Fed Funds Target Range
Actual: 4.25-4.50% Previous: 3.75-4.00%
KTBGM: 4.25-4.50% Consensus: 4.25-4.50%
-
-
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “ปรับขึ้น” อัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ตามคาด พร้อมทั้งส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.75% ในปีหน้า จนเฟดมั่นใจว่าสามารถควบคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงราว 1.00% ในปี 2024 และ ปี 2025
-
-
-
เมื่อเทียบประมาณการเศรษฐกิจในการประชุมเดือนกันยายน เฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลง พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ PCE พร้อมกันนั้น ประธานเฟดย้ำว่าเฟดยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและยังเร็วเกินไปที่เฟดจะเริ่มคิดถึง “การลดดอกเบี้ย” (ตลาดคาดเฟดจะลดดอกเบี้ยปลายปีหน้า)
-
-
-
Dot Plot ใหม่ของเฟดชี้ว่า Terminal Rate อาจสูงราว 5.25% ในกรณีที่เฟดเลือกที่จะคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงดังกล่าวจนถึงสิ้นปี (Higher for Longer) อย่างไรก็ดี ยังมีเจ้าหน้าที่เฟด 2 ท่านมองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.75% ซึ่งเรามองว่า ความเสี่ยงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้สูงกว่าคาดยังมีอยู่ ตามภาพเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน
-
-
-
เราคงมองว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การถือพันธบัตรรัฐบาลมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
-
-
-
Next FOMC Decision: Feb 2 2022 (2 AM BKK)
-
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “ปรับขึ้น” อัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50%
-
FOMC มองกิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในระดับปานกลาง ส่วนภาวะตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดีเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น เฟดจึงมีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% พร้อมกับเดินหน้าลดงบดุล เพื่อให้เฟดสามารถบรรลุเป้าหมาย ทั้งในด้านการจ้างงานและเงินเฟ้อ โดยเฟดมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
-
สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตนั้น เฟดจะคำนึงถึง การขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา, ความล่าช้าของการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ซึ่งในส่วนประมาณการเศรษฐกิจและคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ย (Dot Plot) ล่าสุด เฟดได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีหน้าลง พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราการว่างงานและอัตราการว่างงานขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.25%
-
ประธานเฟด เน้นย้ำว่า เฟดยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะสามารถบรรลุภารกิจคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ และยังเร็วเกินไปที่จะคาดหวังว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย พร้อมกันนี้ ประธานเฟดมองว่า แม้ว่าเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลง แต่เงินเฟ้อในส่วนที่มาจากภาคบริการ (Services Inflation) ซึ่งได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัวนั้น อาจยังอยู่ในระดับสูงได้นาน ทำให้ตลาดแรงงานต้องชะลอตัวลงบ้าง เพื่อให้เฟดมั่นใจว่าจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ
อัตราการขึ้นดอกเบี้ยและจุดสูงสุดของดอกเบี้ยเฟด จะขึ้นกับแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเรามองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยแตะระดับ 5.00-5.25% ได้ หากเงินเฟ้อชะลอลงต่ำกว่า 5.00% ได้ในช่วงต้นปี
-
Dot Plot ใหม่ของเฟดล่าสุดและถ้อยแถลงของประธานเฟด ยังคงเน้นย้ำว่า เฟดจริงจังในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ดังจะเห็นได้จากการส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นานกว่าคาด จนกว่าที่เงินเฟ้อจะลดลงได้จริง (Higher for Longer) ทั้งนี้ จากการศึกษาการขึ้นดอกเบี้ยในอดีตของเฟดตั้งแต่ปี 1989 เราพบว่า เฟดมักจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือ Real Terminal Rate > 0% ดังนั้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากขึ้น ส่วนตลาดแรงงานก็เริ่มตึงตัวลดลง (สัดส่วนตำแหน่งงานเปิดรับ/จำนวนผู้ว่างงาน ลดลงมากขึ้น) และชะลอตัวลงมากขึ้น (ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง หรือ Continuing Claims เพิ่มสูงขึ้น) ทำให้เรามองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าจ้างของสหรัฐฯ น่าจะมีทิศทางลดลง ซึ่งต้องติดตามว่า การเติบโตของค่าจ้าง หรือ Average Hourly Earnings จะชะลอลงต่อเนื่องได้หรือไม่ ซึ่งหากแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงได้จริงตามคาด เราประเมินว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอลงต่ำกว่าระดับ 5.00% ได้ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน ทำให้จุดสูงสุดของดอกเบี้ยเฟด (Terminal Rate) น่าจะไม่เกินระดับ 5.25%
-
อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปลายปีหน้า นอกจากนี้ สัญญาณแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ บอนด์ยีลด์ 3 เดือน ก็ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับเกือบ -90bps หรือ สัญญาณที่ประธานเฟดเคยกล่าวว่าเฟดติดตามอย่างใกล้ชิด อย่าง Near-term Forward Spread ก็ได้ปรับตัวลงจนติดลบเรียบร้อย ซึ่งจากข้อมูลในอดีต พบว่า หากส่วนต่างบอนด์ยีลด์ดังกล่าว “ติดลบ” ก็มีโอกาส 100% ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 1 ปี ข้างหน้า ดังนั้น เราคงแนะนำว่า การถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง พันธบัตรรัฐบาลจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งนักลงทุนควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยซื้อบอนด์