้อ่านที่ติดตามบทความของฉันเป็นประจำจะรู้ว่าฉันจะพยายามเตือนไม่ให้เชื่อข่าว บทความ การวิเคราะห์ที่เป็นการคาดการณ์มากจนเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดการณ์ที่มองไปถึงอนาคตระยะยาว สำหรับนักลงทุนถือเป็นความเสี่ยงที่การวิเคราะห์ของพวกเขามีโอกาสโดนข้อมูลเหล่านี้เข้าไปเปลี่ยนมุมมอง ความคิด ทัศนคติให้เอนเอียงไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสมกับระบบการลงทุนหรือทัศนคติในการลงทุนของเขา
หนึ่งในสาเหตุที่ฉันไม่แนะนำให้เชื่อการคาดการณ์เพราะทุกครั้งที่สถาบันทางการเงินหรือหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ปล่อยข้อมูลเหล่านี้ออกมาตัวเลขเหล่านั้นมักจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ พวกเขามักเปลี่ยนตัวเลขตามข้อมูลหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน และในบทความนี้เราจะมาดูข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณความต้องการน้ำมันในปี 2020 ที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูลในรายงานภาพรวมตลาดพลังงานระยะสั้นของ EIA ที่พึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมระบุว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบในโลกปี 2020 จะมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 92.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 2019 เฉพาะในเดือนเมษายนที่ผ่านมา EIA ได้คาดการณ์ตัวเลขเอาไว้ที่ 95.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่ากับว่าภาพรวมที่ EIA เผยข้อมูลออกมาหายไป 3% แม้แต่ EIA เองที่เป็นมาตรฐานในการใช้ข้อมูลอ้างอิงตลาดน้ำมันยังมีการเปลี่ยนแปลง หมายความว่าที่พวกเขาคาดการณ์ในเดือนเมษายนนั้นคาดเคลื่อนและเราควรจะเชื่อข้อมูลในเดือนพฤษภาคมใช่หรือไม่?
ตามกันมาติดๆ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา OPEC พึ่งปล่อยข้อมูลรายงานราคาน้ำมันดิบในตลาดประจำเดือนซึ่งพวกเขาเผยว่าความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2020 จะลดลง 9.07 ล้านบาร์เรลต่อวันเหลือเพียง 91.10 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น สำหรับเดือนเมษายนโอเปกคาดว่าความต้องการน้ำมันดิบตลอดทั้งปีอยู่ที่ 92.82 ล้านบาร์เรล หายไป 1.9% ภายในเวลาแค่เดือนเดียว แบบนี้ัแล้วอีก 2 เดือน 3 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร?
Rystad Energy ได้อัปเดตตัวเลขคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบเป็นรายสัปดาห์ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม Rystad Energy คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบของโลกในปี 2020 จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 88.7 ล้านบาร์เรลต่อวันลดลงจากตัวเลข 90.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากที่คาดการณ์เอาไว้ในเดือนที่แล้ว คิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วเท่ากับว่าลดลงเกือบ 2%
ข้อมูลตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงเหล่านนี้ในเดือนเมษายนมาจนถึงเดือนพฤษภาคมรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบลดลงและนั่นส่งผลกระทบต่อเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นพลังงานสำหรับการขนส่งทางอากาศในเดือนมีนาคมและเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การปิดล็อกเมืองเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามไวรัสโควิด-19 กำลังเข้มข้น จึงสามารถสรุปได้ว่าตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามผลกระทบที่เกิดจากการปิดล็อกเมือง ตัวเลขปริมาณความต้องการน้ำมันดิบจะชัดเจนขึ้นเมื่อทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดเมืองมากยิ่งขึ้น
การคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการน้ำมันดิบ
เวลาที่ผ่านไปข้อมูลตัวเลขเหล่านี้มีแต่จะเปลี่ยนไปจากข้อมูลที่เข้ามาใหม่ๆ ในแต่ละวัน ทำให้ฟังดูไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อข้อมูลหรือการคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้าได้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะต้องตระหนักว่าข้อมูลที่เปลี่ยนไปในทุกๆ วันจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจทั้งตอนนี้ ครึ่งปีหลัง หรือในปี 2021 เองก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนฉันจึงนำข้อมูลเฉพาะสถาบันหรือองค์กรที่เชื่อถือได้มาให้อ่านกัน
EIA ตอนนี้คาดการณ์ว่าในปี 2021 ความต้องการน้ำมันดิบจะเติบโตขึ้น 99.6 ล้านบาร์เรล แน่นอนว่านี่เป็นข้อมูลที่ EIA ไม่ได้ประเมินร่วมกับข้อมูลเช่นระยะเวลาการถดถอยทางเศรษฐกิจ ระยะเวลาในการฟื้นตัว ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อธุรกิจการบิน และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย
สถาบันการเงินโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์เอาไว้ว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2020 จะมีตัวเลขอยู่ที่ 94 ล้านบาร์เรลต่อวันแต่ในปี 2021 จะเพิ่มขึ้นเป็น 99 ล้านบาร์เรลต่อวัน โกลด์แมน แซคส์มองว่าความต้องการน้ำมันดิบจะสามารถกลับขึ้นมาในรูปแบบ V-Shape หรือกลับมาอย่างรวดเร็วได้ ส่วนของ Rystad Energy คิดเหมือนกันว่าเราจะได้เห็น V-Shape ของความต้องการน้ำมันดิบแต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะช้า
สำหรับนักลงทุนแล้วการฟื้นตัวแบบ V-Shape จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญแต่สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจมากกว่าคือขนาดและระยะเวลาของ V-Shape ต่างหาก เอาจริงๆ แล้วตอนนี้ก็ยังไม่มีใครเห็นภาพของ V-Shape ได้อย่างชัดเจนเพราะเรายังไม่ได้เห็นหน้าตาของการถดถอยทางเศรษฐกิจเลยว่าจะมีรูปโฉมออกมาเช่นไร
โมเดลคำนวณปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงไม่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลังช่วงล็อกดาวน์?
ข้อมูลจากอดีตที่ใช้ในการสร้างโมเดลเพื่อคำนวณปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงในอนาคตอาจจะไม่สามารถวัดอะไรได้หลังจากที่โลกผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้วเพราะจากนี้ไปรูปแบบการเดินทางของมนุษย์จะไม่เหมือนเดิมอีก ภูมิภาค เมือง หรือประเทศที่จบการล็อกดาวน์ก่อนคนอื่นอาจมีความเห็นและมาตรการที่เปลี่ยนแปลงไปจากพื้นที่ที่ยังล็อกดาวน์อยู่ โมเดลคำนวณเหล่านั้นไม่มีทางทราบผลกระทบทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นกับการเดินทาง การทำงานหรือการบริโภคของผู้คนที่เปลี่ยนไปได้ เราไม่รู้ว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจจะทำร้ายธุรกิจขนาดเล็กได้มากแค่ไหนในยุคที่การกลับมาเปิดเมืองเต็มไปด้วยธุรกิจออนไลน์เต็มตัวและการทำงานผ่าน Zoom วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กลายเป็นเรื่องปกติ
มีตัวแปรอีกมากมายที่จะทำให้การคาดการณ์ปริมาณความต้องการน้ำมันดิบคาดเคลื่อนในระยะยาว นักลงทุนที่ดีควรรับข้อมูลไว้ในระดับแค่ “พอรู้” เท่านั้นแต่ไม่ควรนำข้อมูลที่ได้มาก้าวก่ายการตัดสินใจลงทุนของตัวเอง
ดูกราฟราคาน้ำมันดิบ Brent สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์
https://th.investing.com/commodities/brent-oil
ดูกราฟราคาน้ำมัน WTI (NYSE:WTI)
https://th.investing.com/commodities/crude-oil
ดูกราฟกองทุนรวม Invesco DB Oil Fund (NYSE:DBO)