สัปดาห์ที่ผ่านมาคือจุดกลับครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นกับเงิน ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่นายเจอโรม พาวเวลล์ขึ้นมารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่าลงเมื่อตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบสามเดือน ทำให้ USD/JPY ไปแตะระดับเดิมที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมกราคมอีกครั้ง ส่วนสกุลเงินที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือดอลลาร์ แคนาดา และ นิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่า ดอลลาร์ออสเตรเลีย ได้อานิสงส์ตามมาในอันดับท้ายๆ เนื่องจากยังมีการคาดการณ์จะเกิดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้อีกในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นผลให้เงินสกุลนี้ได้รับความนิยมน้อยลงไป
จริงๆ แล้วธนาคารกลางสร้างผลกระทบในด้านลบกับเงินดอลลาร์สหรัฐหลายอย่าง แต่การที่ค่าเงินจะปรับตัวขึ้นหรือลงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง ดังเช่นในการซื้อขายของสัปดาห์นี้ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางยุโรปซึ่งมีท่าทีในการใช้นโยบายทางการเงินแบบประนีประนอม ทำให้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียและ ยูโร ไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร ส่วนในสัปดาห์หน้าจะยังไม่มีตัวเลขจากรายงานทางสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมามากนัก แต่จะมีเหตุการณ์ทางด้านการเมืองที่สำคัญหลายอย่างที่น่าจะส่งผลให้สกุลเงินต่างๆ เกิดการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงได้ โดยมีเหตุการณ์หลักๆ คือการประชุม G20 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ แต่นักลงทุนก็ควรจับตามองไปที่อิหร่านด้วยเช่นกัน แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะตัดสินใจยกเลิกการโจมตีอิหร่านเพียง 10 นาทีก่อนถึงกำหนดการที่วางไว้ แต่ก็อาจจะมีกลยุทธ์อื่นๆ ที่วางไว้เพื่อตอบโต้การกระทำของอิหร่านที่ได้ยิงโดรนของสหรัฐฯ ตกในน่านน้ำสากลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้อีกก็ได้ ส่วนการประชุม G20 นั้น หากการเจรจาทางด้านข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ก็จะทำให้การฟื้นตัวของ USD/JPY ชะลอตัวลง
ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลสำคัญ
-
เฟดใกล้จะปรับลด อัตราดอกเบี้ย: การพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าชี้ว่ามีสมาชิกจำนวน 8 คนที่เห็นควรให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 จุดเบสิสในปี 2019.
-
ดัชนีเอ็มไพร์สเตท ลดลง -8.6 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 11
-
ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยของ NAHB อยู่ที่ 64 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 67
-
จำนวนบ้านสร้างใหม่ อยู่ที่ 1,269,000 หลัง เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 1,239,000 หลัง
-
จำนวนการขออนุญาตก่อสร้าง อยู่ที่ 1,294,000 ราย เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 1,292,000 ราย
-
ดุล บัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ -130,000 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ -124,000 ล้านเหรียญ
-
จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงาน อยู่ที่ 261,000 ราย เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 220,000 ราย
-
ดัชนีการสำรวจของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟียอยู่ที่ 0.3 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 10.4
ข้อมูลที่คาดการณ์
-
ยอดขายบ้านใหม่: ตลาดที่อยู่อาศัยควรได้รับการสนับสนุนโดยการไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
-
ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค : ตลาดหุ้นที่ชะลอตัว, ความตึงเครียดเกี่ยวกับสงครามการค้า และดัชนีจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ลดต่ำลงน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นน้อยลง
-
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน: ยอดสั่งซื้อประเภทนี้คาดเดาได้ยาก แต่คาดว่าหลังจากที่มีการปรับลดลงในเดือนเมษายนก็น่าที่จะทรงตัวต่อไปได้
-
การปรับตัวเลข จีดีพี ไตรมาสแรก: การปรับตัวเลขนั้นคาดเดาได้ยาก แต่หากมีการปรับเปลี่ยนจริงก็จะทำให้ตลาดเกิดการเคลื่อนไหวได้
-
รายได้ และ การใช้จ่าย ส่วนบุคคล: คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายปลีกสูงขึ้นด้วย
ระดับราคาสำคัญ
-
แนวรับอยู่ที่ 106.50
-
แนวต้านอยู่ที่ 108.50
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายผ่อนปรนทางการเงินในปี 2019
ต้องขอบคุณธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ช่วยทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เคยเกิดการปรับตัวลงในระยะสั้นกลายเป็นการทำจุดสูงสุดในระยะยาวไปแล้ว มีปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุนว่าเฟดน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ถึงสองครั้งในปีนี้ เมื่อพิจารณาท่าทีของเฟดในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งไม่มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายผ่อนปรนเลยและในตอนนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงคิดว่าไม่น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้แม้เพียงแค่ 25 จุดเบสิสก็ตาม ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการปรับลดลงไปถึง 50 จุดเบสิสนั้นจึงทำให้ดอลลาร์ดิ่งทะลุแนวรับ นักลงทุนจึงไม่มีทางเอาตัวรอดได้เลย เนื่องจากไม่คาดคิดมาก่อนว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเหมือนธนาคารกลางแห่งอื่นๆ แม้ว่าตัวเลขจำนวนผู้ว่างจะยังต่ำและตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นทำลายสถิติได้ แต่เฟดก็จำเป็นต้องนำภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมาพิจารณาด้วย ในช่วงแรกเฟดคิดว่าผลกระทบนี้น่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ปัจจุบันเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมมากขึ้น และมากจนทำให้สมาชิก 8 คนเห็นว่าควรมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยในจำนวนนี้มี 7 คนที่เห็นว่าควรมีการปรับลดถึงสองครั้ง หากย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ไม่มีใครเลยที่เห็นความสำคัญของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นนี้
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเทขายดอลลาร์อย่างต่อเนื่องได้แล้ว แต่นักลงทุนยังคงต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกซื้อสกุลเงินอะไรแทนดอลลาร์ USD/JPY ยังเป็นเป็นคู่สกุลเงินที่อ่อนไหวกับเรื่องนี้มากที่สุดตัวหนึ่ง หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันได้ USD/JPY น่าจะกลับมาซื้อขายกันอยู่ที่ระดับ 109 แต่หากผลการเจรจาออกมาในด้านลบ ความตึงเครียดในการเจรจาทางการค้าประกอบกับนโยบายผ่อนปรนทางการเงินของเฟดอาจทำให้ USD/JPY ร่วงลงไปอยู่ที่ระดับ 105 ก็เป็นได้ ขณะที่เงินยูโร สเตอร์ลิง และดอลลาร์ออสเตรเลียซึ่งได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นเงินที่ไม่มีผู้ให้ความสนใจซื้อนักเนื่องจากธนาคารกลางของประเทศเจ้าของสกุลเงินเหล่านี้ก็กำลังคิดจะใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินอยู่เช่นกัน ส่วนเงินสเตอร์ลิงนั้นยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมด้วย เงินที่น่าสนใจที่สุดในช่วงนี้น่าจะเป็นดอลลาร์แคนาดาและฟรังก์สวิส แต่ดอลลาร์นิวซีแลนด์ก็น่าสนใจไม่แพ้กันหากธนาคารกลางยังไม่มีแผนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไปหลังจากการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม
ในขณะเดียวกัน เรารู้สึกว่าตลาดค่อนข้างเชื่อมั่นมากว่าจะเกิดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม ทางด้านนายพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยังคงมีข้อมูลด้านบวกเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในขณะนี้ว่ายังคงแข็งแกร่งดี โดยยังไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องรีบใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินในขณะนี้ รวมทั้งเปิดเผยว่าขณะนี้ยังเป็นช่วงของการ “รอดูสถานการณ์” อยู่ โดยกล่าวว่า “เราคิดว่าจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในระยะสั้นมากขึ้นกว่านี้” และหากมีข้อมูลหรือแนวโน้มใดที่จะเป็นสัญญาณไม่ดี ก็จะดำเนินการเพื่อใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินได้อย่างทันที โดยอาจจะรอดูตัวเลขดัชนี CPI และ NFP ไปอีก 1-2 เดือนเท่านั้น การที่หุ้นสามารถดีดตัวขึ้นทำลายสถิติได้ในช่วงนี้ก็เป็นการช่วยยืดเวลาออกไปได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา เราอาจจะเห็นดอลลาร์ดีตัวขึ้นในระยะสั้นได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่มีตัวเลขรายงานทางเศรษฐกิจใดๆ ออกมาในช่วงสัปดาห์นี้ แต่สำหรับแนวโน้มในภาพรวมนั้น ค่าเงินดอลลาร์จะลดต่ำลงได้อีก
ข้อมูลสำคัญ 6 อย่างที่คุณควรทราบจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนนี้
-
เฟดตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมและเลิกใช้คำว่า “อดทน” ในแถลงการณ์ด้านนโยบายการเงิน
-
เป็นครั้งแรกที่การพยากรณ์ดอกเบี้ยล่วงหน้า มีสมาชิกจำนวน 8 คนจากทั้งหมด 17 คนที่เห็นว่าควรปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ (โดยในจำนวนนี้มี 7 คนที่เห็นว่าควรปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 2 รอบ)
-
เฟดยังคงกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อ อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการลงทุนทางการค้าและธุรกิจจะลดน้อยลงกว่าเดิม
-
เฟดปรับลดตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ลง รวมทั้งปรับเพิ่มการคาดการณ์จีดีพีและอัตราการว่างงานขึ้น
-
ปริมาณการจ้างงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสี่ยงขาลงได้
-
เฟดยังคงขอเวลาเพื่อรอดูสถานการณ์และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในระยะสั้นต่อไปก่อนอีกระยะหนึ่ง
AUD, NZD, CAD
ข้อมูลสำคัญ
ออสเตรเลีย
-
รายงานการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ยืนยันว่าการดำเนินการในครั้งต่อไปจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
นิวซีแลนด์
-
ดัชนี PMI ใน ภาคบริการ อยู่ที่ 53.6 เมื่อเทียบกับค่าก่อนหน้านี้อยู่ที่ 52
-
ความเชื่อมั่นผู้่บริโภคของ Westpac ประจำไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 103.5 เมื่อเทียบกับค่าก่อนหน้านี้อยู่ที่ 103.8
-
ดุลบัญชีเดินสะพัด ประจำไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 675 ล้านดอลลาร์ เมือเทียบกับที่คาดไว้ที่ 160 ล้านดอลลาร์
-
จีดีพีในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส อยู่ที่ 0.6% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 0.6%
-
จีดีพีในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 2.5% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 2.3%
แคนาดา
-
ยอดขายใน อุตสาหกรรมการผลิต อยู่ที่ -0.6% เมื่อเทียบกับค่าก่อนหน้านี้อยู่ที่ 0.4%
-
ดัชนีราคาผู้บริโภค อยู่ที่ 0.4% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 0.1%
-
ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับค่าที่คาดไว้ที่ 2.1%
-
ยอดขายปลีก อยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับค่าที่คาดไว้ที่ 0.2%
-
ยอดขายปลีกไม่รวมยานพาหนะ อยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับค่าที่คาดไว้ที่ 0.4%
ข้อมูลที่คาดการณ์
ออสเตรเลีย
-
ยังไม่มีข้อมูลสำคัญ
นิวซีแลนด์
-
การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางนิวซีแลนด์: ยังไม่มีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารกลางนิวซีแลนด์น่าจะยังไม่ปิดโอกาสในการใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน
-
ดุลการค้า: น่าจะอ่อนแรงลงไปได้อีก หากดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงแย่ลง
-
ความเชื่อมั่นในภาค ธุรกิจ และผู้บริโภคจาก ANZ: น่าจะอ่อนตัวลงไปได้อีกจากสภาวะเศรษฐกิจของออสเตรเลียและจีนที่ยังคงชะลอตัว
แคนาดา
-
จีดีพี: ดุลการค้าดีขึ้นมากแต่ยอดขายปลีกยังอ่อนแรง
ระดับราคาสำคัญ
-
แนวรับของ AUD, NZD และ CAD คือ .6900, .6500 และ 1.3100 ตามลำดับ
-
แนวต้านของ AUD, NZD และ CAD คือ .7000, .6600 และ 1.3400 ตามลำดับ
ความเสี่ยงขาขึ้นสำหรับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย
เงินทั้งสามสกุลที่มีการเคลื่อนไหวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์นี้ได้รับประโยชน์จากการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐ และเราน่าจะได้เห็นการฟื้นตัวกลับมาของดอลลาร์ออสเตรเลียได้ในอีกไม่กี่วันนี้ ท่าทีประนีประนอมของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่อแววว่าจะช่วยลดความตึงเครียดทางด้านสงครามทางการค้าลงได้นั้นน่าจะเป็นผลดีกับดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์อยู่บ้าง แต่ก็ยังคงต้องจับตาดูผลการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสีในช่วงสุดสัปดาห์นี้เสียก่อนว่าจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้นเรายังคาดว่ายังมีโอกาสในการทำกำไรจากการเข้า short AUD/USD ได้อยู่ ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขรายงานทางเศรษฐกิจใดๆ ที่จะประกาศออกมาฉุดการฟื้นตัวในช่วงนี้ได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่สกุลเงินนี้จะยังเป็นขาขึ้นต่อไปได้
ส่วนทางด้านของดอลลาร์นิวซีแลนด์ยังคงต้องรอดูสถานการณ์จากการประชุมของธนาคารกลางเสียก่อน จากการประชุมครั้งที่แล้วที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไป 25 จุดเบสิส ทำให้ NZD/USD ดิ่งลงไปต่ำสุดในรอบ 6 เดือน แต่การปรับตัวลงในครั้งนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นนานเนื่องจากธนาคารกลางชี้แจงว่าการปรับลดในครั้งนั้นจะเป็นการปรับลดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น ตัวเลขจีดีพีล่าสุดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ตัวเลขทางภาคบริการก็เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมการผลิต อัตราเงินเฟ้อ และการใช้จ่ายลดน้อยลง แต่ปัจจัยดังกล่าวก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก นอกจากนี้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ยังต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังชะลอตัวในขณะนี้มาประกอบการพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์จะมีทิศทางเป็นเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับธนาคารกลางนิวซีแลนด์ว่าจะมีแนวคิดเกี่ยวกับการในนโยบายผ่อนปรนทางการเงินมากเพียงใด หากมีความต้องใช้มาตรการนี้จริง NZD/USD ก็จะเกิดการกลับตัวอย่างรวดเร็ว แต่หากว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ NZD/USD ก็อาจจะไปแตะที่ระดับ 67 เซ็นต์ได้อย่างง่ายดายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
เงินดอลลาร์แคนาดาในช่วงนี้อาจจะเริ่มทำผลงานได้แย่ลงกว่าเดิม แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดมาเป็นระยะเวลานานจนถึงทุกวันนี้ แต่หลังจากที่มีรายงานตัวเลขยอดขายปลีกซึ่งไม่สู้ดีนักประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มส่งสัญญาณเชิงลบให้เห็น และจะทำให้ดอลลาร์แคนาดาเกิดการปรับตัวตามมาอย่างแน่นอน ตัวเลขยอดขายปลีกที่เพิ่มสูงขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนเมษายนถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้านี้ถึง 1.3% เรายังคงไม่แน่ใจว่า CAD จะยังคงเป็นขาขึ้นได้ได้อีกนานเพียงใด เนื่องจากไม่วันใดก็วันหนึ่งที่แคนาดาจะต้องเริ่มได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังเกิดการชะลอตัว และในขณะนี้เราเริ่มที่จะได้เห็นสัญญาณแรกของการอ่อนตัวลงแล้ว รวมทั้งน่าจะมีการเทขายดอลลาร์แคนาดาออกมามากขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
ยูโร
ข้อมูลสำคัญ
-
ดุลการค้า ของยูโรโซนอยู่ที่ 15,300 ล้าน เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 17,000 ล้าน
-
ดัชนีราคาผู้บริโภค ของยูโรโซนอยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 0.2%
-
ดัชนี ZEW ของยูโรโซนอยู่ที่ -20.2 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ -1.6
-
ดัชนี ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจาก ZEW ของเยอรมนีอยู่ที่ 7.8 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 6.1
-
ดัชนีความคาดหวังทางเศรษฐกิจจาก ZEW ของเยอรมนีอยู่ที่ -21.1 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ -5.6
-
ดัชนีราคาผู้ผลิต ของยูโรโซนอยู่ที่ -0.1% เมื่อเทียบกับค่าที่คาดไว้ที่ 0.1%
-
บัญชีเดินสะพัด ของธนาคารกลางยุโรปอยู่ที่ 20,900 ล้านเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ 24,700 ล้าน
-
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ของเยอรมนีอยู่ที่ 45.4 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 44.6
-
ดัชนี PMI ภาคบริการ ของเยอรมนีอยู่ที่ 55.6 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 55.2
-
ดัชนี PMI คอมโพสิต ของเยอรมนีอยู่ที่ 52.6 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 52.5
-
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ของยูโรโซนอยู่ที่ 47.8 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 48
-
ดัชนี PMI ภาคบริการ ของยูโรโซนอยู่ที่ 53.4 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 53
-
ดัชนี PMI คอมโพสิต ของยูโรโซนอยู่ที่ 52.1 เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 52
ข้อมูลที่คาดการณ์
-
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจจาก IFO ของเยอรมัน: น่าจะมีโอกาสสูงที่จะปรับลดลงไปได้อีก เนื่องจากมีปริมาณคำสั่งซื้อ การผลิต และดัชนี ZEW ในภาคอุตสาหกรรมโรงงานลดลง
-
ดัชนีราคาผู้บริโภค ของเยอรมัน: น่าจะมีโอกาสสูงที่จะปรับลดลงได้อีก เนื่องจากราคาน้ำมันในเดือนพฤษภาคมลดลงและดัชนี PPI ลดน้อยลง
-
ความเชื่อมั่น ของยูโรโซน: น่าจะลดน้อยลงเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตลดน้อยลง
-
ดัชนีราคาผู้บริโภค ของยูโรโซน: น่าจะยังคงเป็นขาลงเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงในเดือนพฤษภาคมและดัชนี PPI ที่ลดลง
ระดับราคาสำคัญ
-
แนวรับอยู่ที่ 1.1300
-
แนวต้านอยู่ที่ 1.1500
การฟื้นตัวของเงินยูโรจะยั่งยืนหรือไม่?
แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีท่าทีประนีประนอมในการใช้นโยบายทางการเงินในขณะนี้ แต่การเปลี่ยนใจของธนาคารกลางที่เคยเกิดขึั้นนั้นก็ทำให้ EUR/USD ดีดตัวขึ้นไปแตะค่าสูงสุดได้ในเวลาเพียง 2 เดือน ดัชนี PMI ที่ออกมาดีเกินคาดอย่างมากทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า ECB น่าจะยังชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปได้ ในตลาดฟอเร็กซ์นั้น มูลค่าของเงินถูกผลักดันโดยเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงล่าสุดเสมอ ในขณะที่ ECB เพิ่งจะมีการกล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา การขยับตัวของราคาในครั้งล่าสุดนี้เกิดจากเฟดซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ไปผิดทาง ในขณะนั้นเงินยูโรถูกเทขายออกมาอย่างหนักในขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็ยังคงหวังว่าเฟดจะใช้นโยบายผ่อนปรน โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมีคณะกรรมการจำนวน 8 คนที่เปลี่ยนใจมาเห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จึงเป็นผลให้ EUR/USD ดีดตัวขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสกุลเงินหลักๆ ทั้งหมดได้ โดยอาจขยับขึ้นไปได้ถึง 1.1500 เราเชื่อว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมาในสัปดาห์นี้จะไม่ส่งผลใดๆ กับสกุลเงินนี้ได้ แต่การเคลื่อนไหวของเงินยูโรในขณะนี้คือผลจากความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดล้วนๆ และเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าสภาพเศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วงนี้กำลังชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อก็แย่ลง แต่หากมีตัวเลขใดในรายงานของสัปดาห์นี้ออกมาดีเกินความคาดหมายก็อาจทำให้ EUR/USD ปรับตัวสูงขึ้นได้
ปอนด์อังกฤษ
ข้อมูลสำคัญ
-
ธนาคารกลางอังกฤษตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมโดยรับทราบถึงความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ แต่ชี้แจ้งว่าหากสถานการณ์เป็นไปตามที่พยากรณ์ไว้ก็อาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
-
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน อยู่ที่ 0.3% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 0.3%
-
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 2% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 2%
-
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน อยู่ที่ 1.7% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 1.6%
-
ปัจจัยการผลิตของดัชนีราคาผู้ผลิตอยู่ที่ 0% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 0.2%
-
ผลิตผลของดัชนีราคาผู้ผลิตอยู่ที่ 0.3% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ 0.2%
-
ยอดขายปลีก อยู่ที่ -0.5% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ -0.5%
-
ยอดขายปลีกไม่รวมยานพาหนะ อยู่ที่ -0.3% เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ที่ -0.4%
ข้อมูลที่คาดการณ์
-
การปรับตัวเลข จีดีพี ในไตรมาสที่ 1: ยังคงคาดการณ์ได้ยาก แต่หากมีการปรับก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในตลาด
ระดับราคาสำคัญ
-
แนวรับอยู่ที่ 1.2600
-
แนวต้านอยู่ที่ 1.2800
ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คาดว่าน่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
ธนาคารกลางอังกฤษมีความกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวไม่ต่างจากธนาคารกลางแห่งอื่นๆ และยังคงกังวลว่าจะมีความเสี่ยงขาลงเกิดขึ้นได้ แต่จากนโยบายด้านการเงินที่ประกาศออกมานั้น ยังมีความเชื่อว่าหากการพยากรณ์ถูกต้องก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดเงินสเตอร์ลิงที่เคยปรับตัวลดลงในช่วงแรกถึงได้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว BoE จะยังไม่ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะทราบผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Brexit เสียก่อน แต่หากภาวะความตึงเครียดด้านสงครามทางการค้ายังคงส่งผลเชิงลบและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวต่อไป ก็อาจเปลี่ยนแนวทางไปพิจารณาใช้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยแทน สภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงนี้ก็ยังคงไม่สู้ดีนัก จากรายงานที่ออกมาล่าสุด ยอดขายปลีกยังลดลง -0.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ซึ่งเมื่อเทียบปีต่อปีจะพบว่าลดลงไปจาก 5.1% เหลือ 2.3% ภายหลังการประชุมธนาคารกลางก็ไม่ได้มีการแถลงข่าวออกมาแต่อย่างใด รวมทั้งในระหว่างการปราศรัยประจำปีที่บ้านพักของนายมาร์ค คาร์นีย์ ประธานธนาคารกลางอังกฤษก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงนโยบายทางการเงินแต่อย่างใด ในขณะที่การเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมยังดึงค่าเงินอังกฤษไว้ ประกอบกับการที่ BoE ก็เริ่มที่จะไม่ใช้นโยบายการเงินแบบประนีประนอม อาจผลักให้สกุลเงินคู่นี้ขึ้นไปสูงกว่า 1.28 ก็เป็นได้