ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์รายวัน: 06 มีนาคม 2020
โดยคุณเคธี่ เหลียน กรรมการผู้จัดการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์บีเค
ถือเป็นสัปดาห์ที่ยากลำบากสำหรับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ต้องพยายามเอาตัวรอดจากวิกฤติไวรัสโคโรนา ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงมากกว่า 3% นับจากจุดสูงสุดของดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ สาเหตุหนึ่งมาจากการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ 50 จุดเบสิสเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เชื่อว่าเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนเมษายน ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้กราฟเยนเทียบดอลลาร์ในตอนนี้อยู่ในจุดต่ำสุดของราคาในเดือนมีนาคมที่ระดับ 105.xx กราฟ EUR/USD สามารถขึ้นไปถึงระดับราคา 1.12xx ได้ในขณะที่ปอนด์ทะลุแนวต้านที่บริเวณ 1.2900 ได้สำเร็จ จากสถานการณ์เช่นนี้นักลงทุนจึงค่อนข้างหวังว่ารายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (นอนฟาร์ม) จะสามารถช่วยสกุลเงินดอลลาร์ได้ในคืนนี้
จริงอยู่ที่โดยปกติแล้วรายงานตัวเลขนอนฟาร์มสามารถผลิกโฉมสถานการณ์ของสหรัฐฯ จากร้ายให้กลับขึ้นมากลายเป็นดีได้แต่ไม่ใช่กับการรายงานฯ ในครั้งนี้ที่โลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติจากไวรัสโคโรนา นักเศรษฐศาสตร์มองว่าอัตราการเติบโตของตัวเลขการจ้างงานและค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยจะชะลอตัวและยังมีโอกาสที่ดัชนีอย่างดาวโจนส์ซึ่งปกติใช้วัดประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จะลดลงมากกว่า 1,000 จุดด้วยซ้ำ ตัวเลขนอนฟาร์มในครั้งนี้ถ้าหากออกมาลดลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสกุลเงินดอลลาร์มากกว่าการออกมาแล้วเพิ่มขึ้น
นักลงทุนในตอนนี้ต้องการหาเพียงเหตุผลสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มในครั้งต่อไป ถ้าตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาเพิ่มขึ้นมีแต่จะส่งผลเสียให้เฟดตัดสินใจเลื่อนการลดอัตราดอกเบี้ยออกไปเท่านั้นซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาไวรัสโคโรนาได้อย่างตรงจุด ยิ่งไปกว่านั้นแรงขาขึ้นที่เกิดขึ้นจากตัวเลขนอนฟาร์มในครั้งนี้มีโอกาสที่จะหายไปอย่างรวดเร็ว กราฟ USD/JPY มีโอกาสลงไปถึง 105.00 ได้เลยถ้าตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาไม่ดี นอกจากนี้เรายังต้องรอดูผลการตัดสินใจของ ECB ซึ่งถ้าพวกเขาตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยแนวโน้มขาขึ้นของกราฟ EURUSD ก็ต้องหยุดลงแต่ถ้าคืนนี้ตัวเลขนอนฟาร์มออกมาไม่ใกล้เคียงกับ 150,000 ตำแหน่งมีโอกาสที่กราฟจะขึ้นไปถึง 1.1300
เหตุผลสนับสนุนว่าตัวเลขนอนฟาร์มในครั้งนี้จะเพิ่มขึ้น
1. รายงานตัวเลขอัตราการจ้างงานที่ไม่เกี่ยวของกับภาคการผลิตโดย ISM เพิ่มขึ้นจาก 53.1 เป็น 55.6
2. ดัชนีการเลิกจ้างงานของนายจ้างโดย Challenger ลดลง -26.3%
3. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก CB เพิ่มขึ้นจาก 130.4 เป็น 130.7
4. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกนเพิ่มขึ้นจาก 99.8 เป็น 101
5. ดัชนีการจ้างงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 46.6 เป็น 46.9
เหตุผลสนับสนุนว่าตัวเลขนอนฟาร์มในครั้งนี้จะลดลง
1. ตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP ลดลงจาก 209,000 ตำแหน่งเหลือ 183,000 ตำแหน่ง
2.ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 212,000 คนเป็น 213,000 คน
3. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจาก 1.701M เป็น 1.729M
กราฟ USD/CAD สามารถขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในรอบ 8 เดือนได้ถ้าข้อมูลตัวเลขภาคแรงงานของแคนาดาไม่สามารถเพิ่มขึ้นถึงตัวเลขคาดการณ์ ในปี 2019 ที่ผ่านมาตัวเลขจากตลาดแรงงานของแคนาดาถือว่าทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมมาตลอดทั้งปีแม้กระทั่งรายงานล่าสุดของเดือนกุมภาพันธ์ยังพบว่ามีตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 34,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามธนาคารกลางแคนาดา (BoC) พึ่งตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค จากตัวเลขข้อมูลการจ้างงานของแคนาดาที่ทำผลงานได้ดีมาโดยตลอดกลับขัดแย้งกับการลดอัตราดอกเบี้ยที่พึ่งประกาศไปจึงทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงแล้วการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยจาก BoC เกิดขึ้นมาจากความกลัวว่าตัวเลขการจ้างงานและดัชนี PMI ของสถาบัน IVEY ที่จะประกาศออกมาในวันนี้จะลดลงหรือเปล่า?