🏃 คว้าข้อเสนอ Black Friday ก่อนใคร รับส่วนลดสูงสุด 55% สำหรับ InvestingPro ตอนนี้!รับส่วนลด

สกุลเงินดิจิตอล: ฟองสบู่หรืออนาคตการเงิน?

เผยแพร่ 18/05/2564 11:54
JPM
-
AAPL
-
DX
-
IXIC
-
BTC/USD
-
BMC
-
DOGE/USD
-
ETH
-
COIN
-

เชื่อหรือไม่ว่าครั้งหนึ่งตลาดหุ้นที่เรายอมรับกันว่ามีมาตรฐานเคยเป็นสิ่ง “ไร้สาระ” ในสายตาของเหล่าผู้มีอำนาจมาก่อน นายอลัน กรีนสแปน ประธานเฟดในปี 1990 เคยกล่าวถึงตลาดการเงินว่า “โลกการเงินที่ไร้เหตุผล” เช่นเดียวกันกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้เงินหนึ่งดอลลาร์ที่เคยลงทุนกับบิทคอยน์ในปี 2010 สามารถกลายเป็นเงินมูลค่า $1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในปัจจุบัน

Ethereum Daily

เมื่อเทียบระหว่างยักษ์ใหญ่ในโลกการเงินทั้งสองยุค ปัจจุบันยักษ์ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นคือบริษัทแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ $2.085 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าของตลาดคริปโตฯ ทั้งหมดมีมูลค่า $2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับว่ามูลค่าของเงินทั้งวงการคริปโตฯ ตอนนี้สูงกว่าบริษัทอันดับหนึ่งของโลกในแง่ของมูลค่าไปแล้ว

การต่อสู้ในแง่ของความคิดระหว่างโลกการเงินยุคเก่าและโลกการเงินยุคใหม่ก็มีความดุเดือดไม่แพ้กัน การถือกำเนิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลทำให้โลกต้องตั้งคำถามกับคำว่า “ความน่าเชื่อถือ” (Trust) อีกครั้ง นักลงทุนที่ยังยึดติดกับตลาดหุ้นมองว่าการให้หน่วยงานกลางที่มีความน่าเชื่อถือเป็นผู้ควบคุมตลาดก็ดีอยู่แล้ว ในขณะที่นักลงทุนฝั่งเสรีภาพ (ซึ่งส่วนมากเป็นคนยุคใหม่) ก็มีความเชื่อว่าตัวกลางที่เป็นผู้ควบคุมนั้นไม่จำเป็นตราบใดที่ทั้งระบบสามารถเห็นข้อมูลการเงินเหมือนกัน

สิ่งหนึ่งที่พอจะเห็นว่าในตลาดลงทุนทั้งสองยุคมีเหมือนกันไม่ว่าจะผ่านไปนานสักแค่ไหนนั่นก็คือ “ความโลภอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์” คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่อยากรวย แต่ก็มีหลายคนเหมือนกันที่ยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นมีความเสี่ยงสุดๆ อย่างเช่นการหวังว่าโดจคอยน์จะสามารถเติบโตได้อย่างบิทคอยน์ในอดีต ทั้งๆ ที่ต้นกำเนิดของโดจคอยน์นั้นเพียงแค่ต้องการล้อเลียนบิทคอยน์เท่านั้นDogecoin Daily

จากมีราคาอยู่เพียงแค่ไม่ถึงเซนต์ในช่วงปลายปี 2020 ตอนนี้เจ้าสกุลเงินที่มีสัญลักษณ์เป็นสุนัขชิบะ อินุมีมูลค่ามากกว่า 54 เซนต์แล้ว หลายคนถึงกับบอกว่าโดจคอยน์คืออนาคตและเป็นมากกว่าเหรียญล้อเลียนบิทคอยน์ไปนานแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าอนาคตของสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้จะเป็นเช่นไร แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คือองค์กรทางการเงินต่างๆ เริ่มเปิดรับและอนุมัติให้มีการลงทุนกับบิทคอยน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คริปโตฯ จะเป็นสินทรัพย์ประเภทไหนอยู่ที่ใครนิยาม

ในปี 2017 ตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ (CFTC) อนุญาตให้ CME และตัวกลางการแลกเปลี่ยนอื่นๆ สามารถลิสต์บิทคอยน์ฟิวเจอร์สขึ้นกระดานเทรดได้ ในตอนนั้นคริปโตเคอเรนซี่ถูกจัดประเภทให้เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ท้าทายความเชื่อและการนิยามสินทรัพย์โภคภัณฑ์ที่เป็นรากฐานของวงการมาช้านาน

แต่ก็ไม่ใช่ทุกแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนจะยอมรับในคุณสมบัตินี้ บางแพลตฟอร์มอ้างว่าคริปโตเคอเรนซี่ไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัล แม้ว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่เพราะความผันผวนที่มึจึงทำให้คริปโตเคอเรนซี่ยังไม่ได้รับการยอมรับในฐานะสกุลเงิน แต่ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิวัติวงการการแลกเปลี่ยนจริงๆ 

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้มีคนดังหลายคนพลัดกันออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่มากมาย ในปี 2017 นาย เจมี ไดมอน CEO ของธนาคารเพื่อการลงทุนชื่อดัง ‘เจพี มอร์แกน’ (NYSE:JPM) ได้เคยกล่าวหาบิทคอยน์ว่าเป็นการต้มตุ๋นหลอกลวง ก่อนที่สี่ปีต่อมาจะเปิดกองทุนให้นักลงทุนได้เข้ามาลงทุนในบิทคอยน์

อีกหนึ่งคนที่เป็นตำนานของโลกการลงทุนนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวหาบิทคอยน์ว่าเป็น “หนูสกปรกแห่งโลกการลงทุน” เช่นเดียวกันกับเพื่อนสนิทของเขานายชาร์ลี มันเกอร์ ก็กล่าวหาสกุลเงินดิจิทัลว่าเป็น “สิ่งที่น่ารังเกียจและเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ”

ไม่ว่าคุณจะมีความเห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลหรือบิทคอยน์เป็นเช่นไร จะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือวงการนี้กำลังเติบโตขึ้นทุกวัน จากวันที่บิทคอยน์ไม่เคยเป็นที่ยอมรับ มาตอนนี้เรามีสัญญาซื้อขายบิทคอยน์และอีเธอเรียมฟิวเจอร์สบนตลาด CME แล้ว ล่าสุด CME พึ่งประกาศให้มีสัญญาซื้อขายบิทคอยน์ฟิวเจอร์สแบบไมโครเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาถือครองสัญญาบิทคอยน์ฟิวเจอร์สได้มากขึ้น

เหตุการณ์ล่าสุดที่ยิ่งจะทำให้โลกคริปโตฯ เป็นที่ยอมรับมากขึ้นคือการลิสต์หุ้นของแพลตฟอร์ตแลกเปลี่ยน คริปโตฯ ชื่อดัง ‘คอยน์เบส’(NASDAQ:COIN) ขึ้นไปอยู่บนดัชนีแนสแด็ก เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมูลค่าตลาดของคอยน์เบสมีตัวเลขอยู่ที่ $48,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีราคาซื้อขายต่อหุ้นอยู่ที่ $258.37 เชื่อหรือไม่ว่ามูลค่าตลาดที่ $48,000 ของคอยน์เบสนั้นใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้นในการได้มา ในขณะที่แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนรุ่นเก่าอย่าง CME และ ICE ซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ $77,920 ล้านเหรียญสหรัฐและ $63,740 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นใช้เวลาเกือบยี่สิบปีถึงจะได้มา

การนิยามสกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่ายของเหล่าผู้ควบคุมกฎหมาย

โดยปกติแล้ว การที่เหล่าผู้ออกกฎหมายจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาจำเป็นต้องนิยามว่าสิ่งๆ นั้นเป็นอะไรให้ได้ก่อน แต่สิ่งที่เป็นความเชื่อพื้นฐานของสกุลเงินดิจิทัลดันเป็นสิ่งเดียวกันกับความเชื่อพื้นฐานของสหรัฐอเมริกานั่นคือ “อิสรภาพ” การที่จะควบคุมสกุลเงินดิจิทัลสำหรับอเมริกานั้นยากมากเพราะถ้าเข้าไปควบคุมก็เท่ากับจำกัดเสรีภาพและจะกลายเป็นว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้ที่ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง

แต่การเติบโตของโลกไซเบอร์ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกากำลังพยายามทำเต็มที่เพื่อตามโลกให้ทัน ล่าสุดการแฮกท่อส่งน้ำมัน ‘Colonial Pipeline’ ก็ถือว่าเป็นการโจรกรรมในโลกไซเบอร์ แม้จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล แต่การที่มีกลุ่มคนหนึ่งสามารถโจมตีท่อน้ำมันที่คิดเป็นสัดส่วน 45% ของประเทศได้นั้น แสดงให้เห็นว่าเกราะป้องกันโลกไซเบอร์ของสหรัฐอเมริกานั้นยังมีจุดอ่อน 

ลองคิดภาพดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากมีคนหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งสามารถแฮกบัญชีทางการเงินในโลกดิจิทัลนี้ได้ แม้จะเข้าใจดีว่าภาครัฐ (เฉพาะของสหรัฐฯ) พยายามที่จะควบคุมโลกสกุลเงินดิจิทัลโดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากที่จะเข้าไปควบคุมโดยไม่ไปริดรอนสิทธิเสรีภาพในเวลาเดียวกัน

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ภาครัฐกลัวการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลคืออำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ ทุกวันนี้ธนาคารกลางถือเป็นผู้ชี้ขาดว่าควรจัดการกับสภาพคล่องทางการเงินภายในประเทศอย่างไร พวกเขามีเครื่องมือทุดอย่างไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นและลง การเพิ่มหรือลดวงเงินเข้าซื้อนพันธบัตรรัฐบาล แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่ธนาคารกลางตัดสินใจถูกต้อง แต่พวกเขาก็ไม่ยอมให้ประชาชนเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินในระบบด้วยเช่นกัน 

บล็อกเชนคือผู้ที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่เข้ามาในโลกคริปโตเคอเรนซี่จะรู้จักบิทคอยน์ก่อนที่จะรู้จักบล็อกเชน แต่เชื่อหรือไม่ว่าในครั้งแรกที่ผู้สร้างบิทคอยน์สร้างเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้นมา เขาหรือพวกเขาเริ่มสร้างบล็อกเชนก่อนโดยใช้บิทคอยน์เป็นตัวอย่างหนึ่งเพื่แสดงให้เห็นว่าบล็อกเชนสามารถทำอะไรได้บ้าง สำหรับบิทคอยน์ บล็อกเชนคือหัวใจของการทำธุรกรรมที่แสดงข้อมูลการทำธุรกรรมของทุกคนในระบบที่สามารถยอมรับร่วมกันของคนทั้งระบบได้ 

การทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชนนั้นมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่าการใช้บัตรเครดิตมาก ที่สำคัญการทำธุรกรรมด้วยคอมพิวเตอร์นั้นมีความแม่นยำกว่าการใช้คน บล็อกเชนมีความสามารถในการปกปิดข้อมูล ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัย และเมื่อคอมพิวเตอร์ของผู้ที่อยู่ในระบบช่วยกันคำนวณ ก็ยิ่งทำให้การทำธุรกรรมเกิดได้เร็วขึ้น เรียกได้ว่าการมาของบล็อกเชนสามารถตัดตัวกลางออกไปได้โดยสมบูรณ์ 

นอกจากการทำบล็อกเชนมาใช้ในโลกการเงินแล้ว รู้หรือไม่ว่าบล็อกเชนสามารถเอาไปประยุกต์ใช้เข้ากับเรื่องอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่นการเก็บข้อมูลเอกสารเอาไว้ในระบบบล็อกเชนเดียว จะเป็นอย่างไรหากโรงพยาบาลทั่วโลกสามารถแชร์ข้อมูลของคนไข้ให้ระหว่างกันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เข้าโรงพยาบาลที่ไหนก็สามารถเข้ารับความช่วยเหลือได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องเสียเวลารอโรงพยาบาลเช็คข้อมูลเหมือนในอดีต นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ลองคิดดูว่าถ้านำบล็อกเชนไปใช้กับข้อมูลในด้านอื่นๆ จะยิ่งทำให้การใช้ชีวิตของเราง่ายขึ้นแค่ไหน

กลต. สหรัฐฯ ถือเป็นมิตรหรือศัตรูของโลกคริปโตฯ

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตามการเมืองสหรัฐฯ มากนัก มีตัวละครหนึ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้จักนั่นก็คือผู้กุมบังเหียนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) คนปัจจุบันนายแกรี เจนส์เลอร์ ในสมัยรัฐบาลของบารัก โอบามา เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยงานกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ (CFTC) และเป็นผู้ที่อนุญาตให้บิทคอยน์ฟิวเจอร์สสามารถซื้อขายบนตลาด CME ได้ในปี 2017 ไม่ว่าเขาจะเป็นคนเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้คือนายแกรี่ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมหัวโบราณแน่นอน

สิ่งที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของ SEC ตอนนี้คือการอนุญาตให้กองทุน ETF และ ETN สามารถลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัลได้ หากว่า SEC อนุมัติแล้ว การเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลจะยิ่งง่ายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก ยิ่งสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถเข้าถึงได้ง่ายเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าสภาพคล่องของสินทรัพย์นั้นๆ ก็จะมีสูงขึ้นตามไปด้วย

ในการประชุมระหว่างสภาคองเกรสและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง SEC และธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางเคยกล่าวคำหนึ่งเมื่อถูกถามเกี่ยวกับสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลเอาไว้ว่า “ความเร็วในการสร้างดอลลาร์ดิจิทัลไม่สำคัญไปมากกว่าการที่เราจะทำให้มันถูกต้องมากที่สุด”

นอกจากประเทศจีนที่มีความคืบหน้าไปมากเกี่ยวกับการปรับใช้สกุลเงินดิจิทัลหยวน เชื่อว่าตอนนี้โลกก็กำลังจับตาดูฝั่งเสรีนิยมว่าประเทศใดจะเป็นผู้สร้างสกุลเงินดิจิทัลได้สำเร็จก่อน หากว่าเป็นสหรัฐอเมริกา การถือกำเนิดของดอลลาร์ดิจิทัลจะกลายเป็นแม่แบบให้ประเทศอื่นๆ เดิมตาม

โลกคริปโตฯ นั้นหว้างใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งจะควบคุมได้

ถึงแม้ว่าเราจะได้ยินเจเน็ต เยลเลน รมต. กระทรวงการคลังสหรัฐหรือนางคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปออกมาเตือนเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านต้องตระหนักเอาไว้เมื่อเห็นข้อความของพวกเธอในอนาคตอีกก็คือ “พวกเธอเป็นตัวแทนของภาครัฐ และการควบคุมปริมาณเงินในระบบถือเป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่ภาครัฐมี”

ในฐานะตัวแทนของภาครัฐ พวกเธอจำเป็นต้องพูดเพื่อรักษาฐานอำนาจของภาครัฐเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่อาจเถียงได้ว่าพวกเขาเองไม่เคยทำผิดพลาดมาก่อนเลยในเรื่องของการควบคุมการเงิน โลกนี้จะเป็นเช่นไรถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เจอวิกฤตเศรษฐกิจแล้วรัฐบาลหรือธนาคารกลางสามารถปั้มเงินออกมาพยุงเศรษฐกิจได้ตามใจชอบ 

เพื่อไม่ให้ตัวเองสูญเสียอำนาจการควบคุมทางการเงินไป ภาครัฐจึงพยายามใช้กฎหมายเข้าควบคุมตลาดสกุลเงินดิจิทัล ยิ่งเติบโตขึ้นมากเท่าไหร่ ความแรงของการบังคับใช้กฎหมายก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ในปี 2014 ตอนที่แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ‘Mount Gox’ ล้มลง ตอนนั้นก็ทำให้การเติบโตของบิทคอยน์ในเชิงมูลค่าลดลงด้วย และการแฮกท่อส่งน้ำมันของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ รัฐบาลก็อาศัยจังหวะดังกล่าวเตือนให้ประชาชนทราบถึงภัยความรุนแรงในโลกไซเบอร์

ในความเห็นส่วนตัวของผม สามสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าโลกสกุลเงินดิจิทัลเติบโตขึ้นมากกว่าในอดีตมีอยู่สามประการ

1. บล็อกเชนถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากอยู่ในโลกดิจิทัล
2. บริษัทและองค์กรเอกชนเริ่มเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลในฐานะตัวกลางการแลกเปลี่ยนมากขึ้น
3. หน่วยงานของทางภาครัฐยอมรับและเปิดให้ลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

ถึงแม้จะมีคำกล่าวว่า “สองสิ่งในโลกที่ไม่มีจุดสิ้นสุดคือจักรวาลและความโลภของมนุษย์” แต่เชื่อเถอะว่าตลอดชีวิตการลงทุนของผม บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์แรกที่ถ้าหากเราลงทุนไปเพียงหนึ่งดอลลาร์เมื่อสิบเอ็ดปีที่แล้ว สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งล้านเหรียญได้ 

บิทคอยน์และสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดยังคงจะถูกมองว่าเป็นการเก็งกำไรต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีใครสามารถนิยาม ควบคุมหรือออกกฎหมายกำกับได้ ถึงแม้ว่าบล็อกเชนจะถูกเจาะหรือทำลายได้ยากมาก แต่การที่จะทำให้การเงินออกห่างจากมือของเหล่าภาครัฐก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน 

สุดท้ายหากถามผมว่าคริปโตเคอเรนซี่เป็นฟองสบู่หรืออนาคตการเงิน? ผมคงจะตอบว่าเป็นทั้งสอง อยู่ที่คุณว่าจะนิยามมันว่าเป็นอะไร เพราะไม่ว่าคริปโตฯ จะเป็นอนาคตหรือเป็นเรื่องหลอกลวงที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะประเมินอัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนเอาไว้เหมาะสมกับตัวคุณเองมากน้อยแค่ไหน

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย