ดัชนีดาวโจนส์ ปรับตัวลดลง 500 จุดในช่วงเช้าของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เมื่อวานนี้ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐ ลับปรับตัวสูงขึ้น สกุลเงินดอลลาร์เปิดตลาดมาด้วยความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ยกเว้นสกุลเงินเยน การต่อสู้เพื่อแย่งสถานะการเป็นสกุลเงินที่ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างดอลลาร์และเยนทำให้กราฟ USD/JPY วิ่งอยู่กรอบราคา 80 จุดมาเป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมงมาแล้ว อีกด้านหนึ่งกราฟราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีร่วงลงอย่างรวดเร็วเมื่อนักลงทุนหนีจาดตลาดหุ้นมายังตลาดพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น
การร่วงลงไปต่ำกว่า 0 ของราคาน้ำมันดิบ WTI สร้างความโกลาหลไปทั่วทั้งตลาดการเงิน ทุกคนพยายามตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นและตลาดควรเดินหน้าต่อไปเช่นไรดี โอเปกออกมาพูดว่ากำลังหารือถึงความเป็นไปได้ในการลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาสัญญาว่าจะทำทุกอย่างเพื่ออุ้มบริษัทผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เอาไว้ให้ได้ เมื่อตลาดลงทุนปกติเริ่มเดินทางไปอย่างผิดที่ผิดทาง นักลงทุนจึงเริ่มหนีความเสี่ยงและหันไปถือสินทรัพย์ประเภทอื่นเพิ่มขึ้น รายงานตัวเลขยอดขายบ้านมือสองเชื่อว่าจะออกมามีตัวเลขลดลง นักลงทุนที่ถือสกุลเงินดอลลาร์อยู่กำลังลุ้นให้รัฐบาลประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งแต่ต้องผ่านมติของรัฐสภาสหรัฐฯ เสียก่อน อย่างไรก็ตามการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายมากเท่ารอบแรก ดังนั้นมตินี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนจะมีผลบังคับใช้ได้
สกุลเงินปอนด์และนิวซีแลนด์ดอลลาร์คือสองสกุลเงินที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิด ปอนด์ปรับตัวลงไปทดสอบจุดต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ซึ่งในบทความเมื่อวานเราได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่สกุลเงินในยูโรโซนจะอ่อนมูลค่าลงเพราะข้อมูลในเดือนเมษายนไปแล้ว สถานการณ์ตัวเลขในตลาดแรงงานของเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมเผยให้เห็นสัญญาณไม่ดีของการจ้างงานในเดือนเมษายน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับอัตราการว่างงานและตัวเลขค่าจ้างงานโดยเฉลี่ยรายชั่วโมงที่ลดลงมาจาก 3.1% เหลือ 2.8%
อ้างอิงข้อมูลจากนายแอนดี้ ฮัลเดนหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ชาติอังกฤษ (BoE) กล่าวว่าตัวเลข GDP ในครึ่งปีแรกของประเทศจะต้องออกมาติดลบแน่นอน ในวันนี้ฝั่งสหราชอาณาจักรจะมีการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขการบริโภคของประชาชนซึ่งน่าจะปรับตัวลดลง กราฟ GBP/USD วิ่งอยู่อย่างสบายใจที่ระดับต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 20 SMA และมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงต่อ
สกุลเงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์ได้รับผลกระทบจากคำแถลงการณ์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติ เขากล่าวว่าจะยอมทำ QE ดีกว่ายอมให้ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยติดลบ อย่างไรก็ตามธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินการใดๆ ลงไปและจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทีในเดือนหน้า
ส่วนสกุลเงินเพื่อนบ้านอย่างออสเตรเลียดอลลาร์ปรับตัวลดลง 1% ไม่มากเท่านิวซีแลนด์เพราะคำพูดของผู้ว่าการแบงก์ชาติออสเตรเลียไม่ได้แสดงท่าทีที่ดูจะเป็นภัยต่อออสเตรเลียดอลลาร์มากนัก RBA บอกว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 จะลดลง 10% ในขณะที่อัตราการว่างงานก็จะอยู่ที่ประมาณ 10% ในเดือนมิถุนายนด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นนายฟิลิป โลวี่ผู้ว่าการของ RBA บอกว่ายังไม่เห็นถึงความจำเป็นในการต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมพร้อมยังบอกว่าสำหรับเขาตอนนี้เรียกว่าสภาพเศรษฐกิจ “หดตัว” มากกว่าที่จะใช้คำว่า “ถดถอย”
แคนาดาดอลลาร์ยังคงได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI และข่าวตัวเลขยอดขายปลีก นักลงทุนยังคงเชื่อว่าตัวเลขยอดขายปลีกของเดือนล่าสุดจะออกมาไม่ดีแม้ว่าของเดือนกุมภาพันธ์ก่อนนี้จะออกมาสูงขึ้น 0.3% ซึ่งถ้าไม่นับตัวเลขยอดขายรถยนต์แล้วจะพบว่าตัวเลขยอดขายปลีกของประเทศนั้นคงที่ ถึงจะดีขึ้นกว่าเดือนมกราคมแต่ก็ทำผลงานได้น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้
สกุลเงินยูโรกลายเป็นผู้ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเมื่อคืนนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW survey) ของเยอรมันลงไปสร้างจุดต่ำสุดที่ -91.5 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ -77.5 แต่ตัวเลขความคาดหวังจากนักวิเคราะห์กลับเพิ่มขึ้นจาก -49.5 เป็น 28.2 การสวิงอย่างรุนแรงนี้ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับปกติได้ อย่างไรก็ตามผู้นำของเยอรมันนางอังเกลา แมร์เคิลได้ออกมาแสดงความกังวลต่อหลายๆ ประเทศในยุโรปที่อาจจะรีบลดมาตรการความเข้มงวดเร็วเกินไป ร้านค้าเล็กๆ บางร้านเริ่มกลับมาเปิดให้บริการแล้ว บางโรงเรียนเริ่มมีกลับมาเปิดสอนบ้างเช่นกัน อิตาลีก็กำลังพูดถึงการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองซึ่งจะเริ่มในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้