เงินเฟ้อเดือนมกราคมชะลอลงสู่ระดับ 5.02%
ทำจุดต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
ตามการชะลอตัวของราคาอาหารและพลังงาน
-
Headline Inflation January 2023
Actual: 5.02% Previous: 5.89%
KTBGM: 5.17% Consensus: 5.10%
-
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมชะลอลงสู่ระดับ 5.02% จากฐานราคาสินค้าและบริการในปีก่อนหน้าที่เริ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ราคาสินค้าพลังงานและอาหารยังคงอยู่ในระดับที่สูงจากปีก่อนหน้า
-
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์มองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนในภาพรวมทั้งปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 2%-3% ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาทอาจช่วยลดทอนการปรับขึ้นของเงินเฟ้อได้
-
เรามองว่า แม้เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มชะลอลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงขอบบนของกรอบ 1%-3% เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นานขึ้น ทำให้เรายังคงมองเดิมว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ครั้งละ 0.25% จนแตะระดับ 2.00% ในกลางปีนี้
-
ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. สอดคล้องกับเรามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะสั้นและระยะกลางในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ บอนด์ 5 ปี ขึ้นไป เริ่มมีความน่าสนใจขึ้นและควรรอทยอยซื้อในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 5.02% ลดลงจากระดับ 5.89% ในเดือนธันวาคม
-
กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด เพิ่มขึ้น +0.3% จากเดือนก่อนหน้า (เราคาด +0.5%) โดยมีปัจจัยหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าหมวดพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งผลต่อเนื่องให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับตัวขึ้น ทว่าราคาในหมวดอาหารและครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเพียง +0.13% โดยมีสินค้าสำคัญหลายรายการปรับตัวลดลง เช่น เนื้อสัตว์ ผักสด และเครื่องปรุงฯ
-
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงสู่ระดับ 5.02% จาก 5.89% ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นราคาสินค้าพลังงานและราคาหมวดอาหารที่อยู่ในระดับสูงจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ระดับฐานราคาในปี 2022 ก็สูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อหักราคาอาหารสดรวมถึงพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.04% ตามต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่
-
กระทรวงพาณิชย์ มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ มีแนวโน้มขยายตัวในอัตรา“ชะลอลง” ส่วนในภาพทั้งปีนั้น กระทรวงพาณิชย์คงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 2.0%-3.0% ในปีนี้ (ค่ากลาง 2.5%) โดยปัจจัยหนุนเงินเฟ้อยังคงเป็นภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย การส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิต รวมถึงระดับราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาพลังงานอาจมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทในปีนี้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อราคาพลังงาน ก็อาจช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อได้
เงินเฟ้อไทยชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ ทำให้เรายังคงมั่นใจ กนง. จะสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จนแตะระดับ 2.00% ได้ในกลางปีนี้
-
เราประเมินว่า หากโมเมนตัมของราคาสินค้าและบริการ (เทียบจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาสินค้าและบริการจากเดือนก่อนหน้า) ไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากกว่า +0.3%m/m โดยเฉลี่ย โอกาสที่จะเห็น การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงมีไม่มากนัก และหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง แต่ไม่ได้ต่ำกว่า +0.2% โดยเฉลี่ย ไปมากนัก เรายังคงมุมมองเดิมว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็จะเข้ามาในกรอบ 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ในที่สุด ทำให้ กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จนแตะระดับสูงสุด (Terminal Rate) 2.00% ในช่วงกลางปี ซึ่งต้องจับตามองผลการประชุมของ กนง. ในเดือนมีนาคมอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีคณะกรรมการบางท่านสนับสนุนการคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% หรือไม่ และมุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และปัจจัยภายนอกที่สำคัญ อย่างภาพเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
-
อนึ่ง ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ หลังการเปิดประเทศจีน และภาพเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงยุโรป อาจไม่ได้แย่อย่างที่เคยกังวล โดยภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานปรับตัวลดลงหนักได้ยาก หรือ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าคาด กดดันให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น และที่สำคัญ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้การส่งผ่านต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งในกรณีนี้ เราประเมินว่า หากโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด หรือ เร่งตัวขึ้น กนง. อาจพิจารณาเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงกว่าระดับ 2.00% ที่เราคาดการณ์ไว้ได้ อนึ่ง เรามองว่า ควรรอจับตาผลการประชุม กนง. ในช่วงกลางปีอีกครั้ง เพื่อประเมินโอกาสดังกล่าวต่อไป
-
หลังการประชุม กนง. ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ใกล้เคียงกับสมมติฐานของเรามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะสั้น จนไปถึงบอนด์ยีลด์ระยะกลาง โดยล่าสุด เรามองว่า ระดับบอนด์ยีลด์ของไทยตั้งแต่ช่วงอายุ 5 ปี ขึ้นไปนั้น “เริ่มน่าสนใจมากขึ้น” เมื่อเทียบกับมุมมองของเราต่อ Terminal Rate ของ กนง. ที่ระดับ 2.00% ซึ่งนักลงทุนสามารถรอจังหวะให้ บอนด์ยีลด์ มีการปรับตัวสูงขึ้นบ้าง เพื่อทยอยเข้าซื้อ หรือ Buy on Dip ทั้งนี้ ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ได้ปรับตัวขึ้นแรง หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ล่าสุด ออกมาสูงกว่าคาดไปมาก ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อได้ในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทย มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้บ้าง แม้ว่าอาจจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นเท่ากับในฝั่งสหรัฐฯ ก็ตาม อย่างไรก็ดี หากบอนด์ยีลด์ 5 ปี ขึ้นไป ปรับตัวขึ้น ก็ถือว่า เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการทยอยเข้าซื้อ ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ที่ระดับเกินกว่า 2.60% ก็ถือว่า ไม่ต่ำเกินไป และเผื่อโอกาส กนง. ขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 2.00% พอสมควร