หากคุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์โนเนมสักคน แล้วต้องคาดการณ์เกี่ยวกับเงินตัวเลขเงินเฟ้อ หรือการวางนโยบายการเงินที่ควรจะเป็น คุณอาจจะสามารถคาดการณ์โดยที่ตัวเลขนั้นไม่จำเป็นต้องถูกต้องแต่ถูกใจได้ ผู้คนก็จะแค่ชมหรือว่าคุณ แล้วก็จากไป แต่ถ้าหากคุณเป็นหัวหน้าของธนาคารกลางที่ทรงอิทธิพลทางการเงินที่สุดในโลก การคาดการณ์หรือการวางนโยบายการเงินจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง ไม่เหลือที่ให้กับความผิดพลาด เพราะถ้าพลาดขึ้นมา นั่นคือการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหายนะทางเศรษฐกิจให้กับระบบการเงินทั้งโลก
นั่นคือสิ่งที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบันต้องแบกความรับผิดชอบนี้เอาไว้บนบ่า และเป็นสิ่งที่เขาต้องรีบทำการแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเจอโรม พาวเวลล์คนนี้ที่พูดมาตลอดทั้งปี 2021 ว่าภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เขายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นความจริงต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่ว่าจะเป็น Mohamed El-Erian หรือแลร์รี่ ซัมเมอร์ อดีต รมต. กระทรวงการคลังที่เคยเตือนหนักเตือนหนาว่าให้เฟดดำเนินนโยบายทางการเงินด้วยความระมัดระวังจากความเสี่ยงเงินเฟ้อ
ไม่ว่าเงินเฟ้อครั้งนี้จะเป็นเรื่องชั่วคราวหรือไม่ แต่ตอนนี้ก็เป็นความจริงแล้วว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังกัดกินมูลค่าของเงินในกระเป๋าของคนทั้งโลก คำถามสำคัญก็คือตอนนี้เขาจะทำผิดพลาดซ้ำอีกครั้งหรือไม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะเริ่มขึ้นวันแรกในวันพรุ่งนี้ ไปจนถึงวันที่ 16 มีนาคม เพราะก่อนหน้านี้ ในแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรส พาวเวลล์เคยกล่าวว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ 0.25% ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อสูงถึง 7.9% สูงที่สุดในรอบสี่ทศวรรษ คำถามคือ…
1.) การขึ้นอัตราดอกเบี้่ยเพียงเท่านั้นจะเพียงพอต่อการลดเงินเฟ้อลงมาหรือไม่?
2.) ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงินเก็งเอาไว้ว่าต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เขาจะยังดื้อดึงขึ้นเงินเฟ้อเพียง 0.25% ตามที่เคยลั่นวาจาเอาไว้หรือไม่?
ส่วนหนึ่งของปัญหาก็คือว่าการตัดสินใจของเจอโรม พาวเวลล์ไม่ได้เกิดจากเขาเพียงแค่คนเดียว แต่เจอโรมอ้างอิงข้อมูลจากทีมงานนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าหุ่นยนต์ที่วิเคราะห์สถานการณ์ตามข้อมูลตัวเลขที่ได้รับมา เมื่อพูดถึงความดื้อดึงที่เจอโรม พาวเวลล์มี จนนำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่คนทั้งโลกต้องแบกรับในปัจจุบัน ก็ได้นำมาสู่คำถามและการวิเคราะห์ของนิตยสาร Wall Street Journal ว่าทำไมเขาถึงเชื่อนักว่าเงินเฟ้อรอบนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว
Emre Kuvvet รองศาสตราจารย์ด้านการเงินประจำมหาวิทยาลัย Nova Southeastern University ในฟลอริดา พยายามรวบรวมข้อมูลผ่านฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดมากกว่า 780 คน เขาพบว่ามีอัตราส่วนนักเศรษฐศาสตร์โดยรวมของพรรคเดโมแครตต่อรีพับลิกันในระบบของเฟด 10.4 ต่อ 1 เมื่อใช้ฐานข้อมูลเดียวกันวิเคราะห์บอร์ดบริหารของเฟด (หรือผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงิน) พบว่ามีอัตราส่วนของคนที่เป็นเดโมแครตต่อรีพับลิกัน 48.5 ต่อ 1 นี่คือข้อมูลที่น่าตกใจเพราะคนเหล่านี้คือนักเศรษฐศาสตร์ที่คอยวิเคราะห์เศรษฐกิจและให้ตัวเลขกับบอร์ดบริหารทุกวัน
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจของเฟด ที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องจริง ในอดีตทำเนียบขาวเคยกล่าวเอาไว้ว่าบอร์ดบริหารของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นต้องมีความสมดุลระหว่างสมาชิกจากทั้งสองขั้วอำนาจ และเป็นอิสระจากการเมือง แต่ตอนนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เต็มไปด้วยคนจากเดโมแครต ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็พึ่งแต่งตั้งคนเข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงินใหม่สามคน ซึ่งสามคนนี้ก็เป็นพรรคเดโมแครต
ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษนามชาร์ลี กู้ดฮาร์ท อดีตผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษให้ความเห็นว่าเงินเฟ้อจะคงอยู่ยาวนานแน่นอน ด้วยปัญหาแรงงานขาดแคลน รายได้ที่โตไม่ทันเงินเฟ้อ และสถานการณ์สงครามในปัจจุบันที่ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตแพงขึ้น
ในหนังสือปี 2020 ของเขาและเพื่อนนักเขียนที่มีชื่อว่า “The Great Demographic Reversal” เขียนเอาไว้ว่าภาพอดีตหอมหวาน ที่แรงงานจีนหรือยุโรปตะวันออกเคยเป็นแรงงานราคาถูก ซึงช่วยกดราคาสินค้าให้อยู่ในระดับต่ำ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้ราคาสินค้าและค่าจ้างแพงขึ้น ประโยคนี้สอดคล้องกับคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ที่สัปดาห์ที่แล้วกล่าวว่าปี 2022 จะเป็นปีที่เงินเฟ้ออาจจะยังลดลงไม่มาก เธอพูดคำนี้ออกมาทั้งๆ ที่ทำเนียบขาวกล่าวว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความเห็นว่าสงครามในยูเครนจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเติบโตขึ้น และจะเป็นปัจจัยชะลอการเติบโตของยุโรปภายในอีกสองสามปีข้างหน้า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ECB จึงได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในการลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ โดยจะเริ่มลดวงเงินปัจจุบันลง 40,000 ล้านยูโร (43.6 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนเมษายน 30 พันล้านยูโร (32.7 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนพฤษภาคม และ 20 พันล้านยูโร (21.8 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนมิถุนายน
ก่อนหน้านี้ ECB เคยลดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนตุลาคมลงแล้ว 20,000 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม ECB ยังไม่ยืนยันว่าพวกเขาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่ หลังจากหยุดการซื้อสินทรัพย์ไปแล้ว ECB เคยกล่าวว่าจะกำหนดนโยบายการเงินตามข้อมูลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ได้รับมา