Economic Highlight
ควรจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด BOE และECB) พร้อมติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ในต้นสัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดเลิกคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาดีกว่าคาด
- นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ทว่าการอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออก
- โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงอยู่ ทว่าการอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้เลิกคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้การปรับตัวขึ้นต่อของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเป็นไปอย่างจำกัดจากเพียงปัจจัยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
- ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หรือในกรณีที่บรรดาสกุลเงินหลัก เช่น เงินยูโร (EUR) เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลง ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง ECB, BOE และ BOJ
- ควรระวังความผันผวนหลังตลาดการเงินจีนกลับมาเปิดทำการ หลังในช่วงที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์จีนมากขึ้นชัดเจน ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน จากการที่ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ นอกจากนี้ เงินบาทก็เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน (CNY) พอสมควร
- นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเราประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสทยอยขายทำกำไรสถานะลงทุนในสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์ ได้บ้าง ตามสัญญาณเชิงเทคนิคัลของดัชนี SET ที่เสี่ยงย่อตัวในระยะสั้น ส่วนบอนด์ยีลด์ไทยก็อาจปรับตัวขึ้น (เผชิญแรงขายเพิ่มเติม) ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
- ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมทองคำจะยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ควรจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด และนอกจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้ในช่วงตลาดกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางเช่นกัน
- สัญญาณจาก RSI MACD และ Stochastic ใน Time Frame รายวัน สำหรับ USDTHB สะท้อนว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากขึ้น เปิดโอกาสให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงต่อได้ หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways
- ส่วนสัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ใน Time Frame H4 และ H1 แม้ว่าจะยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินบาท แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าอาจชะลอลง ดังจะเห็นได้จากสัญญาณของ Stochastic และ RSI Bearish Divergence บน USDTHB
- โดยรวม เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังมีอยู่ ทว่าการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจยังติดแนวต้านแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากอ่อนค่าผ่านได้ก็อาจมีแนวต้านถัดไปแถว 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับแรกจะอยู่แถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะมีแนวรับถัดไปแถว 32.85 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- แม้ราคาทองคำจะยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทว่าจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ก็มีส่วนกดดันราคาทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมา
- เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัดลง และมีโอกาสที่จะเห็นการพักฐานของราคาทองคำได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มเลิกคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทว่า ราคาทองคำจะยังพอได้แรงหนุน ตราบใดที่ตลาดยังคงกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- เรามองว่า หากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ทวีความรุนแรงและบานปลายเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน รวมถึงบรรดาพันธมิตรของทั้งสองประเทสอย่างชัดเจน ราคาทองคำก็อาจขาดปัจจัยหนุนและยังคงปรับฐานต่อได้
- ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดพัฒนาการของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง คือ การตอบโต้ของทางอิสราเอล ต่อการโจมตีล่าสุดจากทางอิหร่าน
- สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดนั้น ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองไม่ต่างจาก Dot Plot ใหม่ของเฟด ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ยได้บ้าง ซึ่งต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD Time Frame รายวัน ชี้ว่า ราคาทองคำยังคงมีโอกาสย่อตัวลงต่อได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways
- ทว่าในส่วน Time Frame H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI Stochastic และ MACD สะท้อนว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำอาจเริ่มชะลอลง และราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways ได้
- โดยรวม เราประเมินว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มอยู่ในช่วงการปรับฐานและอาจแกว่งตัว sideways แต่หากตลาดคลายกังวลปัญหาในตะวันออกกลาง ราคาทองคำก็มีโอกาสย่อตัวลงต่อได้ไม่ยาก ทั้งนี้ โซนแนวต้านของราคาทองคำจะอยู่ในช่วง 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวต้านถัดไปแถว 2,686 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนโซนแนวรับจะอยู่แถว 2,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์