Economic Highlight
ควรจับตา รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษและญี่ปุ่น ที่อาจส่งผลต่อค่าเงินปอนด์ (GBP) และค่าเงินเยน (JPY) นอกจากนี้ ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อย่างใกล้ชิด
FX Highlight
- เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรง
- เงินดอลลาร์ยังคงผันผวนไปตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยในสัปดาห์นี้จะต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
- นอกจากนี้ ทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ได้พอสมควร
- โดยในส่วนของเงินปอนด์อังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้
- เช่นเดียวกันกับในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่อาจส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ปัจจุบันผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยอีกราว 2 ครั้งในปีนี้
- นอกจากนี้ ควรจับตาการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์
- นอกจากนี้ หากบรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ซึ่งต้องจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- สำหรับ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อาจกดดันเงินบาทให้ผันผวนอ่อนค่าลงได้ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ทว่าต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ ซึ่งอาจปรับตัวขึ้นเช่นกัน และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
- สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของบอนด์ระยะยาว หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น และหากตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงก็อาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยได้บ้าง
- อีกปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ คือ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจสูงราว 6.6 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ แต่อาจชะลอลงบ้าง และเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ขณะที่ Stochastic ชี้ว่าเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยต้องจับตาโซนแนวต้านสำคัญ 36.80-36.85 บาทต่อดอลลาร์ (หากอ่อนค่าต่อชัดเจน จะมีแนวต้านถัดไป 37.00 บาทต่อดอลลาร์ )
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ต่างชี้ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้ชะลอลง ทำให้เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways หรือหากอ่อนค่าก็จะเป็นไปอย่างจำกัดได้ ส่วน Stochastic ใน Time Frame H1 สะท้อนว่าเงินบาทอาจมีโซนแนวรับระยะสั้นแถว 36.60 บาทต่อดอลลาร์ และอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง