การที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อตัวหนึ่งของอเมริกาออกมาสูงที่สุดในรอบสามสิบปีทำให้นักลงทุนตัดสินใจเทขายพันธบัตรอย่างรวดเร็ว ตัวเลขเงินเฟ้อแบบปีต่อปีที่ทะยานขึ้นสูงถึง 6.2% ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นมากกว่า 11 จุดเบสิส ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ ณ 1.58% จากจุดต่ำสุด 1.41% ในวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากนั้นอัตราผลตอบแทนฯ ก็ทรงตัวอยู่ที่บริเวณ 1.58% ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 1.6% ได้สำเร็จ
ความผันผวนของตลาดลงทุนจะยังคงอยู่ต่อไปตราบใดที่นักลงทุนยังรู้สึกว่านโยบายการเงินสหรัฐฯ ไม่มีความมั่นคง ธนาคารกลางสหรัฐฯ รับได้จริงๆ หรือกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้? พวกเขายังคงเชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวอยู่หรือไม่? หากไม่แล้ว ธนาคารกลางฯ มีแนวโน้มจะเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบเซอร์ไพรส์ในการประชุมเร็วๆ นี้เลยหรือไม่? นี่คือลูปคำถามที่พบเจอบ่อยที่สุดในช่วงเวลานี้
นักลงทุนในตอนนี้กำลังอยู่ในสภาวะที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วเงินเฟ้อคือตัวเร่งปฏิกริยาที่ทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าใกล้สู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด หรือเป็นแรงกดดันที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดชะลอตัวลงทีละเล็กทีละน้อย สภาวะที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกในตอนนี้คือผลกระทบจากการไม่คิดไม่ฝันว่าผลกระทบที่ตามมาจะใหญ่หลวงถึงเพียงนี้
แนสซิม นิคโคลัส ผู้ที่ให้นิยามของสถานการณ์ในตอนนี้เอาไว้ว่า “บานปลายเกินจะควบคุม” ให้ความเห็นว่าจะไปโทษนักลงทุนในตลาดว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งหมดก็ไม่ได้ เมื่อรัฐบาลให้เงินมา พวกเขาก็เอาไปลงทุน และสำหรับพวกเขาก็คิดแค่เพียงทำอย่างไรก็ได้ให้เงินต้นไม่ขาดทุน ก็แค่นั้น พวกเขาไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างเงินเฟ้อแน่นอน
ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ยังพยายามปฏิเสธอยู่ว่าความกังวลเงินเฟ้อในตอนนี้เป็นสิ่งที่คิดกันไปเอง ฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ECB กล่าวว่าสถานการณ์ในตอนนี้ไม่มีทางกลับไปเหมือนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 1970 อย่างแน่นอน (ในขณะที่นักวิเคราะห์ข้างนอกมองว่าเหมือนกันมาก!) แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นได้ยอมรับความเสี่ยงของผลกระทบนี้ไปแล้ว เพื่อแลกให้การจ้างงานสามารถกลับมาได้เหมือนก่อนยุคโควิด
หากผู้อ่านติดตามข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศมาโดยตลอด จะทราบดีว่าทั้งสองธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายกับภาวะเงินเฟ้อมากกว่า แต่เมื่อพวกเขาไม่สามารถพูดสิ่งนี้ออกไปตรงๆ ได้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อการทำ QE ในเดือนสิงหาคมปี 2020 ให้การเป็น “การยินยอมให้เงินเฟ้อขึ้นเกิน 2% ได้” ในชณะที่ ECB ยอมให้เป้าหมายเงินเฟ้อสามารถขึ้นใกล้เคียงกับ 2% จะเห็นได้ชัดว่าทั้งสองเรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ถูกเปลี่ยนชื่อให้ต่างกันออกไป
ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้คือสิ่งที่ธนาคารกลางประเมินเอาไว้อยู่แล้ว หรือเป็นความประมาทเลินเล่อที่ต้องการหาข้ออ้างพิมพ์เงินออกมาใช้มากขึ้น? เงินเฟ้อจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวตามที่พูดจริงหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ตลาดลงทุนกำลังจับตาว่าเป็นการคาดการณ์ที่ถูกต้องหรือเป็นความผิดที่เกิดจากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ความผันผวนในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เคยขึ้นไปเกือบถึง 1.7% และลงมาที่ 1.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนออกมาได้อย่างชัดเจน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแถบยูโรโซนเมื่อวานนี้ปรับตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทนฯ ของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าจะไม่มีปัจจัยอะไรมารับประกันว่าขาขึ้นนี้จะคงอยู่ได้นานเท่าไหร่ เพราะการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ ECB ถือเป็นการลดปริมาณเงินในระบบลง นักวิเคราะห์จากธนาคาร Danske Bank ให้ข่าวว่าตอนนี้เยอรมันกำลังจะออกประมูลพันธบัตรที่มูลค่า 16,000 ล้านยูโร ซึ่งมากกว่าหนี้จำนวน $15,500 ล้านยูโรเล็กน้อย และการตัดสินใจซื้อพันธบัตรมูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านยูโรของ ECB ทำให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์สำรองปลอดภัยมากขึ้น
ธนาคารกลางยุโรปทำเหมือนกันกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่มีผิด ในการโยนความผิดของภาวะเงินเฟ้อตอนนี้ไปให้กับปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลน แต่ตอนนี้นักลงทุนไม่เชื่อคำพูดเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว ตลาดลงทุนคาดว่า ECB จะต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี 2022 อย่างแน่นอน