ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มต้นเข้าสู่เดือนพฤษภาคมมาแล้วสี่วัน แต่กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีก็ยังคงนิ่งอยู่ที่ 1.60% โดยประมาณ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าสาเหตุที่กราฟผลตอบแทนยังไม่ขยับไปไหนอาจเป็นเพราะตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ประกาศไปเมื่อวันจันทร์ยังมีความเคลื่อนไหวที่ไม่มีนัยสำคัญมากพอ ดังนั้นพวกเขาจึงกำลังรอดูการรายงานตัวเลขการจ้างงานฯ และอัตราการว่างงานที่จะเกิดขึ้นภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้
ตัวเลขที่ใช้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตที่ประกาศไปเมื่อวันจันทร์ให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโดย ISM หดตัวลงเหลือ 60.7 จุดซึ่งน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 65.0 จุดและตัวเลขครั้งก่อนในเดือนมีนาคมที่ออกมา 64.7 จุด ในขณะเดียวกันตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก IHS ก็ออกมาอยู่ที่ 60.5 หดตัวลดลงจากตัวเลขในเดือนมีนาคม 60.6 และหดตัวลงเมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ 60.7 จุด
ข่าวนี้ทำให้กราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงจาก 1.63% เป็น 1.58% ในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะสามารถพาตัวเองกลับขึ้นมาปิดเหนือ 1.60% ได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าตามปกติแล้วหากดัชนีภาคการผลิตยังสามารถยืนเหนือ 50 จุดได้ นักวิเคราะห์จะถือว่าเศรษฐกิจขยายตัว แต่การที่ตัวเลข PMI ทั้งสองออกมาขัดแย้งกันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาคอขวดของซัพพลายเชน (เช่นการผลิตชิปคอมพิวเตอร์) ที่กำลังเป็นปัญหาของอเมริกาในปัจจุบัน และเพราะการที่ดัชนี PMI ยังสามารถยืนเหนือ 50 จุดได้ จึงทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อไป
สำหรับนักวิเคราะห์แล้ว การชะลอตัวของดัชนี PMI ภาคการผลิตทำให้พวกเขาหันมาให้ความสนใจกับการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของเดือนเมษายนที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์นี้เป็นพิเศษ พวกเขาจะใช้ตัวเลขการจ้างงานฯ นี้เป็นตัวตัดสินว่าจริงๆ แล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงขยายตัวหรือกำลังเริ่มชะลอตัว
ด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาลโจ ไบเดน เชื่อว่ายังไม่มีใครตั้งคำถามเกี่ยวกับความต้องการในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่าภาคการผลิตอาจมีโอกาสสะดุดหรือชะลอตัวเพราะตัวเลขที่ออกมาก็สะท้อนภาพความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากภาคการผลิตยังเติบโตอยู่ ตัวเลขการจ้างงานอย่างเช่นร้านอาหารหรือโรงพยาบาลก็ควรจะเพิ่มขึ้น แม้จะมีตัวเลขคาดการณ์ออกมาแล้วว่าการจ้างงานในเดือนเมษายนอาจเพิ่มขึ้น 975,000 ตำแหน่ง แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ประเมินว่าอาจทะลุหนึ่งล้านตำแหน่งขึ้นไปหรือมากกว่านั้น
สถานการณ์เกมการเมืองของสหรัฐอเมริกาตอนนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังเริ่มยื่นเรื่องมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจชุดใหม่มูลค่า $4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อสภาคองเกรส มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ถูกแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก $2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจะถูกนำไปใช้กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่วนอีก $1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจะนำไปลงทุนกับระบบการศึกษา การเลี้ยงดูบุตรและครอบครัว นางแนนซี่ เปโลซี่ ผู้นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ขีดเดตไลน์ของมาตรการเยียวยาฉบับนี้เอาไว้ในวันที่ 4 กรกฎาคมปี 2021
พรรคขั้วตรงข้ามอย่างรีพลับลิกันดูเหมือนว่าจะไม่เห็นด้วยกับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนนี้เท่าไหร่ นายมิตต์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาสูงมองว่าเงินจำนวนดังกล่าวที่โจ ไบเดนเสนอมานั้นเยอะเกินไป พวกเขาต้องการให้ปรับลดลงเหลือเพียง $600,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นและเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพียงอย่างเดียว
โจ แมนชิน หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาจากเวสต์ เวอร์จิเนียพรรคเดโมแครต แสดงความเป็นกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านความเห็นของฝั่งรีพลับลิกันได้โดยง่าย วุฒิสภาฝั่งเดโมแครตทั้ง 50 คนจะต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อดึงให้กามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีออกมาเป็นคนตัดสินด้วยคะแนนสุดท้าย
ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร เราจะได้เห็นมาตรการเยียวยาฉบับใหม่มูลค่า $4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือไม่ หรืออาจจะได้เห็นจำนวนที่ถูกหั่นลดลงมากกว่านั้น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดลงทุนก่อนวันที่ 4 กรกฎาคมก็คือเราจะได้ลงทุนภายใต้ธีมคำถามเช่น
“มาตรการเยียวยา $4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐมาเร็วเกินไปหรือไม่? ก่อนหน้านี้ก็พึ่งได้รับเงินเยียวยามูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐมามิใช่หรือ”
“หากมาตรการฯ ฉบับนี้ผ่านจะยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้อัตราเงินเฟ้อที่เติบโตอยู่แล้วเติบโตได้ดียิ่งขึ้นหรือไม่”
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากระทรวงการคลังสหรัฐฯ พึ่งจะประกาศแผนกู้เงินอีก $1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในช่วงสองไตรมาสสุดท้าย (แบบปีบัญชี) ทำให้ยอดรวมการกู้ของกระทรวงการคลังแบบปีบัญชีของปี 2021 มีตัวเลขรวมแล้วอยู่ที่ $2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่างบเยียวยาโควิดเดิมที่กระทรวงการคลังเคยตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรกที่ $95,000 ล้านล้านเหรียญสหรัฐมากถึงห้าเท่า
ข่าวเช่นนี้ยิ่งทำให้ตลาดลงทุนเป็นกังวลกับภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น เริ่มมีรายงานว่าราคาสินค้าต่างๆ ในสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับตัวขึ้นกันแล้วเช่นสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก ฯลฯ แม้ว่ารายได้ของชาวอเมริกันจะมีการปรับขึ้นแล้ว แต่ความต้องการสินค้าต่างๆ ก็ทำให้ราคาสินค้าแต่ละชนิดเริ่มทยอยพากันขึ้นทีละเล็กละน้อย นี่คือสูตรสำเร็จของภาวะเงินเฟ้อตามทฤษฎีโดยแท้ แต่ผู้ที่มีอำนาจควบคุมการเงินกลับยังคงพูดตรงกันว่า “เอาอยู่”