โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2019
ตลาดฟอเร็กซ์ในวันนี้แทบไม่มีความผันผวนใดๆ เกิดขึ้น USD/JPY ยังคงปรับตัวลดลงต่อไปแต่ดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาเมื่อเทียบกับ สกุลเงินยูโร, ปอนด์เสตอร์ลิง และเงินสกุลหลักอื่นๆ ดอลลาร์ ออสเตรเลีย และดอลลาร์ นิวซีแลนด์ เป็นสองสกุลที่แข็งค่าขึ้นในรอบวันได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันพฤหัสบดีซึ่งไม่มีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมา การที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นจึงช่วยทำให้ราคาค่อนข้างนิ่ง ดุลการค้าของจีนที่ดีเกินคาดยังคงช่วยหนุนให้ AUD และ NZD ฟื้นตัวขึ้นได้ต่อไป
จากข้อมูลดังกล่าว ข่าวใหญ่ในตลาดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาคือความคิดเห็นทางทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับเงินดอลลาร์ที่กล่าวว่า
บางคนอาจคิดว่าผมในฐานะประธานาธิบดีคงจะตื่นเต้นกับเงินดอลลาร์ของเราที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก แต่ผมไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น อัตราดอกเบี้ยที่เฟดกำหนดไว้ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุให้ดอลลาร์ยังแข็งค่า ทำให้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่าง Caterpillar, Boeing (NYSE:BA), John Deere, บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และอื่นๆ ประสบความยากลำบากในการแข่งขันมากขึ้น หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่านี้ (โดยไม่มีอัตราเงินเฟ้อ) และไม่มีการใช้มาตรการเข้มงวดเชิงปริมาณ (QT) เงินดอลลาร์จะช่วยให้บริษัทต่างๆ ของเราเอาชนะคู่แข่งรายอื่นได้ง่ายขึ้น เรามีหลายบริษัทที่เป็นสุดยอดบริษัทชั้นนำของโลกที่แทบจะไม่มีใครจะมาเทียบเคียงได้ แต่น่าเสียดายที่ธนาคารกลางของเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาธนาคารกลางมีการตัดสินใจดำเนินการที่ผิดพลาดมาโดยตลอด แม้กระนั้นเราก็ยังคงประสบความสำเร็จได้ ลองคิดดูว่าหากเขาดำเนินการได้อย่างถูกต้องจะเกิดอะไรขึ้น?
นักลงทุนจึงเริ่มมีความกังวลว่าการแสดงความคิดเห็นที่ต้องการให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงดังกล่าว ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังบอกเป็นนัยว่าเขาสามารถออกคำสั่งให้กระทรวงการคลังเข้าแทรกแซงค่าเงินได้ ซึ่งก็จะคล้ายกับสิ่งที่เขาทำในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยการเรียกจีนในทวิตเตอร์ว่า “ผู้บงการค่าเงิน” เพราะหลังจากนั้นเพียงวันเดียว กระทรวงการคลังก็ได้ออกมาประกาศให้จีนเป็นประเทศที่มีการควบคุมค่าเงินทันที แล้วประธานาธิบดีทรัมป์จะสามารถลดค่าเงินดอลลาร์ได้หรือไม่? แน่นอนว่าได้ เพราะเขาเคยพูดไว้เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า “หากจะทำ ผมก็ทำได้” แต่การแทรกแซงค่าเงินนั้นอาจทำให้เกิดผลเสียตามมา
การเข้าแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ
ประธานาธิบดีทรัมป์อาจแย้งว่าการลดค่าเงิน ดอลลาร์ จะช่วยให้การส่งออกของสหรัฐฯ มีราคาถูกลง และผลกำไรจากต่างประเทศของบริษัทอเมริกันก็จะมีมูลค่ามากขึ้นเมื่ออ้างอิงจากเงินดอลลาร์
แต่การแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเนื่องจากจะทำให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น สร้าง ความผันผวน ให้กับตลาดมากขึ้น และยังทำให้เฟดทำงานได้ยากขึ้นไปอีก หากจุดประสงค์หลักของทรัมป์คือการกดดันให้เฟดปรับลด อัตราดอกเบี้ย ลงอีกแล้วล่ะก็ เขาได้ทำสำเร็จไปแล้วด้วยการยกระดับความรุนแรงของสงครามการค้ากับจีนจนทำให้ตลาดต้องพังครืน สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกจะเกิดการชะลอตัวและนักลงทุนต่างก็เฝ้ารอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในปีนี้
หากทรัมป์ลดค่าเงิน ดอลลาร์ ลงได้จริง แม้ว่าสหรัฐฯ จะได้กำไรจากต่างชาติมากขึ้นแต่มูลค่าสินค้าคงคลัง รวมทั้งความต้องการซื้อภายในประเทศก็จะลดลงด้วย
นอกจากนั้น การเข้าแทรกแซงค่าเงินจะไม่ค่อยได้ผลหากไม่ได้ดำเนินการร่วมกันกับธนาคารกลาง เพราะหากธนาคารกลางช่วยทำการวิเคราะห์การแทรกแซงดังกล่าวก่อนก็จะสามารถควบคุมผลกระทบที่จะตามมาได้ และหากตลาดหุ้นร่วง นักลงทุนก็จะหันไปหาเงินดอลลาร์ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าอยู่ดี
หากการเข้าแทรกแซงค่าเงินมีจุดประสงค์เพื่อปรับสมดุลในการเล่นเกมกับจีน สหรัฐฯ ไม่มีทางสู้ได้เนื่องจากจีนมีทุนที่หนากว่า รัฐบาลจีนมีเงินคงคลัง 3 ล้านล้านเหรียญในการป้องกันไม่ให้ค่าเงินอ่อนลง แต่ทางด้านของสหรัฐฯ นั้น การแทรกแซงค่าเงินจะต้องใช้เงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการแลกเปลี่ยนซึ่งมีกำลังซื้อ 100,000 ล้านเหรียญ ทรัมป์อาจตัดสินใจเพิ่มกองทุนให้มากขึ้นได้ แต่ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสเสียก่อน
หากพิจารณาจากราคาซื้อขาย ดอลลาร์ และทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักลงทุนไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะมีการเข้าแทรกแซงดังกล่าว เพราะมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้น้อยมากเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงและไม่เคยมีการทำเช่นนั้นมาก่อน แต่อย่าลืมว่าทรัมป์เป็นคนประเภทที่สู้หัวชนฝาและอาจหาวิธีผลักดันให้เกิดขึ้นจนได้