ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์รายวัน: 14 กุมภาพันธ์ 2020
โดยคุณเคธี่ เหลียน กรรมการผู้จัดการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์บีเค
ตอนนี้ใครๆ ก็อยากรู้ว่าสกุลเงินยูโรจะลงไปอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ การลงของยูโรดูเหมือนว่าจะอยู่ในจุดที่น่ากังวลแล้ว นอกจากจะเป็นแนวโน้มขาลงมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์แล้วตอนนี้กราฟปรับตัวลดลงมา 9 วันติดต่อกันและมีเพียงวันเดียวที่สามารถพอจะปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์แล้วว่ายูโรอาจลงไปถึงจุดต่ำสุดตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2017 ก่อนที่เราจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าทำไมกราฟ EURUSD ถึงได้ลงมาหนักขนาดนี้ เราต้องเข้าใจถึงสถานการณ์และปัญหาหลักๆ ก่อน
เหตุผล 6 ประการถึงสาเหตุแนวโน้มขาลงของยูโร
จากข้อมูลที่เรามีทำให้เราสามารถหาเหตุผลมารองรับได้ทั้งหมด 6 ข้อซึ่งจำเป็นต้องเปรียบเทียบข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซนและสหรัฐอเมริกา
1. ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ต้องการคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำและกำลังหาโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เชื่อว่านโยบายทางการเงินในปัจจุบันนั้นดีอยู่แล้ว
2. ตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาก
3. นักลงทุนมีความกังวลตัวเลขอัตราการเติบโตในไตรมาสที่ 4 ของเยอรมันและยูโรโซนอาจจะลดลงในขณะที่ข้อมูลตัวเลขยอดขายปลีกของสหรัฐฯ น่าจะออกมาดี
4. เศรษฐกิจของยูโรโซนส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิตและพึ่งพาการค้ากับจีน ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวยุโรปจึงได้รับผลกระทบมากกว่าสหรัฐฯ
5. อัตราดอกเบี้ยต่ำของยูโรโซนทำให้นักลงทุนสนใจใช้เป็นสกุลเงินสำหรับระดมทุน
6. สกุลเงินดอลล่าร์กลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยชั้นดีตราบเท่าที่สถานการณ์ไวรัสโคโรนายังไม่จบ
จากข้อมูลด้านบนที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างโครงสร้างเศรษฐกิจของยูโรโซนและสหรัฐฯ เราจึงยังไม่สามารถเห็นได้ว่ามีเหตุประการใดที่จะช่วยสกุลเงินยูโรให้ขึ้นมาได้ในตอนนี้ แนวรับสำคัญต่อไปของกราฟ EUR/USD เรามองไว้ที่ 1.05 เลย ถึงกระนั้นเรายังเชื่อในแนวโน้มขาขึ้นโดยหวังให้แนวรับ 1.0800 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในช่วงประมาณกลางปี 2015 และ 2016 สามารถหยุดการลงครั้งนี้เอาไว้ให้ได้
แม้สกุลเงินยูโรในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดแต่ความจริงแล้วสกุลเงินหลักอื่นๆ ต่างปรับตัวลดลงเพราะไวรัสโคโรนาที่กระทบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ความคิดเห็นในเชิงบวกของธนาคารกลางนิวซีแลนด์และแคนาดาไม่มีสามารถหยุดยั้งความจริงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจได้ในตอนนี้แต่เราเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นทั้งสกุลเงินแคนาดาและนิวซีแลนด์ดอลลาร์จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าใครเพราะธนาคารกลางฯ ของทั้งสองประเทศไม่ได้มองว่าไวรัสโคโรนาเป็นปัญหาขนาดนั้น
กราฟ USD/JPY จะปรับตัวลดลงเมื่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนาดีขึ้นแม้ว่าตอนนี้ใครๆ ต่างก็หันไปถือสกุลเงินดอลล่าร์เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแต่แนวต้าน 110 ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าไม่ยอมให้ผ่านขึ้นไปได้ง่ายๆ ถ้าตลาดหลักทรัพย์ยังคงค่อยๆ ปรับตัวลดลงจะทำให้ตลาดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงตาม เราอาจจะได้เห็นกราฟ USDJPY ที่แนวรับ 109.50 เร็วๆ นี้หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาดีขึ้น
ปอนด์สเตอร์ลิงผันผวนจากข่าวการลาออกสายฟ้าแลบของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนายซาจิด จวิด การประกาศของเขาสร้างความประหลาดใจให้กับชาวสหราชอาณาจักรซึ่งนักวิเคราะห์มองว่านี่คือการประท้วงนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กราฟ GBPUSD ผันผวนในช่วงเวลาสั้นๆ ลงไปยัง 1.29 แต่ก็สามารถกลับมาได้เมื่อมีข่าวการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน เขาเป็นลูกเขยเศรษฐีผู้มีประสบการณ์ด้านการเงินมากมายและยังเป็นบุคคลน่าจับตามองของพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมนายริชี ซูนัก สาเหตุที่สกุลเงินปอนด์กลับมาได้อย่างรวดเร็วเพราะนักลงทุนหวังว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะผ่อนปรนนโยบายทางการเงินลงและอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบให้มากกว่านี้ ที่สำคัญคือเขาเป็นบุคคลที่เห็นด้วยกับการลดอัตราภาษีและสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน