สกุลเงินดิจิทัลกำลังกลายเป็นสินทรัพย์หลัก มีบริษัทจำนวนมากมากมายที่ยอมรับคริปโตฯ เป็นทางเลือกในการชำระเงิน สถาบันการเงินเริ่มอนุญาตให้สกุลเงินดิจิทัลบางตัวเป็นสินทรัพย์จัดสรรสำหรับพอร์ตลงทุน และบางประเทศได้ยกสกุลเงินดิจิทัลชั้นนำขึ้นมาเป็นสกุลเงินประจำชาติ
การมีอยู่ของสกุลเงินดิจิทัลนำมาซึ่งคนที่ต้องการส่งเสริม และคนที่ต้องการต่อต้าน นักลงทุนในตำนานอย่างวอร์เรน บัฟเฟต์ กล่าวว่าสกุลเงินดิจิทัลคือหนูสกปรกแห่งโลกการเงิน ในณะที่อีลอน มัสก์เจ้าของบริษัทเทสลา (NASDAQ:TSLA) และแจ็ค ดอร์ซีย์ผู้ก่อตั้งสแควร์ (NYSE:SQ) กลับมองว่าสกุลเงินดิจิทัลคืออนาคต
ในมุมมองของรัฐบาล การควบคุมปริมาณเงินเป็นองค์ประกอบหลักในฐานอำนาจ แม้จะเป็นรัฐบาลในโลกที่เป็นเสรีนิยมสูง แต่อุดมการณ์ของสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นแบบเสรีนิยมนั้นขัดต่อระบบการเงินที่เป็นอยู่ คริปโตฯ มอบการควบคุมทางการเงินจากรัฐบาลกลับไปยังมือของประชาชน หากคริปโตฯ สามารถเข้ามาแทนที่สกุลเงินหลักได้ รัฐบาลจะไม่สามารถขยายเพิ่มเงินหรือลดจำนวนเงิน ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการบริหารระบบการเงิน
เรย์ ดาลิโอ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของหนังสือ “Principles” ได้พูดประโยคสั้นๆ ถึงสกุลเงินดิจิทัลเอาไว้ได้น่าสนใจ และประโยคนั้นกำลังกลายเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เขากล่าวว่า “ยิ่งเติบโต ยิ่งถูกควบคุม” นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในช่วงนี้ เราจึงเห็นข่าวเกี่ยวกับการปราบปรามคริปโตฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในสหรัฐฯ และประเทศจีน
รัฐบาลชอบบล็อกเชน แต่เกลียดสกุลเงินดิจิทัล
ในวงการฟินเทคฯ เสียงส่วนใหญ่ได้ยอมรับแล้วว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีความเร็วและประสิทธิภาพสำหรับการทำธุรกรรมสูงที่สุดอยู่ในขณะนี้ อันที่จริงผู้สร้างสกุลเงินดิจิทัลได้สร้างบล็อกเชนออกมาก่อน แต่ไม่รู้ว่าจะทำให้ผู้คนเห็นถึงศักยภาพของบล็อกเชนได้อย่างไร เขาจึงสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้งานอยู่บนบล็อกเชนขึ้นมา จนทำให้ทุกคนเห็นภาพของประสิทธิภาพได้ชัดเจน
ปัจจุบัน การใช้งานบล็อกเชนไม่ได้หยุดอยู่เพียงในวงการสกุลเงินดิจิทัล แต่บล็อกเชนถูกนำไปใช้กับการเก็บข้อมูลภายในองค์กร โรงพยาบาลนำไปทำเป็นเครือข่ายฐานข้อมูลของผู้ป่วย วงการเภสัชกรรมนำไปใช้เป็นข้อมูลการใช้ยา รวมถึงการหาซัพพลายของยาแต่ละตัวที่มีอยู่บนโลก
สำหรับรัฐบาลพวกเขานั้นไม่ได้เกลียดบล็อกเชน ยิ่งประเทศที่มีความเป็นเผด็จการยิ่งเห็นความเป็นไปได้ในการใช้เพื่อควบคุมประชาชนมากขึ้น แต่สำหรับสกุลเงินดิจิทัลนั้นกลับเป็นเรื่องที่รัฐบาลยอมรับไม่ได้ อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าระบบการเงินก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ภาครัฐใช้ควบคุมประชาชน การพิมพ์เงิน ใช้เงินภายในประเทศ ทำให้คนที่อยู่ในระบบยากที่จะเปลี่ยนไปใช้ตัวกลางการแลกเปลี่ยนประเภทอื่น แต่ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นภาพความล้มเหลวจากการบริหารที่ผิดพลาด นำมาซึ่งวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์จึงเลือกเส้นทางตรงกันข้ามกับระบบการเงินตั้งแต่แรก การมีจำนวนเหรียญอยู่เพียง 21 ล้านเหรียญทำให้มั่นใจได้ว่าบิทคอยน์จะไม่มีปัญหาเรื่องภาวะเงินเฟ้ออย่างแน่นอน ข้อดีนี้เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลหลายๆ ประเภทเกิดภาวะน้ำท่วมปาก จะเถียงก็ไม่สามารถเถียงได้ บางรัฐบาลเลือกที่จะไม่ยอมรับความจริงข้อนี้และไม่เอาสกุลเงินดิจิทัล ในขณะที่บางประเทศก็เลือกที่จะไม่ได้ไม่ยอมรับแต่ก็ไม่ได้สนับสนุน
ในตอนแรก โลกก็ตั้งใจจะทิ้งสกุลเงินดิจิทัลเอาไว้ในโลกสีเทาๆ แต่การเปิดตัวรับสกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินประจำชาติของประเทศเอล ซัลวาดอร์ทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศตื่นตัว กลัวว่าหากมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นจริงแล้ว ผู้คนจะหันไปใช้สกุลเงินดิจิทัลกันหมด ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อสกุลเงินดิจิทัลจึงแข็งกร้าวขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพิ่งสังแบนแพลตฟอร์มคริปโตฯ “Suex” ในข้อหาเป็นตัวกลางอนุญาตให้เกิดการฟอกเงินเพื่อทำการโจมตีทางไซเบอร์ และเพื่อเป็นการเข้มงวดกับเรื่องนี้มากขึ้น ในอนาคตอเมริกาอาจจะมีกฎหมายยืนยันตัวตน (KYC) ที่เข้มงวดมากขึ้นยิ่งกว่านี้
การดำเนินการด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อสินทรัพย์สกุลเงินดิจิตอลเป็นความพยายามร่วมกันเพื่อรักษาสถานะที่เป็นอยู่ การวางกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมทันทีนั้นง่ายกว่าการจะมาพิจารณาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ภาพการคว่ำบาตรและการดำเนินการด้านกฎระเบียบที่มากขึ้นนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ หากสกุลเงินดิจิทัลจะครองตลาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐบาลจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถควบคุมโลกสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างเบ็ดเสร็จ
บางประเทศกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อควบคุมระบบการเงินให้ได้ ในขณะที่บางประเภทไม่เอาสกุลเงินดิจิทัลเลย ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีนที่พึ่งประกาศให้การทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิทัลทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฏหมายเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา
กลต. สหรัฐฯ เริ่มเล่นงานแพลตฟอร์มสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ยิ่งมองเรื่องนี้ให้ลึกมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งพบว่าสิ่งที่เรย์ ดาลิโอพูดนั้นเป็นความจริง เราได้เห็นการปราบปรามคริปโตฯ อย่างจริงจังในจีนในช่วงที่บิทคอยน์มีราคาซื้อขายอยู่เหนือกว่า $60,000 เราได้เห็นแพลตฟอร์มตัวกลางการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐเมริกาอย่าง ‘คอยน์เบส’ (NASDAQ:COIN) กำลังถูกตรวจสอบจาก กลต. สหรัฐฯ เกี่ยวกับฟีเจอร์สที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถกู้ยืมเงินกับผ่านสกุลเงินดิจิทัลได้ แม้ว่าคอยน์เบสจะมีเงินสดสำรองมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
ในช่วงเวลาที่เลวร้ายก็อาจจะมีข่าวดีอยู่บ้าง เพราะผู้ดำรงตำแหน่งประธาน กลต. ของสหรัฐฯ นายแกรี่ เจนส์เลอร์ เคยเป็นอดีตประธานผู้ดูแลกำกับตลาดฟิวเจอร์สมาก่อน และเขาคือคนที่อนุญาตให้ตลาด CME และตลาดฟิวเจอร์สอื่นๆ ให้สามารถซื้อขายสกุลเงินบิทคอยน์ฟิวเจอร์สได้ในปี 2017 หมายความว่าเขามีความเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่พอสมควร
ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้า กลต. เกนส์เลอร์เคยสอนที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ วิชาฟินเทค เขาเชื่อว่าคริปโตเคอเรนซี่และบล็อกเชนเป็นหัวใจของวิวัฒนาการของการปฏิวัติวงการฟินเทคฯ แต่เมื่อเขาเข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน กลต. ผลกระทบในวงกว้างที่จะก่อให้เกิดกับประเทศ และพฤติกรรมผู้บริโภค รวมไปถึงอำนาจของรัฐบาลอาจต้องมาก่อนการปฏิวัติวงการเทคโนโลยีที่รัฐเองก็ตามได้ช้า
แต่ขึ้นชื่อว่าคนของภาครัฐยังไงก็ต้องทำงานให้กับรัฐบาล เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขาได้ออกมาพูดว่าไม่เห็นอนาคตระยะยาวของโลกสกุลเงินดิจิทัล พร้อมกันนั้นยังได้เปรียบเทียบกลับไปยังปี 1837 - 1863 ในยุคสมัยที่ยังไม่มีธนาคารกลาง และผู้คนตั้งแบงก์กันเอง
ในอนาคตเราจะยิ่งเห็นข่าวการโจมตีคริปโตฯ จากภาครัฐมากขึ้น
ในตอนนี้เอลซัลวาดอร์ถือว่าเป็นประเทศเล็กๆ ที่ฉายเดี่ยวเกี่ยวกับการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินประจำชาติ แม้แต่ IMF ก็ยังไม่อยากยอมรับและไม่ให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลกอย่างจีนก็ให้สกุลเงินดิจิทัลกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว
แม้ว่าอเมริกาจะเป็นประเทศแห่งสิทธิเสรีภาพ แต่หากพูดถึงการเสียอำนาจของภาครัฐไปแล้ว รัฐบาลเองก็ไม่ยอมเช่นกัน พวกเขายังมีข้ออ้างสวยๆ หรูๆ อยู่ว่า “ที่ทำไปเพื่อเป็นการปกป้องประชาชน” แต่ความจริงแล้วก็เพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง
จากนี้ไป ให้นักลงทุนทำใจไว้ได้เลยว่าเราจะได้เห็นข่าวการโจมตีสกุลเงินดิจิทัลจากภาครัฐมากยิ่งขึ้น แต่ตราบใดที่ยังมีการใช้งานอยู่ การจะเอาชนะสกุลเงินดิจิทัลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งเดียวที่ผมกลัวมากที่สุดในตอนนี้คือวันที่ภาครัฐสามารถเข้าใจถึงแก่นแท้ของการใช้บล็อกเชน และใช้มันเพื่ออำนาจของตัวเองแล้ว วันนั้นสกุลเงินดิจิทัลก็จะกลายเป็นเพียงตำนาน ว่าเคยสวยงามแค่ไหนในโลกที่ภาครัฐเอื้อมมือเข้าไปไม่ถึง