การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของประธานธิบดีโจ ไบเดนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดลงทุนทันทีตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีสามารถวิ่งขึ้นไปยืนเหนือ 1.62% ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ขาขึ้นครั้งนี้วิ่งไปพร้อมกันกับการปรับขึ้นของดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดาวโจนส์ที่สามารถสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้ทั้งคู่ กลายเป็นสถิติขาขึ้นที่ดีที่สุดของทั้งสองดัชนีนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
การที่ผลตอบแทนพันธบัตรฯ ปรับตัวขึ้นเช่นนี้ย่อมหมายความว่านักลงทุนกำลังเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และนำเงินกลับเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น นักลงทุนในตลาดยังคงเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรต้องได้เห็นเงินเฟ้อและธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องแตะเบรกการอุ้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2022 พวกเขามั่นใจว่าเฟดต้องกลับคำพูดของตัวเองอย่างแน่นอน
กราฟด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นไปพร้อมๆ กันกับดัชนีหลักทั้งสามของประเทศ
จากรูปจะเห็นว่าดัชนีแนสแด็ก 100 (เส้นสีแดง) เป็นกราฟที่ปรับตัวขึ้นได้ช้าที่สุด ดัชนีรัสเซล 2000 (เส้นสีเขียว) ได้รับผลกระทบจากความกังวลครั้งนี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับอีกดัชนีทั้งสอง ส่วนเอสแอนด์พีนั้นถือว่ายังอยู่ในระดับที่ทรงตัว สถานการณ์ในตอนนี้เรียกได้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นไปด้วยกันกับความกังวลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ยอมหยุดความร้อนแรงนี้เพราะกลัวไปกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
เมื่อนำดัชนีหลักทั้งสามของอเมริกามาเทียบกันดูจริงๆ แล้วตอนนี้พบว่าแนสแด็กกลายเป็นดัชนีที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด ยิ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนโควิดทำได้ดีมากเท่าไหร่ แนสแด็กก็ยิ่งปรับตัวลดลงมากเท่านั้น แม้จากกราฟในรูปจะเห็นว่าแนสแด็กสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้ แต่ในระยะยาวเรายังคงมองว่ากราฟมีโอกาสปรับตัวลดลงมากกว่า
ถึงกราฟจะสามารถขึ้นมายืนเหนือเส้น neckline ของรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ได้แต่อินดิเคเตอร์ RSI กลับไม่สามารถทำได้ RSI ยังคงติดอยู่ที่บริเวณแนวต้านจากเส้นเทรนด์ไลน์เดิม หากพิจารณาอินดิเคเตอร์ MACD ด้วยแล้วจะเห็นว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นยังไม่สามารถตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวขึ้นไปได้ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าอินดิเคเตอร์จะเข้าข้างฝั่งขาลง แต่สำหรับตัวกราฟเองนั้นกลับยังไม่อาจตัดสินได้ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ การดีดตัวกลับขึ้นมานั้นยังคงวิ่งอยู่ระหว่างเส้นค่าเฉลี่ย 50 และ 100 วัน ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเรามองว่าระยะห่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสาม (50,100 และ 200 วัน) มีความสำคัญ การวิ่งกลับขึ้นไปยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันยังง่ายกว่าการลงไปถึงเส้น 200 วัน ดังนั้นขาขึ้นยังไม่ถือว่าหมดโอกาสเสียทีเดียว
อย่างที่ได้เขียนไปตั้งแต่ต้นบทความแล้วว่ากราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีวิ่งอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และจากการวิเคราะห์ทางเทคนิคคาดว่าในสัปดาห์นี้จะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป
จากรูปในตอนนี้จะเห็นว่าเมื่อกราฟผลตอบแทนฯ สามารถขึ้นมาแตะ 1.6% ได้อีกครั้งก็ทำให้สามารถวิเคราะห์เป็นรูปแบบสามเหลี่ยมที่ค่อนไปในทิศทางขาขึ้น (Ascending Triangle) ได้ ถ้าหากกราฟผลตอบแทนฯ กำลังสร้างทรงสามเหลี่ยมที่เตรียมจะปรับตัวขึ้นต่อ ย่อมหมายความว่ากราฟพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมต้องกำลังสร้างรูปแบบสามเหลี่ยมลู่ลง (Descending Triangle) เพราะทั้งสองตลาดนี้จะวิ่งไปในทิศทางตรงกันข้ามกันเสมอ
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐดีดตัวกลับขึ้นมาเมื่อวันศุกร์หลังจากที่ปรับตัวลงมาสามวันติดต่อกัน นักลงทุนต่างสงสัยว่าการปรับตัวขึ้นมาครั้งนี้จะใช่สัญญาณยืนยันการขึ้นต่อจากจุดต่ำสุดตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมแล้วหรือไม่?
โดยภาพรวมแล้วกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐสามารถหลุดขึ้นมาจากรูปแบบลิ่มลู่ลง (Falling Wedge) ได้ แต่ถึงอย่างนั้นกราฟก็ยังปรับตัวลดลงมาปิดต่ำกว่าเส้น neckline (เส้นประ) จุดที่ต้องสังเกตกับพฤติกรรมราคาในตอนนี้คือราคาปิดของแท่งเทียนเมื่อวันศุกร์ถอยร่นลงมาจากจุดสูงสุด หมายความว่าขาขึ้นโดยรวมยังไม่อาจพูดได้ว่าสามารถคุมตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จ
การวิ่งของกราฟในสัปดาห์นี้จึงอาจเป็นตัวตัดสินว่าเทรนด์ไหนจะได้เป็นฝ่ายครองตลาด หากว่ากราฟสามารถขึ้นยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันได้ โอกาสที่ดอลลาร์จะแข็งค่าต่อเนื่องก็จะยิ่งมีสูงขึ้น แต่หากสามารถวิ่งลงไปต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน ขาขึ้นที่เกิดเมื่อวันศุกร์นั้นก็จะถูกพิจารณาเป็นเพียงการย่อของขาลงเท่านั้น
สินทรัพย์สำรองปลอดภัยอันดับหนึ่งอย่างทองคำปิดติดลบเป็นวันที่สองติดต่อกัน แม้ว่าจะมีข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้ว แต่ขาขึ้นของทองคำกลับยังต้องใช้คำว่า “พยายาม” แทนที่จะเป็นคำว่า “โรยด้วยกลีบกุหลาบ” มานิยาม
ภาพของการวิเคราะห์ทองคำในตอนนี้ถูกแบ่งออกเป็นฝั่งที่เชื่อในแนวโน้มระยะสั้นและระยะยาว ฝั่งที่เชื่อในระยะยาวมีเหตุผลสนับสนุนเมื่อได้เห็นกรอบราคาขาลงที่ยังมีผลมาตั้งแต่จุดสูงสุดตลอดกาลของทองคำและเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่เริ่มหักหัวลงมา แต่ในระยะสั้นตอนนี้มีเหตุผลสนับสนุนคืออินดิเคเตอร์ทั้ง RSI และ MACD ต่างก็อยู่ในจุดต่ำสุดของอินดิเคเตอร์เหมือนกันทั้งคู่
ในขณะที่ทองคำยังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนเป็นขึ้นหรือลงต่อ แต่ “ทองคำดิจิทัล” อย่างบิทคอยน์กลับทะยานขึ้นยืนเหนือ $60,000 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับตัวเองอีกครั้ง
การขึ้นยืนเหนือ $60,000 ของบิทคอยน์ยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะยังไม่แน่ว่าตอนนี้ราคาจะสามารถยืนเหนือระดับราคาดังกล่าวได้อย่างมั่นคงหรือไม่ แม้ว่าอินดิเคเตอร์ทั้ง MACD และ RSI จะส่งสัญญาณบอกว่ายังมีพื้นที่ให้ปรับตัวขึ้นได้อีก แต่แรงส่งที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสามารถทำได้ง่ายกว่าเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
ก่อนปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่ำกว่า $66 ต่อบาร์เรล แสดงให้เห็นว่าในระยะสั้นแล้วขาขึ้นของน้ำมันดิบกำลังอ่อนแรงลง
หากเทียบระหว่างตัวกราฟน้ำมันดิบในตอนนี้กับอินดิเคเตอร์ RSI จะพบว่ากราฟทั้งสองกำลังเกิดรูปแบบ “ไดเวอร์เจนต์ (Divergence)” ขาลง หมายถึงสภาวะที่ราคาจริงปรับตัวขึ้นแต่อินดิเคเตอร์กลับอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จากประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมันดิบที่ผ่านมามีความเป็นไปได้ที่ระยะสั้นราคาน้ำมันอาจวิ่งขึ้นลงอยู่ที่ราคาบริเวณนี้ แต่ในระยะยาว ตลาดน้ำมันดิบยังถือว่าอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
21:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 7.3% ขึ้นเป็น 30.0%
วันจันทร์
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานผลการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA)
วันอังคาร
05:00 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขบรรยากาศความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจาก ZEW: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 71.2 เป็น 74.0
07:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลง 0.1% จาก 5.9%
07:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะลดลง 0.6% จาก 5.3%
วันพุธ
05:00 (ยูโรโซน) รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าแบบปีต่อปีจะคงที่ 0.9%
07:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการอนุญาตก่อนสร้าง: คาดว่าจะลดลงจาก 1.866M เป็น 1.750M
07:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.6% เป็น 0.7%
09:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะลดลงจาก 13.798M เป็น 0.816M
13:00 (สหรัฐฯ) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ: คาดว่าจะคงที่ 0.25%
วันพฤหัสบดี
07:00 (สหราชอาณาจักร) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
07:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 712K เป็น 705K
07:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางฟิลาเดเฟีย: คาดว่าจะคงที่ 23.1
วันศุกร์
05:30 (รัสเซีย) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางรัสเซีย: คาดว่าจะคงที่ 4.25%
07:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -4.1% เป็น -2.8%