3 หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: Apple (NASDAQ:AAPL), Amazon, Saleforce
การตั้งคำถามสงสัยเกี่ยวกับขาขึ้นในหุ้นสหรัฐฯ ลดลงเรื่อยๆ หลังจากดัชนี S&P 500 สามารถพิสูจน์ตัวเองด้วยการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงวิกฤตโรคระบาดขึ้นมาจนสามารถสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้ สาเหตุหนึ่งที่หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถทรงตัวอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้ทั้งๆ ที่กำลังผ่านภัยพิบัติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) ลงมาจนเกือบเป็น 0% เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งในการประชุมของเฟดสัปดาห์นี้นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิม
การประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิงจะเริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดีโดยมีประธานการประชุมเป็นประธานธนาคารกลางเฟดนายเจอโรม พาวเวลล์ หัวข้อที่เหล่าเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจะประชุมกันจะเกี่ยวข้องกับการทบทวนตรวจสอบการใช้นโยบายทางการเงินและกรอบการทำงานต่อไปในอนาคต
สัปดาห์ที่แล้วดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.7% ในช่วง 5 วันล่าสุด สามารถปิดสัปดาห์ที่แล้วเป็นบวกและทะลุจุดสูงสุดตลอดกาลของตัวเองเมื่อวันที่ 19 กุมพาพันธ์ในวันอังคารที่ 18 สิงหาคมซึ่งถือเป็นการสร้างสถิติฟื้นตัวจากตลาดขาลงได้รวดเร็วที่สุดของดัชนี S&P 500 ในสัปดาห์นี้เราได้นำหุ้น 3 ตัวที่น่าสนใจมาให้นักลงทุนได้อ่านเช่นเคย มี 2 ตัวเป็นหุ้นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วและอาจจะมีส่วนสำคัญในการช่วยดันดัชนี S&P 500 ให้ปรับตัวขึ้นต่อและอีก 1 ตัวเป็นหุ้นที่จะมีการรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้
1. Apple
หลังจากสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงเกิน $2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาทิตย์นี้นักลงทุนยังต้องจับตาบริษัทแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) กันต่อกับเรื่องของการแตกพาร์หุ้นในอัตรา 4-1 ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคมหลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิด ผู้ถือหุ้นของแอปเปิลจะได้รับหุ้นเพิ่มอีก 3 ส่วนหลังจากวันที่ 31 สิงหาคมเป็นต้นไป
นี่คือการแตกพาร์หุ้นเป็นครั้งที่ 5 ของแอปเปิลนับตั้งแต่การเปิดตัวบริษัทในปี 1980 ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์การแตกพาร์หุ้นมาแล้วในปี 1987, 2000, 2005 และ 2014 ตามลำดับ สาเหตุหลักของการแบ่งส่วนหุ้นแอปเปิลในครั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถมีสิทธิ์เป็นเจ้าของหุ้นไอโฟนได้มากขึ้น ในระยะเวลา 12 เดือนล่าสุดหุ้นแอปเปิลทะยานขึ้นมาแล้ว 134% ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคมได้อย่างรวดเร็ว มีราคาปิดล่าสุดอยู่ที่ $497.50 และมีมูลค่าการตลาดสูงถึง $2,120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
2. Amazon
เชื่อว่าในสัปดาห์นี้หุ้นของบริษัทผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างแอมาซอน (NASDAQ:AMZN) จะมีความเคลื่อนไหวอย่างแน่นอนเพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงของทีมผู้บริหารบริษัท เมื่อวันศุกร์ที่แล้วแอมาซอนได้ประกาศแต่งตั้งนาย Dave Clark ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายควบคุมโลจิสติกส์ให้ขึ้นมาเป็น CEO ดูแลเฉพาะแผนกของการขายปลีกเนื่องจากผู้ดูแลเดิมนาย Jeff Wilke ประกาศแผนเกษียณอายุของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย
หลังจากนี้เป็นต้นไปนายเดฟ คลาร์กจะเป็นผู้ดูแล e-commerce ของอาณาจักรแอมาซอนทั้งหมดซึ่งรวมไปถึงการดูแลเว็ปไซต์ขายปลีก การเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า ในขณะเดียวกันนาย Andy Jassy ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น CEO ผู้ดูแล Amazon Web Services ซึ่งทำเกี่ยวกับระบบคลาวด์ของแอมาซอน
อ้างอิงจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าที่จริงแล้วนาย Jeff Wilke คือผู้ที่ถูกคาดว่าจะขึ้นมาแทนเจฟ เบโซสหากว่าเขาตัดสินใจวางมือ การประกาศนี้จึงสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนผู้ที่จับตาดูการเติบโตของบริษัทแอมาซอนมาโดยตลอด
นอกจากนี้เจฟ เบโซสยังได้เขียนในอีเมล์ถึงพนักงานของแอมาซอนเกี่ยวกับการเพิ่มบุคลากรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทอีกซึ่งประกอบไปด้วย Alicia Boler Davis รับตำแหน่งรองประธานผู้ดูแลลูกค้า John Felton รองประธานดูแลบริการจัดส่งสินค้าทั่วโลกและ Dave Treadwell รองประธานดูแลบริการ e-commerce เมื่อวันศุกร์ที่แล้วหุ้นแอมาซอนมีราคาปิดอยู่ที่ $3.284.72 ปรับตัวลดลง 0.38%
3. Saleforce.com
บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดการลูกค้าสัมพันธ์ผ่านซอฟต์แวร์และระบบคลาวด์เซลส์ฟอร์ซ (NYSE:CRM) จะรายงานผลประกอบการในวันอังคารที่ 25 สิงหาคมหลังจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิด นักวิเคราะห์คาดว่าเซลส์ฟอร์ซจะสามารถรายงานตัวเลขยอดขายได้ที่ $4,900 ล้านเหรียญสหรัฐและมีตัวเลขการปันผลกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ $0.67
จากการรายงานผลประกอบการครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมหุ้นเซลส์ฟอร์ซปรับตัวขึ้นมามากกว่า 18% มีราคาปิดล่าสุดอยู่ที่ $207.53 แม้ว่าเซลส์ฟอร์ซจะถือว่าเป็นแนวหน้าผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แต่การเติบโตของผลกำไรกลับชะลอตัว ในการรายงานผลประกอบการครั้งนั้นเซลส์ฟอร์ซได้ปรับลดตัวเลขผลกำไรและรายได้รวมทั้งหมดตลอดทั้งปี 2020 ลงมาบอกเป็นนัยว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากลูกค้าที่หายไปในช่วงไวรัสโคโรนาระบาด